พท.ยึดอำนาจกองทัพ สกัดลากรถถังตรึงทำเนียบฯ

เรียกเสียงครางฮือไปทั่วแวดวงทหารและแวดวงการเมือง กับการขยับของ สส.เพื่อไทย ที่เข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาฯ

เหตุที่บอกว่า แวดวงการเมืองครางฮือ ก็เพราะเนื้อหาหลายเรื่องตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่เสนอโดย สส.เพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งมี บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย นั่งเป็นรองนายกฯ ควบกลาโหม คลี่แต่ละมาตราออกมาดูแล้ว พบว่า เป็นการเขย่าอำนาจของบิ๊กทหาร-ท็อปบูต ไว้หลายอย่าง จนแวดวงการเมืองส่งเสียงดังเซ็งแซ่ มองไปในทางเดียวกันว่า เป็นการวางหมากของฝ่ายการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่เคยถูกทหารทำรัฐประหารมาแล้ว 2 รอบ คือยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2549 และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอนปี 2557  เพื่อไทยเลยวางแผนจัดการเอาคืนทหารทุกเหล่าทัพ ทั้งต้นทั้งดอก ด้วยการจะดันร่างกฎหมาย ที่เป็นการยึดอำนาจกองทัพไว้ในกำมือนักการเมือง ให้ท็อปบูตต้องยอมสยบ

เช่น การให้นายกฯ หรือ ครม.สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขโผแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับนายพลทุกเหล่าทัพได้ ทุกชื่อทุกตำแหน่ง ที่ผ่านการพิจารณาจากบอร์ดแต่งตั้งมาแล้ว หรือการให้อำนาจนายกฯ หรือ ครม.หากเห็นว่าบิ๊กทหารคนใดมีข้อมูลอันเชื่อได้ว่า คิดแข็งข้อรัฐบาล วางแผนคิดก่อการทำรัฐประหาร เตรียมเคลื่อนรถถังและเคลื่อนทหารออกจากที่ตั้ง เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล-สถานที่ราชการ และอ่านประกาศคณะรัฐประหาร  โดยในร่างเขียนไว้ว่า หากรัฐบาลได้กลิ่นบิ๊กทหารรายใด คิดก่อการดังกล่าว ก็สามารถออกคำสั่งให้นายทหารผู้นั้น หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที

ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กลุ่ม สส.เพื่อไทยที่เข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ย้ำหลักการและเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีเนื้อหาบางส่วน เช่น

โดยที่คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่มี รมว.กลาโหม-ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการเท่านั้น

“ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหาร ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส”

 จึงเป็นการสมควรที่จะให้คณะรัฐมนตรีได้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วได้

พร้อมกับระบุว่า..."นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่า นายทหารระดับสูงมีการใช้กำลังพลไปในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงควรกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างรอการสอบสวนได้ เพื่อป้องกันมิให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

นั่นคือหลักการ-เหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาฯ จาก สส.เพื่อไทย

ด้าน ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ สส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของฉายา สส.หัวเขียง ที่เป็น สส.ในสภาฯ มาหลายสิบปี ประสบการณ์โชกโชน บอกกับ ไทยโพสต์ ถึงเหตุผลในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมาย เพื่อไม่ให้ประเทศถอยหลังจากเหตุมีการทำรัฐประหารแบบในอดีต ซึ่งเชื่อว่าหากมีการประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทยได้ อย่างเรื่องการให้ ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาโผแต่งตั้งบิ๊กทหาร เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เรื่องนี้ไม่ใช่จะเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าไปล้วงลูกโผนายพลแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของหลักการคานอำนาจระหว่างฝ่ายบริการกับกองทัพ

สส.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ร่างดังกล่าวให้อำนาจคณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการพิจารณาโผรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพล ก็เพื่อเป็นการป้องกันเหตุบางอย่าง รวมถึงเพื่อให้คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นสูงขึ้น มีความยากขึ้น ไม่ใช่อยากจะดันใครขึ้นก็ขึ้นได้ง่ายๆ แนวคิดนี้ไม่ใช่การดึงอำนาจจากกองทัพมาไว้ที่ ครม. แต่เพราะ ครม.ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงต้องให้อำนาจคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายโผนายพลด้วย เพื่อรักษามาตรฐานการขึ้นสู่ตำแหน่งของทหาร ทำให้ ครม.มีส่วนร่วมในการพิจารณารายชื่อ

...ยืนยันได้ว่า เรื่องนี้มันมีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองอยู่ ไม่ใช่ ครม.จะไปล้วงลูกถึงกับจะเข้าไปจัดแจงโผที่ส่งมา มันคงไม่ใช่ แนวทางดังกล่าวทำให้ทหารระดับนายพลแต่ละคนจะมีความใกล้ชิดกับฝ่ายบริหาร-ครม.มากขึ้น ทหารจะได้ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองร่วมกับ ครม.ด้วยเหมือนกัน ส่วนการจะสั่งให้ทหารระดับสูงคนใดหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะสงสัยว่าคิดกระทำการทำรัฐประหารนั้น การทำงานระดับนี้มันต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงประกอบกัน มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปกล่าวหาทหารเขาแล้วสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องมีข้อมูลที่รับฟังได้

“การเกิดรัฐประหารบ่อยครั้งมันทำให้เกิดการถอยหลัง และผมมั่นใจว่าหากมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้เยอะ ผมมั่นใจมากและเชื่อมั่นมาก ส่วนว่าจะมีทหารไม่พอใจที่จะมาเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสภาฯ ต้องบอกว่า การเสนอกฎหมาย มันต้องมีคนพอใจและไม่พอใจ ถ้ามัวคิดแต่เรื่องนี้ ก็คงทำงานตรงนี้ไม่ได้ ผมทำตามหน้าที่ ใครจะพอใจไม่พอใจก็อีกเรื่องหนึ่ง” นายประยุทธ์ หรือ สส.หัวเขียง กล่าวหลังถูกถามว่า ถ้ามีการออกกฎหมายดังกล่าวจริง จะทำให้การรัฐประหารไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้วใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงโหมของ สส.เพื่อไทยเข้าสภาฯ ครั้งนี้ เป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.เพื่อประกบกับร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหา-หลักการลักษณะเดียวกันที่พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนในปัจจุบันเสนอเข้าสภาฯ ที่ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เสนอเข้าสภาฯ ตั้งแต่ปี 2566

โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการ ในการประชุมสภาฯ สมัยปัจจุบันที่จะเปิดสมัยประชุม 12 ธ.ค.เป็นต้นไป เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม

และด้วยจำนวนเสียง สส.แค่ 2 พรรคคือ พรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทย ที่รวมกันแค่ 2 พรรค ก็เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียงในสภาฯ ดังนั้นหากทั้งเพื่อไทยและประชาชนเดินหน้าเข็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ให้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ก็มีโอกาสสูงที่จะผ่านสภาฯ ได้แบบสบายๆ ไม่ต้องขอเสียง สส.พรรคร่วมรัฐบาลเลยด้วยซ้ำ

กระนั้นต้องไปดูว่า เมื่อผ่านสภาฯ ไปแล้ว มีการส่งร่างต่อให้วุฒิสภา ท่าทีของสภาสูง-สมาชิกวุฒิสภาจะเอาด้วยหรือไม่ รวมถึงปฏิกิริยาของผู้นำกองทัพจะมีท่าทีอย่างไร ยามเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติตั้งแท่น พิจารณาเรื่องดังกล่าว ที่เห็นชัดว่าทำให้อำนาจของผู้นำเหล่าทัพลดน้อยลง และฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกซึมกองทัพได้มากขึ้น. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ