การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ก็ดูอย่างปี 2567 ที่ผ่านไป ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าอดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดที่แล้วจะเห็นประเด็นว่า การที่เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ นำชื่อพิชิต ชื่นบาน อดีตทนายถุงขนมสองล้านบาท เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี มีความเสี่ยงผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ ที่ทำให้หลุดจากตำแหน่งนายกฯ ได้ จนเข้าชื่อกันส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย จากนั้นอีกไม่นาน เศรษฐาก็หลุดจากนายกฯ เมื่อ 14 ส.ค.2567 โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะหลุดจากนายกฯ ภายในปีที่แล้ว
เรื่องแบบนี้คือธรรมชาติของการเมืองไทย ที่แต่ละซีนมีเรื่องให้พลิกผัน จับทางได้ยาก
สำหรับ การเมืองไทยปี 2568 มีประเด็นร้อนแรง-ความต่อเนื่องของข่าวสารหลายเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในปฏิทินการเมืองประจำปีนี้ และบางเรื่องก็ให้จับตาว่าอาจจะได้ข้อสรุปหรือมีจุดพลิกแบบเห็นหน้าเห็นหลังในปีนี้ โดยฉากหลักๆ ก็มีเช่น การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 47 จังหวัด ที่จะเลือกกันในวันที่ 1 ก.พ.นี้
ที่เปิดมาต้นปีเริ่มชัดเลยว่าหลายจังหวัดการแข่งขันร้อนแรง-ดุเดือด โดยบางจังหวัดเป็นการสู้กันระหว่าง บ้านใหญ่ตระกูลการเมืองประจำจังหวัด ที่สู้กันเองระหว่างตระกูลการเมือง
และบางจังหวัดก็เป็นการสู้กันระหว่าง บ้านใหญ่กับบ้านใหม่-ที่เริ่มมีบทบาทในจังหวัด เพราะเริ่มสร้างฐานการเมืองไว้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อหวังขึ้นมาเป็นบ้านใหญ่ประจำจังหวัด แทนบ้านใหญ่ที่เริ่มโรยราไปตามสภาพ รวมถึงบางจังหวัดพบว่าเป็นการสู้กันระหว่างบ้านใหญ่กับผู้สมัครของบางพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาชน-พรรคส้ม ที่ชูธงการสร้างการเมืองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ เน้นการขายนโยบายพัฒนาพื้นที่ จนทำให้ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคประชาชนหลายจังหวัดกลายเป็นคู่ต่อสู้หลักของบ้านใหญ่ไปแล้ว
ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองบางพรรคก็ใช้วิธีเปิดตัวส่งคนลงสมัครอย่างเป็นทางการไปเลย ซึ่งหลักๆ ก็มี พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน แม้แต่บางพรรคที่หลายคนไม่รู้ เช่น ชาติไทยพัฒนา ก็พบว่าส่งคนลงสมัครนายก อบจ.ในนามพรรคชาติไทยพัฒนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานเสียงสำคัญของพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อสู้กับอดีตนายก อบจ.สุพรรณบุรีหลายสมัย
ที่น่าสนใจ บางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรครัฐบาล แม้จะไม่ได้ส่งคนลงสมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่แกนนำพรรค-สส.พรรค ก็ไปช่วยหาเสียงให้ เพราะบางคนก็เป็นเครือญาติ เช่น พรรคประชาชาติ ที่มีฐานเสียงหลักที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นที่รู้กันว่าสนับสนุน-คอยแบ็กอัปผู้สมัครนายก อบจ.ในพื้นที่อยู่ เช่น ที่ยะลา ฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคประชาชาติ และวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงทำให้ต้องหนุนหลัง มุขตาร์ มะทา อดีตนายก อบจ.ยะลาหลายสมัย น้องชายประธานรัฐสภา ที่รอบนี้ก็ลงสมัครอีกครั้งหนึ่ง หรืออย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่ภาคใต้หลายจังหวัด แม้จะไม่ได้ส่งคนลงอย่างเป็นทางการ แต่คนในพรรค-สส.ของพรรค ก็แบ็กอัปผู้สมัครนายก อบจ.บางจังหวัด เช่น ป้าโส-โสภา กาญจนะ อดีต สส.สุราษฎร์ธานี จากบ้านใหญ่ตระกูลกาญจนะ ซึ่งตอนนี้ก็มี สส.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นคนในครอบครัวสองคน จึงเป็นธรรมดาที่ทำให้คนของรวมไทยสร้างชาติก็ต้องหนุนหลังป้าโสให้ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้หลักๆ ในสนามนายก อบจ. 47 จังหวัดรอบนี้ จะเป็นการสู้กันของสามขั้วสามสีคือ แดง-เพื่อไทย ส้ม-ประชาชน และน้ำเงิน-ภูมิใจไทย ซึ่งแม้ภูมิใจไทยจะไม่ได้ส่งคนลงสมัครอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าผู้สมัครหลายจังหวัดเป็นคนในเครือข่ายสีน้ำเงิน เช่น ศรีสะเกษ-บุรีรัมย์-บึงกาฬ-นครพนม-เชียงราย เป็นต้น
สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ส่งคนลงสมัครทั้งสิ้น 16 จังหวัด แยกเป็นลงในนามพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ 14 จังหวัด และลงในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีก 2 จังหวัด
มีการประเมินทางการเมืองว่า มีความเป็นไปได้ที่เพื่อไทย จากที่ส่ง 16 จังหวัดอย่างต่ำ ก็อาจได้สักระดับไม่ต่ำกว่า 10 ที่นั่ง แต่ถ้าไปได้ถึงระดับ 12-14 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนจะถึงขั้นกวาดเรียบ 16 จังหวัด ถามว่ามีโอกาสหรือไม่ ก็มีโอกาส แต่น่าจะยากพอสมควร
หากทักษิณ-เพื่อไทยทำได้ตามเป้า มันก็คงเป็นแรงส่ง-กำลังใจทางการเมืองให้กับทักษิณไม่น้อย หลังก่อนหน้านี้ก็กำชัยชนะมาสองนัดติดทั้งสนามนายก อบจ.อุดรธานีและอุบลราชธานี ซึ่งหากเพื่อไทยทำได้ตามเป้า ก็จะทำให้ทักษิณ-เพื่อไทยได้ใช้ฐานการเมืองในจังหวัดที่ตัวเองชนะนายก อบจ.ไปสร้างคะแนนเสียง-กระแสในพื้นที่ เพื่อต่อยอดไปถึงการเลือกตั้ง สส.รอบหน้า จนทำให้เพื่อไทยกลับมาชนะเลือกตั้ง และแพทองธาร ลูกสาว ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกหนึ่งสมัยหลังเลือกตั้งรอบหน้านั่นเอง
ส่วนการเมืองเรื่องอื่นๆ ในปีนี้ ก็มีอีกหลายเรื่องน่าติดตาม เช่น ความเป็นไปได้ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลับไทย
โดยเฉพาะในช่วงก่อนสงกรานต์เดือนเมษายน ที่ทักษิณ พี่ชายเคยลั่นวาจาไว้ว่าจะทำให้น้องสาวได้กลับมาเล่นน้ำสงกรานต์ที่บ้านเกิดเชียงใหม่ปีนี้ให้ได้
จังหวะสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ คาดว่าในเดือนมกราคมนี้จะมีการประกาศใช้ ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง การกําหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังฯ ซึ่งการคุมขังนอกเรือนจำนั้น นักโทษที่จะได้สิทธิ์ดังกล่าวต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด มีคำพิพากษาแล้ว ต้องโทษจำคุกครั้งแรกและโทษไม่เกิน 4 ปี
แม้ว่ายิ่งลักษณ์ นักโทษหนีคดีจำนำข้าว จะถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 5 ปีในคดีจำนำข้าว ซึ่งถือว่าเกินหลักเกณฑ์ อีกทั้งยิ่งลักษณ์ยังไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หลายคนเลยมองว่ายิ่งลักษณ์ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากประกาศดังกล่าว
กระนั้นต้องไม่ลืมว่า หากยิ่งลักษณ์ยอมกลับมารับโทษแล้วทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ ก็ไม่แน่ สุดท้ายยิ่งลักษณ์จะเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว
เพียงแต่คำถามก็คือ ยิ่งลักษณ์จะกลับมาแล้วเดินตามทักษิณโมเดล คือไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว จะแกล้งป่วยไปนอนโรงพยาบาลก่อนในช่วงทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษ
ทางรัฐบาลเพื่อไทย-ทักษิณ จะยอมให้ยิ่งลักษณ์ทำแบบนั้นหรือไม่?
เพราะรัฐบาลแพทองธาร ที่เป็นหลานสาวยิ่งลักษณ์ ก็อาจเสี่ยงทางการเมือง หากกระแสประชาชนไม่พอใจกับเรื่องนี้มีสูง เพราะคนอาจคิดว่าแค่ทักษิณเป็นนักโทษเทวดาคนเดียว คนยังพอรับได้ แต่หากจะให้ยิ่งลักษณ์เดินตามรอยทักษิณอีกคน ประชาชนอาจเริ่มหมดความอดทน ถ้ากระบวนการยุติธรรมประเทศไทยขาดความศักดิ์สิทธิ์-มีการเลือกปฏิบัติให้กับคนตระกูลชินวัตรได้อยู่เหนือกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
จึงต้องดูว่า ทักษิณ-แพทองธาร-เพื่อไทย จะกล้าเสี่ยงหรือไม่
ซึ่งหากกล้าเสี่ยงและมั่นใจในดีลต่างๆ ว่าได้ปูทางให้ยิ่งลักษณ์ไว้หมดแล้ว ก็ไม่แน่ เราอาจได้เห็นยิ่งลักษณ์กลับมาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้!
สำหรับประเด็นการเมืองอื่นๆ ในปีนี้ที่น่าสนใจและคงเกิดขึ้นแน่ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ศึกซักฟอก-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้าน คือพรรคประชาชน โหมโรงมาแล้วว่ายื่นแน่และจัดหนักเหมือนสมัยเป็นพรรคก้าวไกล รับรองแฟนๆ ไม่ผิดหวัง
และหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นลง คาดว่า ทักษิณคงส่งสัญญาณให้แพทองธารปรับ ครม.ในช่วงเดือนพฤษภาคม
ซึ่งถึงช่วงดังกล่าว ก็เท่ากับรัฐบาลแพทองธารทำงานมาร่วม 8 เดือนแล้ว มันก็เข้าล็อกได้จังหวะที่จะปรับ ครม.หลังเสร็จศึกซักฟอก
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ให้จับตา อาจจะมีการปรับ ครม.แบบหลายคนคาดไม่ถึง เช่น
การปรับพรรครวมไทยสร้างชาติออกจากรัฐบาล ตามรอยพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นการเอาพรรคเครือข่าย 3 ป.ออกไปจากรัฐบาล และได้กระทรวงที่พรรครวมไทยสร้างชาติดูแล เช่น กระทรวงพลังงาน กลับมาอยู่ในมือเพื่อไทยและทักษิณ เป็นต้น
กระนั้น หากทักษิณเคลียร์ใจกับคนในรวมไทยสร้างชาติได้ทั้งคนหน้าฉากและหลังฉาก ไม่แน่เช่นกัน รวมไทยสร้างชาติอาจได้ต่อวีซ่า ไม่โดนเขี่ยออกจากรัฐบาล
ซีนนี้มันจะชัดขึ้นเมื่อถึงช่วงใกล้ๆ โดยเฉพาะหลังศึกซักฟอก ที่ยังไงเสีย ปีนี้มีปรับ ครม.แน่นอน
ทั้งหมดคือฉากการเมืองปี 2568 แบบกว้างๆ ที่นำมาฉายให้เห็นเป็นหนังตัวอย่าง ก่อนถึงฉากจริงที่ได้เห็นกันแน่ในปีนี้ ส่วนเมื่อเห็นแล้วจะมีผลต่อเนื่องทางการเมืองแต่ละบริบทอย่างไร ของแบบนี้ต้องรอติดตาม แต่บอกได้คำเดียว ทุกซีนการเมืองข้างต้นมีฉากไคลแมกซ์ให้เห็น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
'จักรภพ' ได้ฤกษ์ 7 ก.พ. ควงคนรักจดทะเบียนสมรส เถ้าแก่ 'ทักษิณ' สักขีพยาน
'จักรภพ' ได้ฤกษ์! ควงคนรักจดทะเบียนสมรส 7 ก.พ. เขตบางรัก เถ้าแก่ 'ทักษิณ' ลงนามเป็นสักขีพยาน ลั่นรู้สึกชื่นใจเสียงตอบรับล้นหลาม
'สว.อังคณา' ตบปาก 'พ่อนายกฯ' พล่อยเหยียดผิว บี้ขอโทษก่อนบานปลาย
'อังคณา' จี้ 'ทักษิณ' ขอโทษ หลังปราศรัยเหยียดผิว ช่วยหาเสียงเป็นสิทธิ แต่ไม่ควรพูดด้อยค่า-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เปิดคิวเดินสายรัวๆ ‘ทักษิณ-พท.’ ลุยหาเสียงทั่วปท. หวังยึดเก้าอี้ นายกอบจ.ครบ 16 จว.
ทักษิณ-พท.โหมหนัก ลุยหาเสียงทั่วประเทศ ยึดเก้าอี้นายกฯอบจ. ครบ 16 จังหวัด เปิดคิวเดินสายรัวๆ ขึ้นรถม้าลำปางอาทิตย์นี้ จากนั้น ถึงคิวอีสานสะเทือน เปิดหน้า ชนสีน้ำเงิน
'เด็กชวน' สวนกลับ 'ทักษิณ' อยากสารพัด แต่ผวาอยู่ 2 เรื่อง
'ราเมศ' ยัน 'ชวน' ต่อสู้สิ่งไม่ถูกต้อง ยึดหลักสุจริตมาโดยตลอด ปัดแค้นส่วนตัวกับ 'ทักษิณ' สวนกลับคงไม่อยากหนีไปต่างประเทศซ้ำอีก