ยื่นตีความปม‘ซื่อสัตย์’ ใช้ศาลรธน.เซฟ‘อิ๊งค์’

อ่านแวบแรกสังคมอาจดูแคลน รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. มอบหมายให้ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำนิยาม “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” คืออะไร

ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแต่สังคม ชาวบ้าน หรือเด็กนักเรียน ย่อมเข้าใจว่า “ซื่อสัตย์” ต่างจาก “ทุจริตคอร์รัปชัน” หรือ “คนดี” กับ “คนไม่ดี” แตกต่างกันอย่างไร แต่ ครม.นี้กลับแยกแยะไม่ออก

แต่หากใครอ่านหมากหลายชั้นคงพอมองออก รัฐบาลต้องการยื่นตีความปม “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” คงไม่ได้แค่ต้องการแค่คำนิยามเท่านั้น แต่คงหวังประโยชน์จากเกมนี้หลายต่อ

เช่น เพื่อความชัดเจน และขอบเขต รองรับการปรับ ครม.ช่วงเดือน เม.ย. หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติที่กำหนดไว้สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.นี้

รวมถึงเป้าหมายหลักที่ นายกฯ อิ๊งค์ และทีมกุนซือตึกไทยฯ หวังใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “รัฐกันชน”

ตามกระแสข่าวโยงไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ได้รับไฟเขียวจาก นายใหญ่-ทักษิณ ชินวัตร ให้คืนเก้าอี้ ครม. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ และความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล

นอกจากนี้ยังมีชื่อ ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยอีกคน แต่คนวงในบอกว่า “เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง” ไม่ขอกลับมาเป็นเป้าโจมตีในตำแหน่งรัฐมนตรี และพอใจกับบทบาท สส.ในวันนี้ โดยส่งไม้ต่อให้ลูกสาวเป็น รมช.มหาดไทยไปแล้ว

เกมนี้เมื่อยื่นไปแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสิน หรือสุดท้ายไม่รับพิจารณา ก็เท่ากับว่าในอนาคตหากปรับ ครม.อิ๊งค์ 2 มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรฐานเก่าในการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยยึด “โมเดล ครม.อิ๊งค์ 1” ที่ผ่านการสแกนยิบ นำโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ

ดังนั้นใครที่มีคุณสมบัติสุ่มเสี่ยง หรือมีมลทินในอดีต ก็จะไม่ได้เข้ามานั่งใน ครม.แบบยาวๆ หรือตลอดชีวิต จึงเท่ากับเป็นการเซฟ และลดแรงปะทะทางการเมืองที่เข้ามากดดัน นายกฯอิ๊งค์

ที่สำคัญ ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงตกม้าตายซ้ำรอย เศรษฐา ทวีสิน เพราะแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ เพราะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาแล้ว

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่รับพิจารณาในเรื่องนี้ สอดรับกับความเห็นทางกฎหมายอย่าง อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในเชิงหลักการโดยไม่ระบุตัวบุคคลว่า เข้าใจว่าในมุมกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสไม่รับพิจารณา มีมากกว่ารับพิจารณา เพราะศาลอาจจะมองว่ายังไม่มีการตั้ง ครม. และปัญหายังไม่เกิด หรือขัดแย้งระหว่างองค์กรให้เกิดขึ้นเสียก่อน และต้องยอมรับว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่ตีความหรือให้คำปรึกษา

เมื่อถามว่า หาก ครม.ถาม ระบุรายคนได้หรือไม่ว่าจะแต่งตั้งคนที่มีปัญหาในอดีตเข้ามาใหม่ได้หรือไม่ นายปริญญาบอกว่า ถามศาลแบบนี้ไม่ได้ ต้องรอให้เกิดปัญหาก่อน ยิ่งไปถามรายบุคคล ศาลคงไม่ตอบ

เช่นเดียวกับ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน อธิบายว่า การโยนหินถามทางในเรื่องคุณสมบัติ รมต. โดยเฉพาะมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเชิงประจักษ์ โดยนำโมเดลของนายเศรษฐาตกเก้าอี้มาถอดบทเรียนของพรรคเพื่อไทย บ่งชี้ได้ว่ามีแนวโน้มสูงจะมีการปรับ ครม.หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แม้บางคนเคยต้องคำพิพากษาในต่างประเทศ ย่อมมีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) ไปด้วย หากนายกรัฐมนตรีฝ่าฝืนเสนอรายชื่อ “งานเข้าแน่นอน” เพราะไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะเขตราชอาณาจักรไทย

นักกฎหมายมหาชนกล่าวต่อว่า หากพิจารณาคำร้องที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนหน้านี้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไม่รับคำร้องของนายไผ่ ลิกค์ สส.พรรคกล้าธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็น สส.พรรคพลังประชารัฐ ที่มีแนวโน้มว่าจะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ติดคุณสมบัติกรณีเคยถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน แต่รอการลงโทษไว้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานกรณีไม่รับคำร้องไว้พิจารณาว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นทางกฎหมาย” ไม่ต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 มาแล้ว

 “การโยนหินถามทางของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร สามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานไม่รับคำร้องไว้พิจารณา” นักกฎหมายมหาชน ฟันธง

ฉะนั้น หากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณาเรื่องนี้จริง ใครที่เคยดูแคลน “นายกฯ อิ๊งค์” ว่าเป็นอนุบาลทางการเมือง คงต้องกลับไปคิดเสียใหม่ เพราะหมากนี้เซียนการเมืองเท่านั้นที่คิดได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขนลุก! 'อุ๊งอิ๊ง' ลั่นกลางที่ประชุมครม.! ถ้าหาต้นเหตุตึกสตง.ถล่มไม่ได้ ประเทศไทยจะอยู่ยาก

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

กระเหี้ยนกระหือรือ! กาสิโน 'ทางลัด' หารายได้ หรือ 'ทางด่วน' สู่หายนะรัฐบาลแพทองธาร

เดินหน้าเต็มสูบสำหรับโครงการ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งรัฐบาลผลักดันให้มีบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย โดยอ้างว่าสัดส่วนของกาสิโนจะถูกจำกัดไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด

ลิ้นพัน! 'ชูศักดิ์' ยันไม่ได้รีบเข็นกาสิโน เผยร่างกฎหมายไม่ได้เน้นการพนัน แต่ตัดบ่อนออกไม่ได้

ที่ทำเนียบรัฐาบล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการเสนอบรรจุ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถ

นายกฯ แจงยิบแก้ปมแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast มาเต็มรูปแบบเดือนกรกฎา.

นายกฯ แถลงแก้ไขปัญหาการเตือนภัยแผ่นดินไหว เผยกรกฎาคมนี้ จะเปิดใช้งานระบบแจ้งเตือนแบบ Cell Broadcast อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงนี้ แอนดรอยด์ 70 ล้านเลขหมายจะใช้ระบบจำลองแจ้งเตือนเป็นการชั่วคราว และ iOS อีก 50 ล้านเลขหมายจะได้รับแจ้งเตือนผ่าน SMS “ดีอี -กสทช.” กำลังเจรจา

'แพทองธาร' เปิดศูนย์บริหารนักลงทุน ยืนยันไทยปลอดภัย คุมเหตุแผ่นดินไหวได้

นายกฯ เปิดศูนย์บริการนักลงทุน TIESC พร้อมดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก มุ่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจแห่งอนาคต ให้ความมั่นใจนักลงทุน ไทยยังคงเป็นประเทศที่ปลอดภัย ควบคุมสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวได้