หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลคือ “เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์รับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านและสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์”
มิจฉาชีพแฝงอยู่ทุก แฟลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล เหยื่ออาชญากรรมหลายชีวิตต้องสังเวยโจรออนไลน์ วัคซีนไซเบอร์ การแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจกับภัยออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต่างเผยแพร่ให้ความรู้ วิธีการป้องการไม่ตกเป็นเหยื่อหลากหลายวิธี ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ แต่ถึงแม้กระนั้นยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อยอดพุ่งรายวัน
องค์ประกอบอาชญากรรมออนไลน์เกิดขึ้นจากทั้งตัวผู้เสียหายเอง ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงอยากมีรายได้เสริม ยอมควักเงินไปลงทุน ทำทุกอย่างที่เป็นรายได้ หรืออีกกลุ่มที่เกิดจาก ความโลภ อยากรวยเร็ว รวยทางลัด ไม่ศึกษาข้อมูลการลงทุนให้ละเอียดถ่องแท้ นึกถึงแต่ผลกำไรทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในกลอุบาย เช่นเดียวกันกับแก๊งมิจฉาชีพที่จ้องจะกอบโกย สร้างอุบายรายได้ผลตอบแทนที่สูงลิ่วสนองกิเลสตัณหา จนหลวมตัวเข้าไปอยู่ในวงจร
การลงทุนยุคโซเชียล หลายคดีที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ สะท้อนปัญหาภาพรวมหลายอย่างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมอ่อนแอ การเมือง เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอร์รัปชัน อย่างคดี “ดิไอคอน” สารตั้งต้นที่ต้องนำมาถอดบทเรียนเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน คดีนี้เริ่มนับหนึ่ง “คดีฉ้อโกง” ปัจจุบันมีผู้ตกเป็นเหยื่อจะทะลุหมื่นคน ความเสียหายเกือบ 3 พันล้านบาท ซึ่งก็เหมือนคดีทั่วไปที่บริษัทสร้างความน่าเชื่อถือโดยการนำดารา ศิลปิน ที่มีชื่อเสียงมาสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าตัวเอง
สุดท้ายชักชวนร่วมลงทุนเสนอค่าตอบแทนสูงลิ่ว ความอยากมีอยากได้ของคนก็คล้อยตามถลำลึก ยอมควักเงินลงทุนจากหลักพัน หลักหมื่น หลักแสนสู่หลักล้าน สุดท้ายสูญเงินกลายเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคมตามมา
คดีดิไอคอน ยังสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น แรกๆ มีผู้เสียหายเพียงไม่กี่คนที่ออกมาต่อสู้คดีด้วยตนเอง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบหาย เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ความสนใจ สำนวนคดีแทบไม่คืบหน้า ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ สคบ. พบว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกับ บ.ดิไอคอน ไปไม่ใช่น้อยเคส แต่ก็ถูกเก็บเข้าใต้ลิ้นชัก เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วประชาชนจะพึ่งใครได้
เจ้าหน้าที่รัฐพึ่งไม่ได้ หน้าสื่อออนไลน์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จึงเห็น “ทนาย” หรือหน่วยงานองค์กรมูลนิธิต่างๆ พาผู้เสียหายเข้าร้องขอความเป็นธรรม ใช้สื่อกระตุ้นตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็ได้ผล เมื่อถูกพาดพิงก็เต้นผางกุลีกุจออำนวยความสะดวกเหมือนแบบขอไปที แต่นั่นก็เป็นการเปิดหลุมให้พวก “ทนายหิวแสง” เรียกรับผลประโยชน์จากผู้เสียหายอีกทาง ผู้เสียหายโดนทั้งขึ้นทั้งร่อง เพราะอยู่ในสภาวะจำยอม
คดีนี้ตีแผ่สังคม ถลกหนังทนายหิวแสง-เจ้าของมูลนิธิ นักร้อง จนกลายเป็นผู้ต้องหาไปด้วย "นางฟ้า-เทวดา" ตกสวรรค์ อย่างนักร้องหญิง น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หรือ เจ๊พัช ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่าย-ออนไลน์ ที่ตอนแรกอ้างตัวเป็นหนึ่งในผู้เสียหายและอาสาช่วยเหยื่อ แต่กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหา “กรรโชกทรัพย์ และตัวกลางเรียกรับสินบน” จาก “บอสพอล” นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล มีหลักฐานเป็นเส้นเงินโอนเข้าบัญชีของมูลนิธิต่อต้านโกง-แชร์ลูกโซ่ “กฤษอนงค์ต้านโกง”
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันลุกลามถึงฟากฝั่งการเมือง เอื้อประโยชน์ดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ บุกจับ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตคนใกล้ชิดนักการเมืองพรรคดังและแม่ ข้อหา “ร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน” หลังมีคลิปเสียงสนทนากับผู้บริหาร บ.ดิไอคอนกรุ๊ป ต่อรองเงินเพื่อแลกกับการเคลียร์ปัญหา หลักฐานน็อกเอาต์เส้นเงินกว่า 100 ล้าน ไหลเข้าบัญชีของแม่นายสามารถ พรรคการเมืองดังต้องออกมาปัดพัลวันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรค โดยนายสามารถได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไปแล้ว
การดำเนินธุรกิจ บ.ดิไอคอน มูลค่านับหมื่นล้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษชี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ แล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนหน่วยงานรัฐ ทำไมเรื่องเงียบหาย ถ้าไม่มีแบล็กเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กจะสามารถทำธุรกิจได้หรือไม่ คดีนี้จะตัดจบแค่นายสามารถหรือไม่ หนึ่งในการตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างนำตัวส่งศาลโดยอ้างว่า “อยากพูด แต่พูดไม่ได้” อะไรหรือใคร ที่นายสามารถอ้างพูดไม่ได้ เชื่อว่า นายสามารถเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในกระดานเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับคดี “หมอบุญ” นพ.บุญ วนาสิน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน หลอกร่วมลงทุนโปรเจกต์เกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์ มูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท พฤติการณ์พื้นฐานอาชญากรรมทั่วไป สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองเผยแพร่ทางโซเชียล โดยมีกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และบุคลากรวงการแพทย์หลายร้อยคนเข้าร่วมลงทุน ด้วยความน่าเชื่อถือของสังคมเหยื่อตกหลุมพราง สุดท้ายไม่มีอยู่จริง บางรายสูญเงินไปเกือบ 100 ล้าน หลายรายเงินเก็บมาทั้งชีวิตหายวับไปกับตา คนร้ายเชิดเงินหลบหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นมหากาพย์คดีออนไลน์
กลโกงมิจฉาชีพปรับเปลี่ยนทุกวัน โจรย่อมเหนือกว่าเจ้าหน้าที่ครึ่งก้าว แต่ครึ่งก้าวนั้นสามารถป้องกันได้จากหนักให้เป็นเบา บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากเร่งปราบปรามมิจฉาชีพทุกกลโกงไม่ให้แฝงเข้ามาก่อเหตุได้ ต้องสกัดเหลือบไรที่มาในคราบนักบุญหากินบนหลังคนที่ได้รับความทุกข์ร้อน ต้องแยกปลาออกจากน้ำให้เร็วที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่