'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ และส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะฟังดูเป็นนโยบายที่เต็มไปด้วยความหวัง แต่กระแสสังคมกลับเต็มไปด้วยความกังวลว่า ระเบียบนี้อาจกลายเป็นเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางกลุ่ม เช่น บุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีอิทธิพลทางการเมือง

ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางคือ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี ในคดีโครงการรับจำนำข้าว หลายคนตั้งคำถามว่า ระเบียบนี้อาจเปิดช่องให้เธอกลับมารับโทษในลักษณะที่ไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ และหากเป็นเช่นนั้นจริง

จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของไทยอย่างไร?

แม้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะยืนยัน "ยิ่งลักษณ์" ไม่เข้าเกณฑ์การคุมขังนอกเรือนจำ เพราะมีโทษเกิน 5 ปี โดยผู้ที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีโทษไม่เกิน 4 ปี กระนั้นหลายคนก็ยังไม่วางใจ หลายคนก็ยังไม่ไว้ใจ

"ฤทธิ์เดช" ขนาดชั้น 14 ยังมีมาแล้ว!!!

ย้อนมาดูระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำไทย ปัจจุบันเรือนจำไทยรองรับผู้ต้องขังเกินความจุหลายเท่าตัว ส่งผลให้ผู้ต้องขังต้องอาศัยอยู่ในสภาพแออัด ขาดสุขอนามัย และขาดโอกาสในการฟื้นฟูพฤติกรรม

วัตถุประสงค์หลักของระเบียบนี้ ได้แก่ ลดความแออัดในเรือนจำ โดยย้ายผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปยังสถานที่คุมขังอื่น เช่น บ้านพัก สถานศึกษา หรือสถานพยาบาล สนับสนุนการฟื้นฟูพฤติกรรม ด้วยการให้ผู้ต้องขังสามารถใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับสังคม ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ในการดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกรณีของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

แม้ระเบียบนี้จะมีเป้าหมายที่ดูเหมาะสม แต่กระบวนการพิจารณาผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิ์กลับถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความโปร่งใสและความยุติธรรม เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการที่พิจารณาผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธิ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม แต่ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือสื่อมวลชนเข้าร่วม ทำให้เกิดความกังวลว่า การพิจารณาอาจขาดความเป็นกลางและโปร่งใส

การขาดกลไกการตรวจสอบจากภายนอก ในปัจจุบันการตัดสินใจอยู่ภายใต้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ซึ่งอาจนำไปสู่ความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียงหรือมีฐานะทางสังคม

นอกจากนี้ประเด็นที่ทำให้ระเบียบนี้กลายเป็นดรามาคือ ความเป็นไปได้ที่ "ยิ่งลักษณ์" จะได้รับสิทธิ์คุมขังนอกเรือนจำ หากเธอกลับมารับโทษในประเทศไทย หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ระเบียบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเปิดช่องให้เธอหลีกเลี่ยงการจำคุกในเรือนจำหรือไม่

หากพิจารณาจากเงื่อนไขของระเบียบ "ยิ่งลักษณ์" อาจยังไม่เข้าเกณฑ์ผู้สูงอายุ หรือยังไม่ทราบว่าจะมีอาการป่วยรุนแรงด้วยโรคอะไร อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่าทางกรมราชทัณฑ์จะออกหลักเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมที่อาจจะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ให้ได้เข้าเงื่อนไขนี้ "โดยคดีที่ถูกตัดสินเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางเศรษฐกิจระดับชาติ ซึ่งอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มคดีร้ายแรงที่ไม่ควรได้รับสิทธิ์นี้

หาก "ยิ่งลักษณ์" ได้รับสิทธิ์คุมขังนอกเรือนจำ สังคมอาจมองว่าเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน และตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทย

สุดท้ายแล้วอาจจะนำไปสู่การทำให้เกิดกระแสสังคมที่แตกแยก ฝ่ายที่สนับสนุน "ยิ่งลักษณ์" อาจมองว่า การคุมขังนอกเรือนจำเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากเธอไม่ได้กระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรงหรือคดีที่มีความรุนแรงทางกายภาพ แต่ฝ่ายที่คัดค้านอาจมองว่า การให้สิทธิ์นี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องเข้าคุกเหมือนพี่ชายตัวเองที่ชื่อว่า ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ แล้วยิ่งเกิดในยุครัฐบาลเพื่อไทยด้วย จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้งนี้ ซึ่งอาจขัดต่อหลักการยุติธรรม

โดยข้อเสนอเพื่อสร้างความโปร่งใส เพิ่มตัวแทนจากภาคประชาชน การเชิญตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย หรือสื่อมวลชนเข้าร่วมในคณะกรรมการ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณา เปิดเผยกระบวนการพิจารณา การจัดทำรายงานเกี่ยวกับเกณฑ์การพิจารณาและผลการตัดสินใจ จะช่วยลดข้อครหาและสร้างความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรม

กำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส ระบุเกณฑ์การพิจารณา เช่น สุขภาพ, อายุ, พฤติกรรมระหว่างคุมขัง และประเภทของคดีที่ไม่สามารถรับสิทธิ์ได้อย่างละเอียด และจัดตั้งกลไกอุทธรณ์ ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับสิทธิ์ควรมีช่องทางในการอุทธรณ์ หรือร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณา

ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำเป็นความพยายามที่ดีในการปรับปรุงระบบราชทัณฑ์ แต่ความสำเร็จของระเบียบนี้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการที่โปร่งใสและยุติธรรม หากกระบวนการพิจารณาถูกมองว่าเลือกปฏิบัติหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีชื่อเสียง เช่น "ยิ่งลักษณ์" ระเบียบนี้อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่สร้างความแตกแยกในสังคม

ในทางกลับกัน หากกรมราชทัณฑ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าระเบียบนี้สร้างประโยชน์แก่ผู้ต้องขังทุกคนอย่างเท่าเทียม ก็จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมและเป็นก้าวสำคัญในการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ของไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตึกถล่ม-ภาพลักษณ์ติดลบ “สตง.”จำเลยสังคม รัฐบาลไล่บี้-คตง.รอเคลียร์

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สร้างผลกระทบในวงกว้างไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญหายจำนวนมาก

ควันหลงซักฟอก 'อิ๊งค์' เสี่ยงขัดจริยธรรม ‘พรรคส้ม’ รุกฆาตหรือรอฮั้ว ‘พรรคแดง’

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตญัตติในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยคะแนนเสียงไว้วางใจ 319 ต่อ 162 เสียง

ยธ. พร้อมเยียวยาผู้บาดเจ็บ-ดูแลครอบครัวเหยื่อแผ่นดินไหว

กระทรวงยุติธรรม พร้อมระดมทีมจิตวิทยาเยียวยาผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหว และดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการเยียวยาแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายไทยที่สามารถให้การช่วยเหลือได้

'รมว.ยธ.' ติง 'ประธานวุฒิ' ไม่ควรเซ็นคำร้องศาลรธน.เหตุมีชื่อในโพยฮั้วเลือกสว.

'รมว.ยธ.'ไม่กังวล ศาลรธน.รับวินิจฉัยฝ่าฝืนจริยธรรม แทรกแซงรับคดีฮั้วเลือกสว.ติง 'ประธานวุฒิสภา' ไม่ควรเซ็นคำร้อง เหตุมีชื่อในโพย เผยทำหนังสือขอชื่อผู้ร้องทั้งหมดเพื่อตรวจสอบ ก่อนทำคำชี้แจงส่งศาล ชี้หลายข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนเหมือนวินิจฉัยแทน

แบ่งเค้ก“กาสิโน”ลงตัว เร่งเชื้อไฟ-ท้าทายปชช.

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....หรือร่างกฎหมายกาสิโน เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา