การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
โดยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นายทักษิณ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย ได้ขึ้นปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย เพื่อสนับสนุน สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ทำให้เวทีหาเสียงครั้งนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรง ไม่ใช่เพียงการปรากฏตัวของอดีตนายกฯ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเนื้อหาของการปราศรัยที่เต็มไปด้วยการกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลกลาง
เช่น การแจกเงินผู้สูงอายุ 10,000 บาท, การลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย, การแก้ไขปัญหายาเสพติดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหลังจากการปราศรัยดังกล่าวจบลง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี และบุตรสาวทักษิณ ได้ประกาศแจกเงิน 10,000 บาทให้ผู้สูงอายุ ในวันที่ 29 ม.ค.2568 ซึ่งเป็น 3 วันก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.2568
คำถามที่เกิดขึ้นคือ นี่คือการใช้ นโยบายรัฐ เพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งและหลักวินัยการเงินการคลังหรือเปล่า เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งทางการเมืองโดยใช้ทรัพยากรของรัฐหรือไม่?
ความเชื่อมโยงระหว่าง "นโยบายรัฐ" และการหาเสียง การใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง การกล่าวถึงนโยบายแจกเงินและลดค่าไฟฟ้าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น โดยบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองอย่างนายทักษิณ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า การใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมืองอาจไม่เป็นธรรม
เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า หากไม่เลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อาจไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว โดยความได้เปรียบทางการเมือง พรรคอื่น หรือกลุ่มอื่นไม่มีอำนาจในการประกาศนโยบายลักษณะเดียวกัน การกล่าวถึงโครงการที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ นโยบายบางประการยังไม่ผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการ อาจเข้าข่ายให้สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจการเลือกตั้ง
ในส่วนของการวิเคราะห์ทางกฎหมาย คงหนีไม่พ้นว่าการหาเสียงโดยใช้นโยบายของรัฐบาลขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ โดยในการพิจารณาเรื่องนี้จำเป็นต้องอ้างอิง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของรัฐและการให้สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจประชาชนอย่างชัดเจน
มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการใดๆ อันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือ เตรียมการที่จะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และ (5) ระบุว่าการหลอกลวงบังคับขู่เข็ญใช้อิทธิพลทุกคำใส่ร้ายความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมผู้สมัคร
การปราศรัยที่มีการสัญญาว่าจะให้ เช่น จะปรับลดค่าไฟฟ้า หรือการแจกเงิน 10,000 บาท ในช่วง 3 วันก่อนวันเลือกตั้ง อบจ. การประกาศในช่วงหาเสียง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการเลือกพรรคเพื่อไทยจะได้รับเงินทันที อาจถูกมองว่าเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเสียง ซึ่งอาจขัดต่อมาตรานี้
นอกจากนี้อาจมองได้อีกว่า ขัดต่อต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 หรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดแนวทางการใช้เงินงบประมาณอย่างรัดกุม ในมาตรา 9 วรรคสาม ระบุว่า "คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว"
มาตรา 49 ระบุว่า การก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประเทศและหน่วยงานของรัฐ โดยต้องกระทำด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงความคุ้มค่าความสามารถในการชำระหนี้
ดังนั้นการประกาศว่าจะแจกเงินหมื่นของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง อบจ.ก็อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายนี้
ในกรณีนี้ผู้คุมกติกาอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกมาแอ็กชันเรื่องนี้อย่างไร โดย "อิทธิพร บุญประคอง" ประธาน กกต.ได้ระบุว่า การปราศรัยของ "ทักษิณ" และการกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.นั้นเป็น "เรื่องก้ำกึ่ง" หมายถึง การกระทำดังกล่าวยังไม่สามารถชี้ชัดได้ในทันทีว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ โดยต้องมีการพิจารณาบริบทและหลักฐานเชิงลึก อย่างละเอียดถี่ถ้วน
อีกทั้งคำว่า "ก้ำกึ่ง" ในบริบทนี้ หมายถึงการกระทำที่อยู่ในพื้นที่เทาของกฎหมาย ซึ่งอาจมีการตีความได้หลายแง่มุม โดยขึ้นอยู่กับหลักฐาน ข้อเท็จจริง และเจตนาในการกระทำ เมื่อมีข้อสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง กกต.จะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็นขั้นตอนสำคัญดังนี้
บุคคลหรือพรรคการเมืองคู่แข่งสามารถร้องเรียนต่อ กกต.ได้ และ กกต.สามารถดำเนินการตรวจสอบได้เอง หากพบข้อสงสัยในสื่อหรือจากการติดตามสถานการณ์
หลังจากนั้นถ้ามีการรับเรื่อง จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทำการเก็บรวบรวม หลักฐาน เช่น วิดีโอปราศรัย เนื้อหาการปราศรัย ข้อมูลการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล ความเชื่อมโยงระหว่างคำพูดของ "ทักษิณ" กับการขานรับของรัฐบาล
อีกทั้งจะต้องมีการเรียกพยานทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจง รวมถึงจะต้องตรวจสอบด้วยว่าข้อมูลทั้งหมดเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น หรือกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดจะต้องใช้ระยะเวลาสักพัก
กรณีของ "ทักษิณ" ที่กล่าวถึงนโยบายรัฐในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นกรณีที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมและความโปร่งใสในการเลือกตั้งไทย การใช้ทรัพยากรของรัฐในการหาเสียง ถือเป็นการเอาเปรียบคู่แข่งหรือไม่ การแจกเงินใกล้วันเลือกตั้ง ขัดต่อหลักกฎหมายเลือกตั้งหรือเปล่า เป็นการช่วยเหลือประชาชน หรือเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมือง
ประชาชนกำลังรอคำตอบจาก กกต.และการวินิจฉัยของกระบวนการยุติธรรมอย่างใกล้ชิด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'จตุพร' ฟาด 'ทักษิณ' สทร.หลอกเสื้อแดงเป็นป้อมปราการ ปู้ยี่ปู้ยำหาประโยชน์ เชื่อละครลวงโลกจวนจบ
'จตุพร' ฟาด 'ทักษิณ' สทร.พูดมากอยากดันเพื่อไทยยิ่งใหญ่เท่า ทรท. ย้อนจะถูกยึดอำนาจปิดฉาก ปชต.อีก ชี้สังคมครหา พิรุธแจกเงินหมื่นหวังคะแนนเสียง จวกปากไม่มีหูรูดพูดเหยียดอัตลักษณ์คนแอฟริกา หลอกเสื้อแดงเป็นป้อมปราการทำปู้ยี่ปู้ยำหาประโยชน์ให้ทุนพลังงาน ลั่นโรงละครลวงโลกจวนจบ
'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้
นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า
'นิพิฏฐ์' ท้าเปิดถ้วยให้แทงคดี 'ทักษิณ' ฟ้องหมิ่น ลั่น! ป่วยทิพย์ หรือ ป่วยจริง ต้องจบ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าป่วยทิพย์ หรือ ป่วยจริง ต้องจบ!!
คาดการณ์ดวงชะตาบุคคลสำคัญ 'ลุงตู่' เสียอะไรได้กลับมา 'ทักษิณ' ทุกข์ระทม 'อุ๊งอิ๊ง' ถูกบีบเดินทางแคบ
.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี หลังจากผ่านปรากฎการณ์ต้องคลาดคลาพิจารณาให้เสียดายคือหลังเลือกตั้ง14พฤษภาคม2566ลาออกจากทุกตำแ
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
ต้องอ่าน! แก้วสรรออกบทความ Episode 2 : รวยโดยมิชอบ
นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)