ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อศุกร์ที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีการตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา หลังตั้งแท่นมาหลายสัปดาห์ว่าจะตั้ง แต่สุดท้ายก็ยังไม่คลอดออกมา แม้ก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลบอกว่าน่าจะได้รายชื่อและตั้งกรรมการฯ ได้ภายในไม่เกินกลางเดือน พ.ย.ด้วยซ้ำ
เมื่อยังไม่มีการตั้ง JTC ก็ทำให้การที่จะไปเจรจา-ทำข้อตกลงกับกัมพูชาในเรื่อง พื้นที่อ้างสิทธิ ไทย-กัมพูชา เพื่อสุดท้ายจะได้หาข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการเดินหน้าเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU 2544 ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าในเชิงรูปธรรม
แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย รวมถึงตัวทักษิณ ชินวัตร ให้ความเห็นว่า ต้องดำเนินการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศในระยะยาว รวมถึงเพื่อลดต้นทุนการผลิต-ต้นทุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานของภาคธุรกิจและประชาชน และหารายได้ใหม่เข้าประเทศ หลังมีการประเมินว่าผลประโยชน์จากแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าร่วม 10 ล้านล้านบาท
จนเรื่องดังกล่าวถูกเขียนไว้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
นอกเหนือจากที่รัฐบาลต้องให้กรรมการ JTC ทำหน้าที่หลักในฐานะกรรมการฯ ในการเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาตามกรอบ MOU 44 แล้ว รัฐบาลก็คงต้องการให้ JTC ที่จะมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ทำหน้าที่เสมือน ด่านกันชน ให้กับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ในการเป็นตัวกลางรับหน้าเสื่อพูดคุย-เจรจา-รับข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ที่จะออกมาเคลื่อนไหวหรือมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลในเรื่องการเจรจากับกัมพูชาเรื่อง พื้นที่อ้างสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการออกมาแล้วหลายกลุ่ม ทั้งเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง
อาทิ เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 ที่ผ่านมา นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี พร้อมแนวร่วมกลุ่มคนคลั่งชาติ นำรายชื่อประชาชน 104,697 รายชื่อ ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ปี 2544
โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 2.สนับสนุนการเจรจาแต่ต้องอยู่ในบนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่เหมือนกัน 3.ผู้ใหญ่ที่เคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ และเจรจาเรื่องทางทะเล ฝากมาว่าอย่านำไปสู่การแบ่งผลประโยชน์ด้วยการขุดพลังงานทางทะเล เพราะจะทำให้ไทยเสียดินแดนทางทะเล หรือการเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยเป็นประธาน JTC มาก่อน ก็เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเข้มข้น ภายใต้ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก MOU 44 และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. ก็ส่งสองหัวหอกหลักที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อเนื่องออกมาแถลงอีกรอบ นั่นก็คือ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อดีตนักวิชาการอิสระที่ติดตามเรื่องพลังงานและ MOU 44 มาต่อเนื่องหลายปี ที่เปิดแถลงข่าวเรื่องนี้ร่วมกันอีกรอบ
โดย ธีระชัย ตอกหมุดย้ำว่า แถลงการณ์ร่วมวันที่ 18 มิ.ย.2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จฮุน เซน นั้น มีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ยังมีเอกสารวิชาการที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศในช่วงดังกล่าว ยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย จึงเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น และน่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถลงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคล-พรรคการเมืองที่เคลื่อนไหว-เรียกร้อง-แสดงความเห็นเรื่อง MOU 44 และปมปัญหาพื้นที่อ้าวสิทธิไทย-กัมพูชา ที่ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยดูจะหวั่นไหวทางการเมืองขึ้นมาทันที ก็คือ
กลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ-เสื้อเหลือง
ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสั่นคลอนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตอนช่วงปี 2548-2549 ที่เกิดเป็นม็อบเสื้อเหลือง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากหอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สวนลุมพินี ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามหลวง ทำเนียบรัฐบาล จนสุดท้ายมาเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก่อนหน้าการนัดชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ เพียงวันเดียว รวมถึงการออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งของกลุ่มสนธิในช่วงรัฐบาลนอมินี สมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กลายเป็นม็อบแรกทางการเมืองที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล จนทำให้สมชาย น้องเขยทักษิณ กลายเป็นนายกฯ คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นนายกฯ แล้วไม่เคยได้เข้าทำเนียบรัฐบาลตอนเป็นนายกฯ
จนสุดท้าย รัฐบาลสมชายก็สิ้นสภาพจากผลคำตัดสินของศาล รธน.ในคดียุบพรรคพลังประชาชน และทำให้การชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรฯ ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยุติลงทันที
การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธิจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย ย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลเพื่อไทยในยุคที่ลูกสาวทักษิณ-แพทองธาร เป็นนายกฯ
แม้ในความเป็นจริงจะพบว่า บริบทการเมืองไทยยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ของแบบนี้ไม่ว่ารัฐบาลไหนย่อมไม่อยากให้มีม็อบการเมืองเกิดขึ้นกับรัฐบาลตัวเอง
ดังนั้น การไม่มีม็อบการเมืองที่มีข้อเรียกร้องในเชิงอยู่คนละฝั่งกับการทำงานหรือแนวทางของรัฐบาลเกิดขึ้นเลย จึงเป็นเรื่องที่คนในรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย ต้องการมากที่สุด เพื่อต้องการประคองเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่ได้ยาวนานที่สุดนั่นเอง
เมื่อตอนนี้ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ประกาศว่า วันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. จะเดินทางไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ยกเลิก MOU 2544 ด้วยเหตุผลว่า หากยังคงไว้แล้วไปเจรจากับกัมพูชา สุดท้ายเป็นห่วงว่าไทยจะสูญเสียอธิปไตยในอนาคต
“ผมไม่ได้บอกว่านำมวลชน แต่บอกสถานการณ์สุกงอมแล้ว ซึ่งคอยดูสถานการณ์ MOU 44 ที่ผมจะไปยื่นไม่ใช่ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คือหนังสือกล่าวหาไม่ใช่ร้องเรียน กล่าวหาพวกคุณว่ากำลังขายชาติขายแผ่นดินด้วย ถ้าผิดปกติเมื่อไหร่ นั่นคือการออกถนนของผม" สนธิกล่าว
มันจึงทำให้คนในฝ่ายเพื่อไทยดาหน้าออกมาดักคอการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนธิอย่างพร้อมเพรียง เพราะแม้การเคลื่อนไหวของสนธิรอบนี้ไม่ได้มีการนัดชุมนุม ไม่มีการบอกให้คนที่เห็นด้วยกับแนวทางของตัวเองเตรียมปักหลักพักค้าง แต่มันก็คงย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยอดหวั่นใจไม่ได้ว่า ไม่ชุมนุมตอนนี้ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าในอนาคตจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม
เหตุเพราะต้องไม่ลืมว่า ม็อบสนธิเคยออกมาเคลื่อนไหวปักหลักพักค้างข้างทำเนียบรัฐบาลตรงแถวหน้าถนนราชดำเนินใน หน้ากระทรวงศึกษาธิการ-ข้างๆ ตึกยูเอ็น ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องเวลานั้นก็คือ ให้ยกเลิก MOU 44 และต่อมารัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก และให้กระทรวงการต่างประเทศไปศึกษากระบวนการ แต่สุดท้ายด้วยสถานการณ์การเมืองช่วงนั้นที่มีม็อบเสื้อแดงชุมนุมต่อเนื่องในปี 2552-2553
ผนวกกับแรงกดดันทางการเมืองหลายอย่างในช่วงนั้น จนสุดท้าย อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งปี 2554
ดังนั้น ข้อเรียกร้องเรื่องให้ยกเลิก MOU 44 จึงเป็นเรื่องที่กลุ่มสนธิเคยเคลื่อนไหวมาก่อนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพียงแต่ว่าตอนนั้น ด้วยสถานการณ์หลายอย่าง เช่น ประเด็นที่เรียกร้องคือ MOU เป็นเรื่องที่เข้าใจยากในการสื่อสารปลุกเร้ามวลชนให้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวแบบยาวนาน แม้แต่กับปัจจุบันก็ตามที ว่ากันตามจริง ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจเรื่อง MOU 44 กันเท่าใดนัก
ผนวกกับกลุ่มเสื้อเหลืองเวลานั้น ส่วนใหญ่ก็สนับสนุนรัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่อต้านไม่เอาเสื้อแดง นปช. ที่กำลังไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่งผลให้ม็อบสนธิเวลานั้นขาดแนวร่วมอย่างมาก จนทุกวันนี้หลายคนเลยลืมไปแล้วว่าม็อบสนธิเคยออกมาชุมนุมเรื่อง MOU 44 มาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาคิดเคลื่อนไหวในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
กระนั้น หากรัฐบาลแพทองธาร ยังไม่ขยับอะไรในเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แหล่งพลังงานกับฮุน เซ็น-กัมพูชา และใช้วิธีให้กรรมการ JTC ที่จะตั้งขึ้นคอยรับหน้าเสื่อกับกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่อง MOU 44 แทนรัฐบาลไปพลางก่อน โดยเน้นวิธีเปิดห้องพูดคุย-รับข้อเสนอต่างๆ มันก็คงทำให้การจะนำประเด็นเรื่อง MOU 44-ประเทศ สุ่มเสี่ยงอาจเสียอธิปไตยทางทะเลใต้ เกาะกูด เพื่อสร้างกระแสนัดรวมพล-ก่อม็อบก็คงยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่เกิดเหตุให้เป็นชนวนที่ประชาชนไม่พอใจหรือคลางแคลงใจรัฐบาลได้
ซึ่งจุดนี้ อยู่ที่ตัวทักษิณ-แพทองธาร-พรรคเพื่อไทยเองว่า หากรัฐบาลจะมีการเจรจาต่อรองกับกัมพูชาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิ ก็ต้องทำโดยโปร่งใส ยึดเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และต้องไม่ทำให้เกิดข้อครหาทางการเมืองว่า ฝ่ายการเมือง-กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดพรรคเพื่อไทยได้ประโยชน์ทางธุรกิจพลังงาน แต่ทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงจะเกิดความเสียหายตามมาในอนาคต
ไม่เช่นนั้น สุดท้ายประวัติศาสตร์การเมืองอาจซ้ำรอยผู้นำประเทศตระกูล "ชินวัตร” เสี่ยงอยู่ไม่ครบเทอม และจบไม่สวย!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา! สรรพากร-สตง. สอบที่มาทรัพย์สิน 'นายกฯอิ๊งค์' รวยหมื่นล้าน
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นายกฯอุ๊งอิ๊ง ผวาที่มาทรัพย์สิน 1.3 หมื่นล้าน อาจถูกตรวจสอบที่มาของรายได้ และภาระภาษี 30%
เลิกเหนียม! ท่าที ‘ทักษิณ’ ชัด สะกิด ‘แพทองโพย’ ตั้งเป็น ‘นายกรัฐมนตรีอาวุโส’ เลย
จากคำปราศรัยและการตอบคำถามของผู้สื่อข่าว จะเห็นได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร คือนายกรัฐมนตรีตัวจริง จึงไม่จำเป็นต้องเหนียมอายอะไรอีกแล้ว
วีระ ข้องใจทักษิณประกาศไฟฟ้าปีนี้ต้องเห็นเลข 3 ถาม ลูกหรือพ่อเป็นนายกฯกันแน่?
วีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน แชร์โพสต์ของ Suthichai Yoon นำคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเวทีปราศรัย
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ