“นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เจ้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการฟื้นคืนชีพระบอบทักษิณโดยไม่สนใจบทเรียนในอดีต จนตัวเองและน้องสาวต้องหนีออกนอกประเทศ รวมถึงบริวารต้องติดคุกแทน
โดยเฉพาะหวังยึดหัวหาดตั้งแต่สนามเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในหลายพื้นที่ในปีนี้ และนายก อบจ.อีก 47 จังหวัด ในวันที่ 1 ก.พ.2568 ปูพรมยึดอำนาจไปสู่การเมืองระดับชาติ
หลังผลการเลือกตั้ง สส.ปี 2566 และ สว.ปี 2567 เสียหน้าให้แก่เครือข่าย สีส้ม และ สีน้ำเงิน มาตามลำดับแล้ว
นายใหญ่ หวังชัยชนะเท่านั้น ด้วยการนำการเมืองใหญ่โดยใช้แบรนด์พรรคเพื่อไทยลงไปเล่นในสนามท้องถิ่น
ไม่สนใจว่าจะสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ และทำลายวัฒนธรรมประเพณีการเมืองท้องถิ่นแต่อย่างใด ที่เขาต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่แตกหักกันเอง ถึงกับประกาศกับ สส.เพื่อไทยในพื้นที่ต่างๆ ว่า หากใครไม่ช่วยผู้สมัครเพื่อไทย เลือกตั้ง สส.ครั้งหน้าจะไม่ส่งในนามพรรค
คำขู่นี้เล่นเอา สส.ค่ายแดงบางคนหนักใจที่ต้องถูกมัดมือชก เพราะบางพื้นที่บ้านใหญ่ต่างๆ ก็มีบุญคุณค้ำคอและเกื้อหนุนให้สามารถเป็นผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ และยังแบ่งปันให้วงศาคณาญาติได้มีตำแหน่งบริหารในท้องถิ่นหรือเป็น สจ.อีกด้วย
ความกระหายอำนาจของ ทักษิณ ที่ต้องการให้ทุกคนศิโรราบ ยังไม่เว้นคนในเครือข่ายแดงด้วยกัน เช่น ในสนามชิงนายก อบจ.อุบลราชธานี และ อบจ.นครราชสีมา พร้อมชนกับผู้สมัครในเครือข่าย แป้งมันหมื่นล้าน หรือ กำนันป้อ-วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล บิดาของ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม จากพรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครใน นามอิสระ ซึ่งเป็นเครือญาติและภรรยา “กำนันป้อ” เพราะต้องการทำงานกับทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แตกต่างจากการสังกัดพรรคการเมือง จะทำให้เครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ต่างสีและอุดมการณ์ไม่กล้าเข้ามาช่วยเหลือ
ขณะเดียวกันกรณีที่ กำนันป้อ ไม่สยบยอมหมอบให้ นายใหญ่ นอกจากต้องการรักษาบ้านและฐานที่มั่นตัวเองแล้ว ที่ผ่านมายังขุ่นเคืองกรณี ลูกสาว ถูกลดชั้นจาก “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” มาสู่กระทรวงวัฒนธรรม
จึงต้องจับตาว่าหลังจากนั้น เจ้าสัวแป้งมัน จะขน สส.โคราชแยกทางจากพรรคนายใหญ่หรือไม่ เพราะขณะนี้ก็มี พรรคไทรวมพลัง เครือข่ายตัวเอง ที่มี สส. 2 ที่นั่งในจังหวัดอุบลราชธานี เตรียมพร้อมไว้แล้ว
เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ก็เปิดไฟเขียวยอมให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ขนทรัพยากรทางการเมืองไปหนุนคนนอกพรรคอย่าง วัฒนา ช่างเหล่า ที่ย้ายมาจากพรรคภูมิใจไทย ชนะเลือกตั้ง อบจ.ขอนแก่น ที่อ้างลงในนามพรรคเพื่อไทย จนสร้างความขัดแย้ง เพราะไม่เห็นหัวเจ้าของพื้นที่ และ สส.เพื่อไทย จังหวัดขอนแก่นมาแล้ว
ยังเปิดศึกรบไปทั่วในหัวเมืองใหญ่ภาคเหนือและภาคตะวันออกกับค่ายส้ม และเครือข่ายสีน้ำเงินในภาคอีสาน ที่ นายใหญ่ หวังใช้กระแสการเมืองใหญ่ลงไปปราศรัย ซึ่งอาจจะได้แต้มจากกระแสมาบ้าง
แต่ก็ต้องแลกกับการปลุกประชาชนได้รับรู้บาดแผล และจุดกระแสความหมั่นไส้ให้เกิดขึ้น เช่นกรณี นักโทษเทวดา ที่ขณะนี้ ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวนตรวจสอบ 12 ข้าราชการที่อุ้มคนป่วยชั้น 14 มีความผิดหรือไม่ ลามไปถึงผลงานรัฐบาลลูกสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่สภาวะผู้นำมีปัญหา ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายเอื้อนายทุนผูกขาดใกล้ชิดรัฐบาล และสร้างวิกฤตศรัทธาทางการเมืองอีกเพียบ
อีกทั้งยังใช้นโยบายเชิงทับซ้อน เอาเงินภาษีของประชาชนไปแจกเงินหมื่นให้ผู้สูงอายุในวันที่ 29 ม.ค.68 ท่ามกลางข้อสังเกต ซื้อเสียงล่วงหน้าในการเลือกตั้ง อบจ. และสมาชิก อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.68 ใช่หรือไม่ เพื่อหวังสร้างความร่ำรวยและอำนาจการเมืองให้แก่ตัวเอง ครอบครัว และพวกพ้อง ถือเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดที่ชาวบ้านไม่ควรเป็นเหยื่อ และตกเป็นทาสในระบอบทักษิณซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น คนการเมืองขนานแท้เข้าใจบริบทเหล่านี้เป็นอย่างดี จึงประกาศไม่ส่งสนามท้องถิ่นในนามพรรคการเมือง แตกต่างจากนักธุรกิจการเมืองที่หวังผลประโยชน์ทุกเม็ด
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่ได้สนับสนุนท้องถิ่นในนามพรรค แต่ในส่วนพื้นที่ใดที่เป็นพี่น้องกันเขาก็ช่วยเหลือกัน แม้บางทีบางพื้นที่พี่น้องอยู่คนละพรรคกันก็อาจจะเกิดความเกรงใจกัน จึงปล่อยให้เป็นเรื่องท้องถิ่น และผู้สมัครในพื้นที่ก็จะเกิดความสบายใจกันมากกว่า
“ภูมิใจไทยก็ชนะมาอยู่นะ และก็เป็นแชมป์อยู่นะ หากนับเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องและสนิทกับภูมิใจไทย ส่วนจะมีจำนวนกี่พื้นที่จำไม่ได้ แต่ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งอยู่”
เมื่อสแกนสิ่งที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูดออกมา สอดรับกับผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สุรินทร์ ตาก เพชรบูรณ์ และนายกเทศมนตรีนครบุรีรัมย์ ฯลฯ ก็ล้วนเชื่อมโยงเครือข่ายสีน้ำเงินทั้งสิ้น ที่ปล่อยให้ดำเนินการกันเอง ไม่เอาการเมืองระดับชาติลงไปยุ่ง
เช่นเดียวกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อธิบายว่า เราทำการเมืองระดับประเทศก็เตรียมพร้อมระดับประเทศ อย่างบางที่ไปสู้ท้องถิ่น แพ้มาก็เสีย ชนะมาก็ใช่ว่าจะดี เพราะไปแข่งกับเพื่อน เพื่อนโกรธอีก ถึงเลือกตั้งใหญ่ก็มีปัญหา จึงบอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ต้องจับตา “ทักษิณ” ที่นำการเมืองใหญ่ลงไปเล่นในสนามเล็ก จะสามารถชนะความสามัคคีของพลังคนท้องถิ่นได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ ความหวาดระแวง ความขัดเแย้ง และซากปรักหักพังในพรรคเพื่อไทยและภายนอกได้เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งส่งหลักฐานชั้น14 แพทยสภาขีดเส้น‘รพ.ตร.’15ม.ค.68/เรียกอิ๊งค์-แม้วแจงกกต.
"ศาล รธน." ตีตกคำร้อง "รมว.ยุติธรรม-ราชทัณฑ์" เอื้อประโยชน์ "ทักษิณ" รักษาตัวชั้น 14 เหตุไม่มีหลักฐานชัด
พวกเรารอพวกท่านอยู่! หวด ‘กกต.-ปปช.’ เร่งทำงานเพื่อประเทศชาติให้เต็มที่
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กดังนี้
งงหนักมาก! ตั้ง ’ทักษิณ‘ เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน เพื่อสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้
สืบเนื่องจากกรณี นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแต่งตั้งให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในตำแหน่งประธานอาเซียน ที่นา
คดีป่วยทิพย์ชั้น14ในมือ‘ป.ป.ช.’ ‘รอด-ร่วง’สะเทือนการเมือง
เป็นอีกหนึ่งคดีที่ท้าทายสำหรับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังมีมติแต่งตั้ง องค์คณะไต่สวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคน เพื่อตรวจสอบกรณีกล่าวหานายสหการณ์
“วราวุธ” มอบ "ปลัด พม." ร่วมคณะนายกฯ “แพทองธาร” ลุยน้ำท่วมนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ ช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)