ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โดยมีข่าวว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะนำชื่อของนายกิตติรัตน์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้

แต่ความพยายามในการคัดค้านหรือสกัดนายกิตติรัตน์ยังไม่สิ้นสุด ล่าสุด นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เข้ามาในรั้วทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านชื่อของอดีต รมว.คลังรายนี้ โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ

นายสมคิดระบุว่า จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้นายกฯ ก่อนที่จะมีการประชุม ครม.ในวันอังคารที่ 19 พ.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ คปท.คัดค้านคือ นายกิตติรัตน์ยังพ้นจากการเป็นข้าราชการการเมืองไม่ถึง 1 ปี ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

นายพิชิตมีการยกความเห็นของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยตีความคำว่า “ข้าราชการการเมือง” และ “ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง” หรือ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” เอาไว้ท่อนหนึ่งว่า

 “ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง” หรือ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” รวมทั้งถ้อยคำอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ข้าราชการการเมือง” โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

พร้อมกับหยิบอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 234/2566 ที่นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงนามแต่งตั้งนายกิตติรัตน์เป็น ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาเทียบเคียง

อย่างเช่น ในวรรคแรกของคำสั่งนายกฯ ที่ระบุว่า “เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534  ท่อนนี้ทำให้นายพิชิต ชี้ว่า นายกิตติรัตน์เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

หรือในคำสั่งนายกฯ ที่ระบุว่า “ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อกาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี” ซึ่งนายพิชิตระบุว่า เป็นการสั่งให้หน่วยงานราชการให้ความร่วมมือนายกิตติรัตน์ และยังสามารถเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินตามระเบียบราชการ

จึงอาจเข้าข่าย “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

แกนนำ คปท.ยังประกาศจะไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตตรงนี้ของ คปท.ก็มีรายงานว่า คณะกรรมการคัดเลือกที่มี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานได้หยิบบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้มาพิจารณาแล้วเช่นกัน ก่อนจะตีตกไป เพราะมองว่านายกิตติรัตน์ไม่ได้เข้าข่าย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ซึ่งเป็นการตีความคนละมุม

นอกจาก คปท.ที่เคลื่อนไหว เมื่อสัปดาห์ก่อน กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่มีจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคการเมือง และรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล ขอให้ไม่เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือก

แต่ดูแล้วการหยุดยั้งครั้งนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะก่อนหน้านี้มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติออกหน้าคัดค้านมากมาย แต่ไม่ได้ผล

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเลือกนายกิตติรัตน์ ครั้งนี้ น่าจะมี ธง ที่ชัดแล้วว่า ให้ลุยฝ่า ไม่เช่นนั้นคงไม่ตัดสินใจลุยไฟ เห็นชอบชื่อนายกิตติรัตน์ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. ทั้งที่ยังมีแรงต้านสูงอยู่

แสดงว่า มีความมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ลุกลามใหญ่โตจนเป็นม็อบการเมือง

อีกอย่าง ถ้าดูจากปฏิบัติการเข็น เสี่ยโต้ง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ตั้งแต่การทำอะไรลับๆ ล่อๆ ตลอดจนการสั่งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรูปซิปปากในเรื่องนี้ภายหลังจากชื่อของนายกิตติรัตน์ผ่านความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้เรื่องเงียบที่สุดและซาไปเอง ก็น่าจะชัดเจนว่า ไปสุดทาง ไม่มีอะไรมาขวางได้

อยู่ที่ว่า จะมีการนำเข้า ครม.เมื่อไหร่เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน

จี้ 'พิชัย' พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ความผิดสำเร็จ เสนอชื่อ 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัติเป็นปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ระบุว่า ไม่รอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ เพราะนั่งที่ปรึกษาของนายกฯ

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

'วังบางขุนพรหม' ฝุ่นตลบ! อีกหนึ่งตัวเต็งส่อวืดเสียบแทน 'กิตติรัตน์' นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดธปท.กล่าวถึงกรระแสข่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ มีความเห็นเบื้องต้นว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

เลขาฯกฤษฎีกา ยันยังไม่มีข้อสรุป ปม 'กิตติรัตน์' ประชุมพรุ่งนี้อีกรอบ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา

เลขาฯกฤษฎีกา ชิ่งตอบสื่อ ปม 'กิตติรัตน์' ไม่ผ่านคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีให้ความเห็นเรื่องนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย