แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้หารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เพื่อ “รีเช็ก” ข้อมูลเดิมที่ ทร.ได้รวบรวมความคืบหน้า รวมไปถึงศึกษาและดูรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเจรจาเรื่องเครื่องยนต์ที่จีนไม่สามารถหามาติดตั้งได้ตามสัญญา
ที่สำคัญคือปัจจัยแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ในการขยายอิทธิพลในย่านนี้ของจีน และการประกาศชัดของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่ตอกย้ำทุกเวทีว่าจะเดินหน้าในการแบ่งทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา มีความผกผันระหว่าง 2 เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย และเอื้อให้รัฐบาลไทยอาจจะต้องเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” จนสุดทาง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีกระแสข่าวในทำนองว่า รัฐบาลอาจจะดำเนินกรรมวิธีต่างๆ ไม่ทันปลายปีนี้ ส่งผลให้ ทร.ไม่สามารถตั้งคำของบฯ ผูกพันโครงการเรือดำน้ำต่อในปี 2569 ได้ทัน โดยอาจจะมีการยกข้อติดขัดอันเกิดจากขั้นตอนของฝ่ายจีนเองในการทำคำสั่งซื้อเครื่องยนต์ที่ผลิตในจีนเองมาติดตั้งใน S26T ไม่ทันเดือน ธ.ค. เพราะกว่าจะรอมติ ครม.ของรัฐบาล ในการอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือไปลงนามแก้ไขสัญญาในการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีน และต้องมีการจัดทำเอกสารในรายละเอียด ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร พร้อมกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลจะเจรจาในการให้จีนรับซื้อสินค้าเกษตรของเราบางรายการอีกด้วย ซึ่งจะมีกระทรวงอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
ซึ่งนั่นน่าจะไม่ทันในงบฯ ปี 2569 และต้องเลื่อนไปตั้งในงบฯ ปี 2570 แทน และหากเป็นไปตามกระแสข่าวดังกล่าว ก็ต้องใช้เวลาในการขั้นตอนการต่อเรือพอสมควร ทำให้การส่งมอบอาจจะเลื่อนไปถึงปี 2574 และการขยายสัญญาก็ต้องมากกว่า 1,200 วัน มากกว่าเดิมที่ตั้งเอาไว้
ที่สำคัญ ทร.ก็หวั่นใจอยู่ไม่น้อยว่า “ท่าที” ของ รมว.กลาโหม ที่บอกว่าจะตัดสินใจเด็ดขาดในการเดินหน้า หรือยกเลิก ในยุคที่ตัวเองนั่งในตำแหน่งนี้ เป็นความตั้งใจจริงหรือไม่
ถึงกับมีการวิเคราะห์ว่า โครงการนี้เป็นเรื่อง “การเมือง” ที่เกิดมาในยุค ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม ยิ่งในปัจจุบันมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ส่งลูกพรรคมาซัดกับพรรคเพื่อไทย เดินหน้าตรวจสอบเรื่อง MOU44 ทุกวัน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ “ลุงอ้วน” จะมาต่อยอด ปิดงานให้
สอดรับกับสถานการณ์ในตอนนี้ ที่ยังไม่มีเค้าลางว่า “เรือดำน้ำ” จะเดินหน้า จนกว่าจะชัดเจนเมื่อกระทรวงกลาโหมดันเรื่องสู่การพิจารณาของ ครม.เป็นวาระอย่างเป็นรูปธรรม
กระแสข่าวในช่วงนี้จึงถูกประเมินจากคนใน ทร.ว่า เป็นแค่การ “เคาะกะลา” ให้ ทร.มีความหวัง และท้ายที่สุดอาจจะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายการเมือง “ปิดฉากเรือดำน้ำ” ในที่สุด ด้วยเหตุผลเรื่องสภาวะแวดล้อมวันข้างหน้าไม่ได้เอื้ออำนวย โดยเฉพาะเรื่องข้อจำกัดของงบประมาณและ สภาพเศรษฐกิจ
แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็อยู่ที่รัฐบาลและ รมว.กลาโหม จะเป็นผู้ชี้ชัดภายในปลายปีนี้ ว่าจะยกเลิก หรือไปต่อ
แต่ที่แน่นอนแล้วคือ แผนงบฯ ปี 2569 ทร.ได้จัดทำคำขออนุมัติหลักการจัดซื้อเรือฟริเกต 4 ลำ แบ่งเป็นงบประมาณในปี 2569 จำนวน 2 ลำ และในปี 2570 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นโครงการที่เลื่อนมาตั้งแต่การจัดทำงบฯ ปี 2568 และมีความจำเป็นต้องจัดหาเพื่อให้ทันกับแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผบ.ทร.ย้ำว่า ทร.จะจัดหาเรือเป็นชุด เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อมของกำลังพลในการออกปฏิบัติการ และอีกลำเพื่อใช้ในเรื่องของการส่งกำลังบำรุง ซึ่งปัจจุบัน ทร.มีเรือฟริเกต และเรือที่มีสมรรถนะเทียบเท่ารวมกัน 4 ลำ ได้แก่ รล.ภูมิพล รล.ตากสิน รล.นเรศวร รล.รัตนโกสินทร์ (เป็นเรือควอเว็ต แต่มีขีดความสามารถเทียบเท่า)
โดยตั้งงบฯ ผูกพันจำนวน 2 ลำ วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท (ลำละ 1.75 หมื่นล้าน) โดยใช้หลักการในเรื่องของ 0ffset policy เหมือนที่กองทัพอากาศจัดทำในโครงการจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทนกับทางสวีเดน เข้ามาดำเนินการเช่นกัน
ทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี และลงทุนในเรื่องของอู่ต่อเรือด้วย ระหว่างนี้ ทร.ยังมองหาการสนับสนุนจากรัฐบาลในการงดเว้นข้อกำหนด ระเบียบ ให้เอื้อต่อการส่งเสริมการลงทุน เพื่อดึงดูดให้บริษัทเอกชนสนใจจะได้เสนอตัวเข้ารับการคัดเลือก
ซึ่ง ทร.ก็มองบริษัทชั้นนำของโลกที่มีศักยภาพ เช่น จากเยอรมัน สเปน จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยโจทย์สำคัญในการดึงดูดให้บริษัทเข้ามาประกวดราคาคือ "ความคุ้มค่า" ในการลงทุนเรื่องการพัฒนาอู่ต่อเรือ จึงต้องเสนอจัดหาพร้อมกัน 2 ลำ
แต่สิ่งที่ไทยจะได้คือ การสร้างงานของแรงงานจำนวนมาก การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการต่อเรือให้กับเอกชนของไทย ที่จะเข้ามาเป็นซับคอนแทร็ก เช่น บริษัท เอเชี่ยนมารีน มาร์ซัน ซีเคส เป็นต้น โดยใช้อู่ราชนาวีมหิดลฯ ซึ่งเป็นอู่แห้งขนาดใหญ่ของ ทร. และเคยต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือโอพีวี อย่าง รล.กระบี่มาแล้ว เพื่อมาใช้เป็นอู่ฐานในการสร้าง โดยเจ้าหน้าที่ ทร.จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านนี้อีกด้วย
นอกจากนั้น ทิศทางในการเดินหน้าเรือฟริเกตยังค่อนข้างสดใสมากกว่าเรือดำน้ำ เพราะเป็นเค้กก้อนใหม่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ตัดริบบิ้น ไม่ใช่เค้กที่ค้างเติ่งมาตั้งแต่ยุคลุง
แต่ทั้งหมดจะมีความแน่นอนก็ต่อเมื่อ ครม.อนุมัติ และงบฯ ผ่านฉลุยแล้วเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ภูมิธรรม' อ้างเมียนมายังไม่ปล่อยตัว 4 ลูกเรือไทย อยู่ในกระบวนการ เชื่อได้กลับเร็วๆนี้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทย จากเดิมที่มีกำหนดจะปล่อยตัววันนี้ ว่า
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
'ภูมิธรรม' สั่ง ศปช. ถอดบทเรียนน้ำท่วมดินถล่มเชียงราย ทำแผนแม่บทเสนอนายกฯ
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศปช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ