การพลิกเกมของ "ผู้กอง" หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำจากที่จะตกเป็นจำเลย รับบาปเคราะห์ทั้งหมด หลังทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พลาดท่าแพ้เลือกตั้งซ่อมเขต 1 จ.ชุมพร และเขต 6 จ.สงขลา ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์
แต่เมื่อ "ผู้กองธรรมนัส" ฉวยโอกาส โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค รู้เห็นเป็นใจและเปิดไฟเขียวให้ พปชร.มีมติขับ 21 ส.ส. ซุ้มธรรมนัส ออกไป ด้วยข้ออ้างสร้างความขัดแย้งและทำลายความมั่นคงให้แก่ พปชร.ไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา
ประกอบด้วย ส.ส.เขต จำนวน 17 คน และบัญชีรายชื่อ 4 คน ประกอบด้วย 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา
8.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน
16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี
สถานการณ์ขณะนั้นดูเหมือนจะพลิกผันให้ "ธรรมนัส" เหมือนเสือติดปีก ด้วยสถานภาพความเป็น ส.ส.และย้ายออกไปสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ตามข่าวแจ้งว่าคือ "พรรคเศรษฐกิจไทย"
โดยอ้างชื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนใกล้ชิด "บิ๊กป้อม" เป็นหัวหน้าพรรค และ นายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะลาออกมานั่งเป็นเลขาธิการพรรคต่อไป
การแยกวงจาก พปชร. คอการเมืองและนักการเมืองวิเคราะห์กันว่าเพื่อทำหน้าที่ "ฝ่ายรัฐบาลอิสระ" และเบื้องต้นยังสนับสนุนรัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม อยู่เช่นเดิม
แต่ของฟรีไม่มีในโลก ฉะนั้นหาก "รัฐบาล" จะอยู่จนครบวาระ 4 ปี ไปจนครบวาระเดือนมีนาคม 2566 รวมทั้งนายกฯ ยังได้ทำหน้าที่ประธานเอเปกในช่วงปลายปีนี้ได้อย่างสะดวก จำต้องยอมรับ ครม.และมอบเก้าอี้ที่มีความสมน้ำสมเนื้อให้แก่ "ซุ้มผู้กองธรรมนัส"
ตามกระแสข่าว 2 ตำแหน่งที่หมายปองคือ เก้าอี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือกระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โควตาของพรรค พปชร. เป็นต้น
มิเช่นนั้นไม่รับประกันว่ารัฐบาลจะอยู่เป็นสุขหรือไม่ เพราะเสียง ส.ส.ซุ้ม ร.อ.ธรรมนัส จำนวน 21 เสียง ประกอบกับพรรคเล็กอีก 10 เสียง ที่ตามข่าวจะตามมาสมทบ จะสามารถชี้เป็นชี้ตายงานของรัฐบาลในเวทีสภาได้
เช่น กฎหมายสำคัญ อาทิ พ.ร.ก.ต่างๆ, กฎหมายการเงิน, ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ในสมัยประชุมหน้าตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม
เมื่อเช็กเสียงของสภาบัดนี้มี ส.ส.ทั้งสิ้น 475 เสียง ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 267 เสียง (ยังไม่หัก 21 เสียงของ ร.อ.ธรรมนัส และ 10 เสียงของพรรคเล็กรวม 30 เสียง) ขณะที่ฝ่ายค้านมี 208 เสียง โดยเสียงฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้าน จำนวน 39 เสียง โดยมีองค์ประชุมคือ 238 เสียง
สมมุติว่า ส.ส.ในซุ้ม ร.อ.ธรรมนัส เลือกไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม หรือเล่นเกมกับรัฐบาล เสียงในสภาจะปริ่มน้ำ และจะเกิดปัญหากระทบเสถียรภาพของรัฐบาลทันที
ไม่ว่าจะเปิดประชุมสภา หรือพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ เพราะเงื่อนไขแรกคือองค์ประชุมจะต้องครบ คือจำนวน 238 เสียง เพราะมิเช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้
สำหรับทางออกใช่ว่าจะไม่มี แต่ขึ้นอยู่กับ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯ ของคนไทยทั้งประเทศ จะเล่นไพ่ใบไหนในมือ
ข้อ 1 หากเลือกยอมปรับ ครม.ตามใจ "ร.อ.ธรรมนัส" ข้อดีอาจทำให้รัฐบายยังมีเสถียรภาพอยู่เช่นเดิม แต่ข้อเสียถือว่าพ่ายแพ้ทางการเมือง ที่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างให้แก่นักการเมืองเข้ามาต่อรอง กดดันทำให้ภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศเสียหายในสายตาประชาชน
ข้อ 2 คือยุบสภาเพื่อล้างไพ่ทั้งหมด พร้อมสลายมุ้ง ก๊วนการเมือง ให้ไปต่อสู้กันใหม่ในสนามเลือกตั้ง ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นหนทางสุดท้าย
ข้อ 3 รักษาภาพความเป็นผู้นำประเทศ และอยู่กันไปแบบนี้ในสภาพเสียงปริ่มน้ำ เช่น สมัยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ยังลากยาวได้จำนวน 2 ปี 231 วัน ขณะเดียวกันก็พยายามหาวิธีการเติมเสียง ส.ส.กลับมาที่รัฐบาล
โดยอาศัยความร่วมมือจากพรรครัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา เข้ามาร่วมแก้ปัญหาด้วย เพราะหากยุบสภาในช่วงวิกฤตโควิดและสถานการณ์ข้าวยากหมากแพงจะกลับมาลำบาก รวมทั้งยังเสียกระทรวงสำคัญที่ดูแลอยู่อีกด้วย
เบื้องต้นยังไม่ทราบว่า "พล.อ.ประยุทธ์" จะเลือกเล่นไพ่ใบไหนในมือ แต่จากการฟังการให้สัมภาษณ์ในวันที่ 20 มกราคม ก็พอจะคาดเดาได้ว่า ยอมหักไม่ยอมงอ ทำตามประสงค์ของ "ผู้กองธรรมนัส"
“ผมไม่ได้กล่าวว่าใครดีไม่ดี แต่พฤติกรรมจะเป็นตัวกำหนดและให้ประชาชนคัดกรองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และยืนยันว่าผมไม่ได้คิดจะดำเนินการในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือยุบสภาอะไรต่างๆ"
ตอกย้ำต่อเนื่องในวันที่ 21 มกราคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ในช่วงท้ายก่อนจบการประชุม ศบศ. นายกรัฐมนตรีได้เปิดเพลง อย่ายอมแพ้ ของอ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ นักร้องชื่อดังในอดีต พร้อมบอกกับที่ประชุมว่า "ผมไม่ยอมแพ้อยู่แล้ว เพลงเป็นเรื่องการให้กำลังใจทุกคนที่ร่วมทำงานไม่แพ้ต่อปัญหาอุปสรรค เช่นเดียวกับนายกฯ ไม่เคยยอมแพ้ ทำงานเพื่อชาติและประชาชน"
การส่งสัญญาณเช่นนี้ของ "พล.อ.ประยุทธ์" จึงคาดหมายว่าพร้อมจะเดินหน้าทำงานในหน้าที่ต่อไป แม้จะเกิดวิกฤตทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งภายใน พปชร.
สอดรับกับสถานการณ์การเมือง เหมือนจะพลิกกลับตาลปัตรให้เข้าทาง "บิ๊กตู่" เมื่อนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 21 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากสมาชิก พปชร.ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร ขอให้ทบทวนมติพรรค พปชร.ให้ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
เช่นเดียวกับศาลฎีกาสั่งให้นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ที่อยู่ใน "ซุ้มผู้กองธรรมนัส" เช่นกัน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.หลังรับคำร้องจาก กกต.ปมจ่ายเงินจูงใจชาวบ้านลงคะแนนเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 63 ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ 2 ส.ส.ที่มีรายชื่อถูกขับออกจาก พปชร. จะเรียกว่าความบังเอิญ หรือ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ในทางการเมืองมองว่า "บิ๊กตู่" กำลังรุกฆาตตีกลับ "ผู้กองธรรมนัส" ใช่หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่