เพื่อไทยแจกเงินรัฐถังแตก? แผนสะดุดอดปล้นแวต15%

หากจับไม่ได้ไล่ไม่ทันจนถูกกระแสต่อต้าน ก็มีความเป็นได้ว่าในสภาวะที่รัฐบาลส่อถังแตกจากนโยบายแจกเงินหมื่นที่มุ่งสนองการเมืองเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำทุกคนมีแนวโน้มถูกขูดเลือดขูดเนื้อด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ตามธงที่ “ทักษิณ” คิด “เพื่อไทย” ทำ ใช่หรือไม่ 

แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะมั่นอกมั่นใจว่าจะอยู่ครบวาระหลังมีภูมิคุ้มกันด้วยพลังแฝง จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ครอบงำรัฐบาล

เช่นเดียวกับเสียงในสภาที่มีความเข้มแข็งถึง 320 เสียง ขณะที่การทำงานของฝ่ายค้านก็ถูกมองว่ามีวาระแอบแฝง ชกไม่เต็มหมัด บนสมมุติฐานมีดีลลับฮ่องกงระหว่างผู้นำทางจิตวิญญาณของทั้งพรรคส้มและแดง 

ภาระหลักจึงตกไปที่พรรคพลังประชารัฐ นักร้องระดับประเทศและแกนนำม็อบนอกจากสภา ว่าจะรอสถานการณ์สุกงอมเพื่อไล่ระบอบชินวัตรให้พ้นกระดาษการเมือง

โดยเฉพาะปมเอ็มโอยู 44 ที่ขณะนี้ปลุกให้สังคมเกิดความหวาดระแวงขึ้นมาแล้ว โดยเฉพาะความไม่ไว้วางใจของสายสัมพันธ์ตระกูลชินวัตรกับตระกูลฮุน เซน ผู้นำประเทศกัมพูชา ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการเมื่อไหร่ จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว จะพารัฐบาลตายหมู่ก็เป็นได้ 

กลับมาที่ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เป็นที่แน่ชัดว่าจะหวังพึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงยากสำเร็จดังที่คุยโวโอ้อวดว่า คิดใหญ่ ทำเป็น เพราะนับวันยิ่งตีบตัว เหมือนคนป่วยโรค NCDs ที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด

ลำพังแค่แก้การแก้ปัญหารูทีน เช่น ภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วมใต้รอบล่าสุด ก็ติดหล่มถูกดรามาเล่นงาน แม้นายกฯ แม่ลูกอ่อนหวังแสดงความจริงใจจะไม่ทิ้งคนใต้ว่า “สามีเป็นคนใต้ ส่วนตัวเองเป็นสะใภ้เมืองคอน" หวังกลบกระแสถูกมองว่าไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย อย่างเช่นภาคเหนือและอีสาน

สุดท้ายก็ไม่พ้นถูกทัวร์ลงว่า ตรรกะเพี้ยน ไม่สามารถแยกแยะเหตุและผล ความสำคัญระหว่างงานและเรื่องส่วนตัว 

ถึงขนาดนายกฯ หญิงเก็บทรงไม่อยู่ เลือกเหวี่ยงกลับว่า “ความคิดในเชิงลบของคุณ สะท้อนถึงความเป็นจริงในตัวคุณ คนที่ไม่มีความมั่นคงมักดูถูกคนอื่นเพื่อยกระดับตัวเอง” 

เสียงโห่จึงตามมาและประทับตราว่า นายกฯ เป็น มะม่วงบ่มแก๊ส ถูกผลักขึ้นมาเพื่อความจำเป็นทางการเมือง ทั้งที่ยังขาดความรู้ ประสบการณ์ และวุฒิสภาวะยังติดลบ 

ขณะที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจนโยบายเรือธงอย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงินหมื่น กลายเป็น “เรือเกลือ” ไม่ตรงปก ต้องทยอยจ่าย แบ่งแยกประชาชนเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ จากเดิมจะจ่ายทุกคน   

ส่วนความตั้งใจหวังให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นนโยบายเสียของการสร้างภาระหนี้สาธารณะ ประเทศเสียโอกาสพัฒนา โครงการสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น  

แต่ที่ดันทุรังจ่ายเงินเพื่อรักษาหน้าของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ถูกประณามจากพี่น้องประชาชน อีกด้านหนึ่งยังหวังใช้เงินหมื่นให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุในวันที่ 29 ม.ค.68 ในช่วงที่กำลังเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ก.พ.68 ก่อนหน้าเพียงไม่กี่วัน เกิดคำถามว่าเป็นการใช้เงินหลวงซื้อเสียงล่วงหน้าหรือไม่ 

มีรายงานว่า ขณะนี้ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทยหลายจังหวัดไม่หาเสียงจะสร้างประโยชน์อย่างไรให้แก่ท้องถิ่นแล้ว แต่จะแจกเงินหมื่นเพียงอย่างเดียว เพราะคิดว่ากระสุนและกระแสทักษิณสามารถใช้เงินซื้อ และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีชาวบ้านได้ แม้ในบางพื้นที่เอาคนรอบตกหรือเสาไฟฟ้าลงก็ตาม

ขณะที่ประชาชนหารู้ไม่ว่า หากได้เงินวันนี้ อาจต้องตามใช้หนี้อีกหลายร้อยปีไปชั่วลูกชั่วหลาน ผ่านการขูดรีดขูดเนื้อจากระบบภาษีสารพัดรูปแบบ เป็นไปตามที่ 99 นักเศรษฐศาสตร์ เคยออกแถลงการณ์ต่อต้านการแจกเงินหมื่นเอาไว้ เพราะจะสร้างความเสียหายให้กับอนาคตประเทศ   

“ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้ออันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน” 

น้ำลดตอผุดทันที เมื่อ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง จากพรรคเพื่อไทย ส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพิ่มขึ้นจาก 7% โดยอ้างต่างประเทศเก็บภาษีสูง 15-25% โดยอ้างว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

ท่ามกลางข้อครหาว่า หวังหาเงินจากชาวบ้านมาอุดสภาวะถังแตกจากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงจากประชาชน โดยเฉพาะการผลาญเงินในโครงการแจกเงินหมื่น หลังจากการจัดหารายได้ของรัฐบาลได้น้อยเกินไป ไม่พอต่อการลงทุนในโครงการอื่นๆ 

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา แม้แต่คนในรัฐบาลด้วยกันยังทนไม่ได้ โดย ธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เด็กในคาถาลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ยังทนไม่ไหว โดยบอกว่าการปรับโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะแวต ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ เนื่องจากรายได้ของประชาชนยังเท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเท่าตัว จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและการตัดสินใจใช้จ่ายเงินของประชาชนยิ่งลดลงด้วย ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในประเทศโดยตรง

ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ก็ออกมาสอนมวยว่า ให้ รมว.การคลังศึกษาให้เสร็จแล้วค่อยพูด จะปรับภาษีเงินได้-ขึ้นแวต 15% เพื่อลดเหลื่อมล้ำใช่หรือไม่ นัยว่านอกจากจะทำไม่ได้แล้ว ยังทำให้พรรคเพื่อไทยเสียแต้มถูกด่าฟรีอีกด้วย 

เช่นเดียวกับ เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฟันธง เจ้าของไอเดียคือนายใหญ่ โดยระบุว่าแนวความคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% น่าจะมาจากความคิดของนายทักษิณ ซึ่งเคยพูดเรื่องการแจกเงินให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปบนเวทีหาเสียงนายก อบจ.อุดรธานีมาแล้ว หลังจากนั้นเพียง 1 วัน รมว.การคลังก็ขานรับทันที ดังนั้นนโยบายขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% ก็น่าจะเป็นเรื่องในทำนองเดียวกัน

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองว่า การขึ้นแวตทีเดียวสองเท่าจะทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมาก ดังนั้น หลายประเทศจึงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นในลักษณะจาก 7% เป็น 15% อย่างเช่นญี่ปุ่นที่ค่อยๆ ปรับจาก 8% เป็น 10%

“แวตเป็นยาขมของรัฐบาล มันมีสถิติบอกว่ารัฐบาล 90% ที่ขึ้นแวต เทอมหน้าแพ้เลือกตั้งตลอด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมาก” นักวิชาการออกมาเตือน 

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ผู้จัดการรัฐบาล โต้ข้อครหาแจกเงินหมื่นทำรัฐถังแตกจนต้องเตรียมเก็บภาษีแวต 15% ว่า ไม่เกี่ยวกับถังแตกหรือไม่ แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่ควร เพื่อให้การจัดการภาษีเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย นับเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทุกส่วน ซึ่งกระทรวงการคลังต้องไปดู แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร  นายกฯ ต้องออกมาโพสต์สยบข่าวหลังกระแสต่อต้านทั่วทุกหย่อมหญ้า ด้วยการโพสต์ว่า “รัฐบาลจะไม่มีการขึ้นแวตเป็น 15%” หลังก่อนหน้านี้ไม่รู้เรื่อง โยนให้คลังชี้แจง

หากจับไม่ได้ไล่ไม่ทันจนถูกกระแสต่อต้าน ก็มีความเป็นได้ว่าในสภาวะที่รัฐบาลส่อถังแตกจากนโยบายแจกเงินหมื่นที่มุ่งสนองการเมืองเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำทุกคนมีแนวโน้มถูกขูดเลือดขูดเนื้อด้วยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% ตามธงที่ “ทักษิณ” คิด “เพื่อไทย” ทำ ใช่หรือไม่. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ