'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

แม้ 'หัวหน้าเท้ง' จะเฉือนชนะ ‘อุ๊งอิ๊ง’-นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตัวจริง มาเพียง 1.05% แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่รั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่เจ้าตัวได้อันดับ 1 ในโพลสำรวจความนิยม แถมยังได้คะแนนเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 7% สวนทางกับ 'นายกฯ อิ๊งค์' ที่คะแนนนิยมหล่นลง 7% เช่นกัน

ขณะที่กระแสนิยมของ 'พรรคประชาชน' ก็ยังครองอันดับ 1 ต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว นำ 'พรรคเพื่อไทย' อยู่ราว 7-9% นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมาในช่วงไตรมาสที่ 3

ผลโพลที่บ่งชี้เช่นนี้ ย่อมสะท้อนทิศทางการเมืองในปี 2568 ที่มีแนวโน้มผันแปร ยิ่งต้องให้น้ำหนักว่า 'นิด้าโพล' ถือเป็นสำนักที่ค่อนข้างแม่น โดยเฉพาะในช่วงลุ้นผลเลือกตั้งปี 2566

แม้ในช่วงแรก 'หัวหน้าเท้ง' ราศีผู้นำจะยังไม่เฉิดฉาย และถูกเทียบบ่อยครั้งว่ายังห่างชั้นกับอดีตผู้นำพรรคส้มอย่าง ‘ทิม’-นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กระทั่งสื่อมวลชนรัฐสภายังให้ฉายาว่า 'เท้งเต้ง' แต่หัวหน้าพรรคคนใหม่เพียงยิ้มรับความเห็น ก่อนผลโพลที่เริ่มขยับขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ว่าความพยายามได้เห็นผลทีละน้อย

โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือน ต.ค.-ธ.ค.ที่ผ่านมา หัวหน้าเท้ง เกาะติดประเด็นการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งส่อเป็นภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพง ซ้ำสวมบทดุ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้มาตอบกระทู้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภา ขณะที่อีกฝ่ายบ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบถึง 3 หน

จนความพยายามนำมาสู่ผลเป็นรูปธรรม คือมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งชะลอการรับซื้อพลังงาน ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ดึงเอาคะแนนนิยมมาจาก 'นายกฯ อิ๊งค์' มาได้บ้าง

ปีใหม่ 2568 นี้ ทั้ง 'รัฐบาลพ่อเลี้ยง' ตลอดจนพรรคเพื่อไทย คงต้องกลับมาพิจารณาว่าจะรักษาความนิยมของผู้นำไว้อย่างไร ซึ่งอาจต้องมองไปถึง 'หลังม่าน' อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่ามีส่วนแย่งแสงไปจากลูกสาวด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคส้มจะยังขาขึ้นต่อเนื่อง และกราฟแต้มของผู้นำพรรคก็เริ่มโงหัวตามมาบ้าง แต่ปี 2568 นี้ก็ยังมีโจทย์ท้าทายรอพรรคประชาชนอยู่ ทั้งการเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ยังเก็บชัยชนะไม่ได้ จนถึงภารกิจแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังเกินเอื้อม

ที่สำคัญสุด ยังมีนโยบายที่เคยเป็น ‘เรือธง’ คือการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ‘มาตรา 112ที่เคยซื้อใจฐานมวลชนได้ แต่กลับนำมาสู่การยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิแกนนำ และกลายเป็นชนักปักหลัง 44 สส.อยู่เวลานี้ ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องให้ขุนพลพรรคสีส้มต้องขบคิดว่าจะวางท่าทีอย่างไรต่อ

ล่าสุด การให้สัมภาษณ์ของ ‘หัวหน้าเท้ง’ กับสื่อมวลชน ที่เหมือนว่าจะ ‘ถอย’ นโยบายดังกล่าว เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ห้ามไว้อย่างชัดเจน และเพื่อให้พรรคอื่นๆ ไม่มีข้ออ้างในการไม่ร่วมรัฐบาลเหมือนครั้งที่ผ่านมา ทำให้มวลชนที่สนับสนุนพรรคต่างตั้งคำถาม เพราะในการเปิดตัวพรรคประชาชนเมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยังเคยแสดงออกว่า ‘ไม่ลดเพดาน’  อยู่เลย

โดย นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เราสื่อสารไม่ได้แล้ว เพราะศาลเองออกมาวินิจฉัยได้ค่อนข้างชัดเจนว่า พรรคการเมืองไม่สามารถนำเรื่องนี้มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงได้อีกแล้ว แต่แน่นอนที่สุดคำวินิจฉัยไม่ได้ปิดช่องว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ในระบบกฎหมาย ภายใต้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดยังสามารถทำได้ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

"ในส่วนของพรรคประชาชน แน่นอนว่าไม่มีนโยบายนี้แน่นอน เพราะคำวินิจฉัยของศาลห้ามไว้แล้ว เพียงแต่ในอนาคต เราจะปรับปรุงกฎหมายอย่างไร ภายใต้ระบบนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่เราต้องหารือกันต่อไป และครั้งหน้าพรรคอื่นๆ จะไม่มีข้ออ้าง ในการไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาชน"

ทั้งนี้หากพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จะเห็นว่า มีการห้ามนำนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ในการ ‘หาเสียง’ จึงพลอยทำให้พรรคประชาชนที่มีจุดขายเรื่องอุดมการณ์ ตรงไปตรงมา มีปัญหากับการแสดงจุดยืน ไม่สามารถ ‘ทะลุเพดาน’ ได้ดังเคย เพราะมีคำวินิจฉัยฯ และชะตากรรมของ 44 สส.ค้ำคออยู่

ขณะที่ความคิดเห็นของบรรดามวลชนแตกเป็นหลายทาง บางฝ่ายท้วงติง และยืนยันว่าพรรคต้องไม่ทิ้งอุดมการณ์เดิม แม้จะใช้หาเสียงไม่ได้ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน ว่าจะไม่หยุดเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย มิเช่นนั้นจะเสียฐานความนิยม

ขณะที่อีกฝ่ายก็เข้าอกเข้าใจเงื่อนไขที่เผชิญอยู่ พลางเชียร์ให้พรรครักษาเนื้อรักษาตัว เพื่อให้ไม่เกิดความสูญเสียทางการเมืองเหมือนที่ผ่านมาอีก

จะเห็นได้ว่าเส้นทางของพรรคประชาชน ในปี 2568 ซึ่งย่อมเล็งผลยาวสู่การเลือกตั้ง 2570 กับเป้าหมาย 270 เสียง เพื่อ ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ จะยังต้องฝ่าอีกหลายด่าน ทั้งการรักษาคะแนนนิยมให้สม่ำเสมอ ซึ่งสัมพันธ์กับการแสดงจุดยืนตามอุดมการณ์เดิมที่เคยหาเสียงไว้ มิเช่นนั้นวาทกรรม ‘ตระบัดสัตย์’ อาจถูกย้อนศรมาทิ่มแทงตนเองได้

ยังไม่นับวิบากกรรมจากมรสุมทางกฎหมาย คดี 44 สส. ที่เดินหน้าอย่างเงียบๆ แต่มั่นคง

ทั้งหมดล้วนเป็นบททดสอบพรรคประชาชนภายใต้ปีก ‘หัวหน้าเท้ง’ ว่าจะเดินไต่เส้นลวดอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่พลัดตกลงมาก่อนคูหาเลือกตั้งจะเปิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

‘แพทองธาร’ เข้าพบ ‘สุรยุทธ์’

นายกฯ เผย สมเด็จพระสังฆราชประทานพรให้แข็งแรง ดูแลบ้านเมืองให้สงบ พร้อมเข้าขอพรปีใหม่ประธานองคมนตรี สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง

ประธานองคมนตรี อวยพรนายกฯแพทองธาร ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลนนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อกราบขอพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ โดยพล.อ.สุรยุทธ์ ได้อวยพรให้นายกรัฐมนตรี

นายกฯอิ๊งค์ ควงสามี ทำบุญปีใหม่ อุบตอบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบฯ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปิฎก สุขสวัสดิ์ คู่สมรส เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึงนายกฯทักทายสื่อมวลชนว่า “สวัสดีปีใหม่” อย่างอารมณ์ดี จากนั้นนายกฯเป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี