ชื่อ ‘วิษณุ เครืองาม’ ไม่เคยหายจากการเมืองไทย นั่นอาจเป็นเพราะคุณสมบัติในความเป็น ‘เนติบริกร’ ดังที่มีการตั้งฉายากัน
ล่าสุดชื่อของ ‘วิษณุ’ กลับมาอีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดึงมาเป็น ‘ที่ปรึกษาของนายกฯ’ คอยช่วยสกรีนเรื่องต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ตลอดจนช่วยดูเรื่องข้อต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ครั้งนี้ชื่อของ ‘เนติบริกร’ กลับมา แต่ไม่ได้มีตำแหน่งในทางบริหาร หรือตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล แต่เป็น ‘ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ’ เพื่อปรับถ้อย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายและคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา
สำหรับ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ’ เป็นการแต่งตั้งภายในของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยจะเลือกเอากรรมการกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิบางคนในคณะต่างๆ จากทั้งหมด 14 คณะ มารวมกัน เพื่อดูเรื่องสำคัญโดยเฉพาะ
โดยเรื่องนี้มีการแต่งตั้ง ‘วิษณุ’ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) เป็นประธาน พร้อมกับกรรมการกฤษฎีกาคนอื่นๆ อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) นายธงทอง จันทรางศุ รองประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 (กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา การศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬา) นายไพโรจน์ วายุภาพ กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา
หลักในการเลือกกรรมการกฤษฎีกามาเป็น ‘คณะพิเศษ’ จะเลือกเอาผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมานั่ง
สำหรับ ‘วิษณุ’ ที่ได้นั่งเป็นประธาน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี จะด้วยความบังเอิญ หรือความจงใจที่ ‘วิษณุ’ มาเกี่ยวพันกับเรื่องสำคัญของรัฐบาลอีกครั้ง แต่มันทำให้ได้รับการจับตามองอย่างมาก เพราะจุดเด่นของเนติบริกรรายนี้ที่หลายรัฐบาลเรียกใช้นั่นคือ ‘การทำอย่างไรไม่ให้ผิด’
ขณะที่เรื่อง ‘เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ คือ เมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งธงเอาไว้ว่า ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้
ซึ่งตัวกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาอยู่หลายจุด ดังข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ส่งไปให้ประกอบการพิจารณาของ ครม.ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจนว่า ต้องการผลักดันนโยบายแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก หรือจะเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรที่มุ่งแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย
กฎหมายฉบับนี้ดูมุ่งเน้น ‘กาสิโน’ มากเกินไป เพราะหากจะทำแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) ซึ่งยังมี สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า และอื่นๆ อีก ควรจะเขียนครอบคลุมมากกว่านี้
ที่สำคัญ เกี่ยวข้องกับอีกหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอื่นๆ แต่กลับไม่ได้เขียนครอบคลุมขนาดนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ ให้ช่วยปรับถ้อยคำให้ถูกต้อง และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
กล่าวคือ ช่วยทำให้มันถูกต้อง และทำให้มันไม่ผิด โดยที่จุดมุ่งหมายในการทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ยังอยู่ และเดินหน้าไปได้
โดยรัฐบาลได้ส่ง 2 รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง คือ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ และนายฉัตริน จันทร์หอม เข้ามาคอยอธิบายหลักคิดและแนวทางของรัฐบาลให้คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษฟัง เพื่อให้ปรับถ้อยคำได้ถูกต้องตามที่รัฐบาลต้องการ
และสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล กฤษฎีกาไม่เกี่ยวข้อง เราพยายามจะทำให้กฎหมายครอบคลุม
“เราเป็นเหมือนพ่อครัวที่คอยปรุงใส่วัตถุดิบตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ถ้ามีบางอย่างที่เขาไม่ต้องการ เราก็ทักท้วง แต่ถ้ายืนยันจะเป็นแบบนั้นก็ต้องตามใจลูกค้า”
เมื่อ ‘ธง’ ของรัฐบาลไม่เปลี่ยน คือ เดินหน้า ‘กฤษฎีกา’ จึงมีหน้าที่ปรับถ้อยคำให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มันครอบคลุมและถูกหลักกฎหมาย
และแน่นอนว่า คนที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย และการบริหารราชการ ซ้ำยังตอบโจทย์หลักรัฐศาสตร์ในประเทศนี้มีเพียงไม่กี่คน และคนแรกๆ ที่นึกถึงกันคือ คนชื่อ ‘วิษณุ เครืองาม’
จะจงใจหรือไม่จงใจ แต่มันช่วยสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลได้ อย่างน้อยมันได้ผ่านตา ผ่านมือกฎหมายที่โชกโชนการทำงานให้รัฐบาลมาแล้วหลายชุด รวมถึงรัฐบาลชุดที่แล้วอย่าง ‘วิษณุ’
มันสามารถหยิบเอาไปอ้าง เอาไปสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงการหยิบไปเป็นสัญลักษณ์ ในฐานะคนที่เคยทำงานกับกลุ่มอำนาจเก่ามาก่อน
แต่อย่างไรก็ดี การผ่านมือคณะกรรมกฤษฎีกา คณะพิเศษ ที่มีชื่อของซือแป๋ทางกฎหมายชื่อดังหลายคน ไม่ได้การันตีว่า ทุกอย่างจะราบรื่น ง่ายดาย เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะมันยังมีปัจจัยอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นตัวตัดสิน โดยเฉพาะ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ที่จำเป็นต้องอาศัยเสียงในสภาล่างและสภาสูง
อีกประการคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่หน่วยงานให้คำปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาล ความเห็นหรือข้อสังเกต ไม่ได้เป็นที่สุดทางกฎหมาย หลายๆ ครั้ง หลายๆ เรื่อง ไม่สามารถช่วยให้รัฐบาลรอดพ้นเมื่อไปต้องถึงชั้นศาล และองค์กรอิสระ
ที่สำคัญ หลายเรื่องที่ ‘วิษณุ’ มาช่วย มาดู ก็ไม่ได้การันตีว่า จะชนะ หรือถูกต้องเสมอไป เฉกเช่นกรณีของ ‘เศรษฐา’
แต่ก่อนอื่น ต้องจับตาดูก่อนว่า ร่างกฎหมายที่ถูกปรับถ้อยคำแล้วจะออกมาหน้าตาอย่างไร และรัฐบาลจะพลิกแพลงจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ปรับถ้อยคำแล้วด้วยหรือไม่
กำหนด 50 วัน ที่รัฐบาลเดดไลน์ไว้ อีกไม่นานคงได้เห็น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อิ๊งค์ฟุ้งเยือนจีน ‘ครม.สัญจร’คึก ชงโครงการพรึ่บ
“อิ๊งค์” จ้อผ่านทีวี ฟุ้งจีนพร้อมลงทุนแลนด์บริดจ์ บอกรถไฟความเร็วสูงสำเร็จจะส่งทุเรียนหมอนทองไปให้
หลิวจงอี้รับเหยื่อคอลฯ โรมหวั่นไทยซูเอี๋ยBGF
“หลิว จงอี้" ลุยแม่สอดอีกรอบ เตรียมนำเครื่องบินจากจีนบินตรงรับเหยื่อกลับประเทศ
รอดยากป.ป.ช.จ่อฟัน อดีต44สส.พรรคส้ม แต่อาจพ้นผิดที่ศาลฎีกา!
ศึกซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนมีนาคม ที่มีพรรคประชาชน เป็นหัวหอกหลักของฝ่ายค้านในการนำทัพ ไล่บดขยี้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
‘อิ๊งค์’ คุยผ่านจอ โชว์ผลงานเยือนจีน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“อิ๊งค์” ออกรายการ “โอกาสไทยกับนายกฯแพทองธาร” ตอนพิเศษ สรุปผลการเยือนจีน ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะลดลงอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งข้อมูลแลนด์บริดจ์เพิ่มเติมให้ เผย เจอกันอีกเทปต้นเดือนต้น มี.ค.
'เพื่อไทยวิธี'ตลบตะแลงแก้'รธน.' แอบหลังสว.-ทำสภาล่ม-ยื่นศาล
ก่อนหน้านี้ไม่เพียงแค่พรรคประชาชน (ปชน.) จะมุ่งมั่นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเท่านั้น ยังมีพรรคเพื่อไทยที่มีความขึงขังไม่แพ้กัน โดยยื่นร่างแก้ไขประกบเว้นการแก้หมวด 1 และหมวด 2
‘อิ๊งค์’ปลื้มซีลชายแดน
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะถกฝ่ายมั่นคง-ผู้นำเหล่าทัพ ขอบคุณร่วมแก้ปัญหาทุกมิติ