ดูเหมือน ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เริ่มจะเข้าใจมากขึ้นว่า การเป็น ‘ผู้นำประเทศ’ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และไม่สามารถถ่ายทอดทางดีเอ็นเอได้
หลังจากบริหารประเทศมาสักพักใหญ่ๆ บททดสอบของการเป็นนายกฯ ของประเทศไทยเริ่มยากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่เริ่มถูกตั้งคำถามถึง ‘ภาวะผู้นำ’
ความ ‘อายุน้อย’ ของนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ไม่ใช่สาระสำคัญ หากแต่อยู่ที่ ‘วุฒิภาวะ’ และ ‘การวางตัว’ ในช่วงที่ผ่านมา
ล่าสุด ‘แพทองธาร’ ถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องการลำดับความสำคัญ ในช่วงเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งแรกของรัฐบาลที่ จ.เชียงใหม่ และลงพื้นที่ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังหนักหนาสาหัสในภาคใต้
‘แพทองธาร’ ใช้เวลาลงพื้นที่อย่างเต็มที่ตลอด 3 วันที่ภาคเหนือ ในขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ กลับมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงไป
แน่นอนว่า กำหนดการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ถูกกำหนดเอาไว้นานแล้ว ก่อนที่จะมีสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้
หากแต่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ‘แพทองธาร’ สามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมการลงพื้นที่ภาคเหนือได้ โดยอาจจะเหลือแค่การเข้าร่วมประชุม ในขณะที่กำหนดการลงพื้นที่อื่นๆ สามารถมอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทำแทนได้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วน หรือฉุกเฉินแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ที่ช่วงระหว่าง ‘แพทองธาร’ อยู่ จ.เชียงใหม่นั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ในฐานะนายกฯ สามารถปรับเปลี่ยนโปรแกรมได้ทันที เช่นเดียวกับการตัดสินใจลงพื้นที่ได้ทันที
‘แพทองธาร’ ไม่จำเป็นต้องลงไปเกะกะการทำงานของเจ้าหน้าที่หน้างาน แต่การที่นายกฯ ลงไป ย่อมเห็นสภาพปัญหา และสั่งการแก้ไขปัญหาได้ทันที
ไม่เพียงการไม่รีบลงไปช่วยพื้นที่ภาคใต้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเท่านั้น ภารกิจของนายกฯ ที่ภาคเหนือก็ถูกติติงว่า ไม่ได้เร่งด่วนถึงขนาดจะละหรือมอบคนอื่นแทนไม่ได้
ทั้งการไปเดินถนนคนเดิน ทั้งการไปสวนสัตว์ ตลอดจนการพาครอบครัวเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเหมือนไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้เลย
แม้ ‘แพทองธาร’ จะออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดรามาในเรื่องนี้ว่า ไม่ได้ละเลยภาคใต้ แต่คำอธิบายดูจะยิ่งทำให้ตัวเองวิกฤตกว่าเดิม
“โอ้ คำว่าละเลยภาคใต้ สามีเป็นคนใต้ ครอบครัวสามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ แต่งงานคนใต้ไม่ได้นะคะ”
คำตอบดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์กว่าเดิมว่า นายกฯ สามารถชี้แจงด้วยการยกเหตุผลอื่นๆ ที่ฟังดูแล้วเหมาะสมมากกว่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องยกเรื่องสามีขึ้นมาเปรียบเปรย
เพราะคำตอบไม่ได้ทำให้คนฟังเข้าใจมากขึ้น แต่ยิ่งตั้งคำถามถึง ‘วุฒิภาวะ’ ว่า นี่เป็นคำตอบของคนระดับนายกฯ
ไม่เพียงเรื่องอุทกภัยในภาคใต้ เรื่องการเดินทางไปโชว์ วิสัยทัศน์ หรือให้สัมภาษณ์ในเวทีระดับชาติก็ถูกตั้งคำถามมาสักพักเหมือนกันว่า ‘แพทองธาร’ จะพาประเทศไปรอดหรือไม่ พร้อมทั้งถูกค่อนแคะว่า เป็น ‘นายกฯ ไอแพด’
โดยเฉพาะเมื่อตอนให้สัมภาษณ์กับรองประธานบริหาร Forbes Media เมื่อเดือนพฤศจิกายน นายกฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ตอบไม่ตรงคำถาม และพูดวกไปวนมา จนถูกติงแรกๆ ว่า เหมือนถามช้างตอบม้า ทั้งที่มีการส่งสคริปต์เอาไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกัน บางข้อมูล บางตัวเลข ก็สื่อสารไปผิด อย่างเช่น ตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
ขณะที่เรื่องการใช้ ‘ภาษาอังกฤษ’ ที่ดูเหมือนคล่องแคล่ว ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หลายประโยคไม่สามารถจับใจความได้ว่า ต้องการจะสื่ออะไร
ไม่เว้นแม้แต่การเล่นโซเซียลมีเดียของ ‘แพทองธาร’ ที่แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้สามารถโพสต์อะไรก็ได้มากมาย ทั้งรูปภาพ ทั้งการแสดงความเห็น เพราะไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เมื่อเป็นนายกฯ แล้ว กลับยังทำเหมือนเดิม ไม่ค่อยระมัดระวัง
ซึ่งแม้โซเชียลมีเดียจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่ในเมื่อนายกฯ เป็นบุคคลสาธารณะ ย่อมต้องระมัดระวังมากกว่าเก่า เพราะทุกโพสต์ ทุกคำพูด มันสะท้อนถึงประเทศได้
ล่าสุด โพสต์คำคมผ่าน Intragram story ระบุว่า…“ความคิดในเชิงลบของคุณ สะท้อนถึงความเป็นจริงในตัวคุณ” “คนที่ไม่มีความมั่นคง มักดูถูกคนอื่น เพื่อยกระดับตัวเอง” ซึ่งชวนให้ถูกตีความว่า กำลังสื่อถึงใคร หมายถึงใคร ระหว่างที่กำลังมีดรามาเรื่องอุทกภัยอยู่หรือไม่?
ถ้า ‘แพทองธาร’ เป็นบุคคลธรรมดา ก็มีสิทธิ์ แต่เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย การโพสต์อย่างนี้ยิ่งทำให้ถูกตั้งคำถามถึง ‘วุฒิภาวะ’ อีกคำรบ
ด้าน ‘สวนดุสิตโพล’ ก็เผยแพร่ผลสำรวจรอบล่าสุดพบว่า ดัชนีการเมืองไทยเดือนพฤศจิกายน ลดลงต่ำกว่า 5 คะแนน สะท้อนถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในขณะที่คะแนนผลงานของนายกฯ ก็ลดลง
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ‘แพทองธาร’ ยิ่งกลับต้องเผชิญแรงกดดันและคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง ‘ความสามารถ’ และ ‘วุฒิภาวะ’
บางคนเริ่มพูดเสียงดังๆ ว่า ทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่ ‘สถานที่ฝึกงาน’ และประเทศไม่ใช่ ‘หนูทดลอง’
หากผลงานไม่ออก ในขณะที่ผู้นำเริ่มถูกกังขาถึงความเหมาะสม จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
‘แพทองธาร’ เข้าพบ ‘สุรยุทธ์’
นายกฯ เผย สมเด็จพระสังฆราชประทานพรให้แข็งแรง ดูแลบ้านเมืองให้สงบ พร้อมเข้าขอพรปีใหม่ประธานองคมนตรี สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง
ประธานองคมนตรี อวยพรนายกฯแพทองธาร ประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลนนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี เพื่อกราบขอพรเนื่องในเทศกาลปีใหม่ โดยพล.อ.สุรยุทธ์ ได้อวยพรให้นายกรัฐมนตรี
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
นายกฯอิ๊งค์ ควงสามี ทำบุญปีใหม่ อุบตอบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบฯ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายปิฎก สุขสวัสดิ์ คู่สมรส เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึงนายกฯทักทายสื่อมวลชนว่า “สวัสดีปีใหม่” อย่างอารมณ์ดี จากนั้นนายกฯเป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568