เดินหน้าเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องสำหรับ พรรคสร้างอนาคตไทย โดยหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 19 ม.ค. ต่อจากนั้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ แกนนำพรรคอย่างสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และสุพล ฟองงาม ลงพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อพบปะกลุ่มผู้สนับสนุนเครือข่ายพรรคในภาคอีสาน
และล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา 2 แกนนำพรรคคือ อุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลงพื้นที่ย่านถนนเยาวราชที่อยู่ในช่วงจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่่องในช่วงวันตรุษจีน พร้อมกับเปิดตัว อาทิตย์ ชุณหชัชราชัย หรือ ตี้ ว่าที่ผู้สมัคร สส.กทม.เขต 1 ที่โปร์ไฟล์ไม่ธรรมดา ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ ก็คือคนที่จะมาลงสู้กับ กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.เขต 1 พลังประชารัฐ ที่มีฐานเสียงในพื้นที่ปึ้กพอสมควร การที่พรรคสร้างอนาคตไทยจะเข้ามาเจาะพื้นที่ดังกล่าวของพลังประชารัฐ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันก็ยังมี อดีต ส.ส.เขต 1 กทม. 3 สมัย ของประชาธิปัตย์ คือ เจิมมาศ จึงเลิศศิริ รอล้างตา หวังกลับมาทวงคืนเก้าอี้ให้ได้ในสมัยหน้า อีกทั้งพรรคไทยสร้างไทย ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรค ก็ยังส่ง ดร.นิค สุวดี พันธุ์พานิช เลขานุการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี-สายตรง นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) เจ้าของเครือ รพ.ธนบุรี อันโด่งดัง เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แข่งเดือดแน่ๆ
อย่างไรก็ตาม การที่พรรคสร้างอนาคตไทยต้องการปักธงในพื้นที่ กทม. ทำให้สนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.รอบหน้า ที่จะเพิ่มจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 30 เก้าอี้ เป็น 34 เก้าอี้ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น จะมีพรรคสร้างอนาคตไทยลงสนามสู้ศึกเพื่อหวังแชร์เก้าอี้ ส.ส.เขต กทม.รวมถึงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้สนาม กทม.หลังจากนี้ จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่แข่งกันระหว่าง 4 พรรคหลักคือ
"พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-อนาคตใหม่หรือก้าวไกลปัจจุบัน"
แต่เลือกตั้งรอบหน้าจะมีเพิ่มเข้ามาอีกคือ พรรคสร้างอนาคตไทย และก่อนหน้านี้ที่เปิดตัวและแสดงเจตจำนงมาแล้วว่าต้องการส.ส.และคะแนนในพื้นที่ กทม.ก็ยังมี พรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำ - พรรคกล้า ที่ขับเคลื่อนโดยกรณ์ จาติกวนิช รวมถึง พรรคไทยภักดี ภายใต้การนำของหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ชิมลางสนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ฯ ไปแล้ว
รวมถึงยังมี ภูมิใจไทย ของเสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ตอนนี้มี 2 ส.ส.กทม.อดีตอนาคตใหม่เข้ามา คือ โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี และมณฑล โพธิ์ค่าย แม้คนจะมองว่าทั้ง 2 คนเข้ามาได้ เพราะกระแสอนาคตใหม่ตอนปี 2562 แล้วย้ายมาภูมิใจไทยหลังอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องงูเห่า แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาทั้ง 2 คน พอย้ายมาภูมิใจไทยก็ทำพื้นที่อย่างหนัก เพราะได้แรงอัดฉีดจากภูมิใจไทยให้ทั้ง 2 คนเป็นหัวหอกให้ภูมิใจไทยปักธงใน กทม.ให้ได้ในการเลือกตั้งรอบหน้า อีกทั้งภูมิใจไทยก็มีข่าวว่าเสี่ยหนูกำลังดูตัวผู้สมัครอีกหลายคนที่คิดว่าพอจะส่งลงแล้วพอไปช่วยทำแต้มในบัตรลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ได้บ้าง
เท่ากับเลือกตั้งรอบหน้า สนามเลือกตั้ง กทม.จะมีประมาณร่วม 8 พรรคการเมืองหวังผล
คือพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ก้าวไกล-สร้างอนาคตไทย-กล้า-ไทยภักดี-ไทยสร้างไทย และอีกหนึ่งพรรคหวังสอดแทรกคือ ภูมิใจไทย
ขนาดสนามเลือกตั้งยังไม่เปิด แต่ก็เห็นเค้าลางถึงความมันส์ยกร่องของสนามเลือกตั้ง กทม.แล้ว
ส่วนการเดินหน้าขับเคลื่อนพรรคสร้างอนาคตไทยต่อจากนี้ ยังต้องจับตากันต่อไปหลังที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่าจะมี กลุ่มการเมือง อีกหลายกลุ่มกำลังตัดสินใจอาจจะมาร่วมงานการเมืองกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกำแพงเพชร ของวราเทพ รัตนากร, กลุ่มชลบุรี ของสนธยา คุณปลื้ม, กลุ่มอดีต ส.ส.กทม.และอดีต ส.ก.บางส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย เช่น วิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัยของประชาธิปัตย์ รวมถึงพวก ส.ส.ปัจจุบันที่มีปัญหากับคนในพรรคต้นสังกัดและอาจย้ายมา เช่น อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เดิมอาจจะย้ายไปพรรคประชาชาติ แต่ข่าวว่าเกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับคนในพรรคประชาชาติเดิม เลยมีข่าวว่าอาจจะเบนเข็มมาพรรคสร้างอนาคตไทยแทน เป็นต้น
ส่วนที่หลายคนยังสงสัยว่า พรรคสร้างอนาคตไทยและแกนนำพรรคอย่าง ดร.สมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์ รวมถึงแนวทางพรรคที่ประกาศว่าเป็นพรรคการเมืองแบบกลางๆ ไม่ซ้ายสุดขั้ว ไม่ขวาสุดโต่ง อาจขับเคลื่อนได้ยากในยุคที่คนในสังคมยังมีความคิดเห็นทางการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว
อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย มั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวจะตอบโจทย์ความรู้สึกของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเบื่อพรรคการเมืองแบบเก่าๆ เบื่อความขัดแย้งทางการเมือง และต้องการเห็นการเมืองแบบใหม่
"ประชาชนส่วนหนึ่งเบื่อความขัดแย้ง เพราะเราอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างน้อยที่สุดก็ร่วม 16 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการยึดอำนาจจากคณะ คมช.เมื่อปี 2549 มาถึงปัจจุบันปี 2565 ผ่านมา 16 ปี เราจะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่แบ่งประชาชน ที่นิยมชมชอบพรรคการเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้วแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว
พรรคหวังคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่เป็นกลางจริงๆ เบื่อความขัดแย้งแล้ว ผมคิดว่าเราจะได้แนวร่วมจากคนเหล่านี้ ซึ่งคนที่ไม่เอาทั้ง 2 ข้าง ไม่เอาพรรคการเมืองเก่า เปอร์เซ็นต์พบว่ามีเพิ่มขึ้นเรื่อย และต้องมองในมุมดีว่า คนที่อยู่สุดขั้วทั้ง 2 ข้าง เริ่มเบื่อแล้ว คนที่ไปซ้ายสุดก็เริ่มเบื่อแล้ว ที่อาจมองว่าไม่มีโอกาสที่จะชนะเลย หรือคนที่อยู่ขวาสุดก็เช่นกัน อาจมองว่าไม่เห็นโอกาสที่จะชนะเลย คนจากทั้ง 2 กลุ่มก็จะเดินออกจากฟากของตัวเองมาอยู่ตรงกลางมากขึ้น เราหวังให้คนเหล่านั้นเห็นด้วยกับสร้างอนาคตไทย"
แนวทางการเมืองแบบ ไม่ซ้ายสุดขั้ว-ไม่ขวาสุดโต่งแบบพรรคสร้างอนาคตไทย หลังจากนี้จะมีอะไรให้คนร้องว้าว และมีเซอร์ไพรส์อะไรออกมาให้แวดวงการเมืองฮือฮาเป็นระยะได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี