ความจริงกำลังไล่ล่า2พ่อ-ลูก ยื้อเวลารอวันชี้ชะตาทั้งขบวนการ

มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลในระยะเวลาอันใกล้ กรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ

โดยในวันพุธที่ 13 พ.ย. หรือไม่ก็เป็นวันพุธที่ 20 พ.ย. ต้องจับตา ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณารับคำร้องหรือไม่

หลังจากศาล รธน.มีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ที่นายธีรยุทธเคยร้องอัยการสูงสุดไปก่อนหน้าที่จะมายื่นศาล รธน. ซึ่งในวันที่ 11 พ.ย.นี้ จะครบกำหนด 15 วัน ที่ศาลให้อัยการสูงสุดแจ้งการดำเนินการคำร้องคดีดังกล่าวมายังศาล รธน.

ทางคณะทำงานของอัยการสูงสุดได้ซักถามรายละเอียดใน 6 ประเด็น ที่ได้เคยยื่นต่ออัยการสูงสุด และต่อมาไปยื่นต่อศาล รธน. โดยเฉพาะประเด็นที่สอง เรื่องผู้ถูกร้องที่ 1 กับกรณี MOU 2544 และเกาะกูด นายธีรยุทธ ได้แจ้งกับอัยการเพิ่มเติมประเด็นที่่นายทักษิณไปร่วมคิดกับผู้นำประเทศกัมพูชา โดยอ้างเรื่อง พื้นที่ทับซ้อน แล้วต่อมาไปพูดในงานของสื่อมวลชนแห่งหนึ่งในลักษณะการแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะมีการรื้อฟื้นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา และต่อมาพบว่า นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร นำเรื่องดังกล่าวไปบรรจุเป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

นายธีรยุทธ ระบุว่า การประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยเมื่อปี 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงใช้พระราชอำนาจประกาศเขตไหล่ทวีปเป็นอธิปไตยของประเทศไทย ที่บริเวณเกาะกูด ซึ่งมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเวลานั้นก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ   และปัจจุบันนายกฯ คือ น.ส.แพทองธาร จะต้องเป็นผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ไปเร่งรัดให้มีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ที่อาจกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ 

"ผมได้ส่งเอกสารผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในอดีต ที่เคยวินิจฉัยชัดเจนว่า การทำหนังสือสัญญาใดกับนานาประเทศ หากหนังสือสัญญานั้น มีบทที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออธิปไตยแห่งรัฐ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจแห่งรัฐ  หนังสือสัญญานั้น อยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หมายถึงว่าการใดที่คณะรัฐบาล หรือรัฐมนตรี หรือนายกฯ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าผู้ใดผู้หนึ่งหรือทั้งคณะ จะได้ร่วมกันกระทำการอย่างใดอันอาจส่อไปในทางทำให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการปกครองอธิปไตยแห่งรัฐบริเวณเกาะกูด รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ในบริเวณน่านน้ำตรงเกาะกูด ก็อาจก้าวล่วงกระทบกระเทือนต่อพระยุคลบาท และอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ การกระทำเช่นนี้ซึ่งยังกระทำการต่อเนื่องอยู่มาโดยตลอด เห็นว่าเข้าข่ายเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ฯ”

ข้อกล่าวหาที่นายธีรยุทธยื่นเพิ่มเติมถือว่าเป็นประเด็นที่ฉกาจฉกรรจ์และแหลมคมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนและการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระราชอำนาจ เป็นเรื่องที่คนไทยผู้รักชาติบ้านเมืองไม่อาจทนได้     

เรื่อง MOU 2544 และ เกาะกูด กำลังประเด็นร้อนสำหรับรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ถึงกับเรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นในทิศทางเดียวกัน ก่อนออกมาแถลงถึงจุดยืนของรัฐบาล ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็ตั้งโต๊ะชี้แจงเช่นกัน แต่ก็ยังไม่สิ้นสงสัย

เนื่องจาก MOU 2544 ไทยกับกัมพูชาใช้กฎหมายคนละฉบับ โดยไทยใช้กฎหมายทางทะเล ตามสหประชาชาติ และยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) แต่กัมพูชาไม่ยอมรับ UNCLOS และกำหนดแผนที่ “เส้นเขตไหล่ทวีป” โดยลากเส้นจากหลักเขตที่ 73 มาประชิดเกาะกูด แล้วอ้อมตัวเกาะไปด้านล่าง  แล้ววกกลับมาเป็นรูปตัว U ปรากฏตามแผนที่แนบท้าย MOU 44 กลายเป็นจุดเริ่มของการเกิด "พื้นที่ทับซ้อน"  

การที่รัฐบาลยืนยันไม่ยกเลิก MOU 44 โดยอ้างกลัวจะถูกฟ้องนั้น ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติ ครม.เสนอให้ยกเลิก MOU แล้ว ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาเห็นชอบแต่ยุบสภาไปก่อน ขณะที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงยืนยันว่า ยกเลิก MOU ฝ่ายเดียวได้แล้วทำฉบับใหม่ให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากทำผิดกติกาสากล สอดรับกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ที่ประกาศล่า 1 แสนรายชื่อคนคลั่งชาติ ยกเลิก MOU 44

แม้ น.ส.แพทองธาร และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ซึ่งคาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ออกมายืนยันอีกครั้งว่า ต้องเจรจาเขตแดนให้ชัดก่อนเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางทะเลแล้วนำเข้ารัฐสภา

แต่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกฯ ได้มีการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชาแล้ว แต่กัมพูชาขอให้ไทยรับรองเขตแดนทางทะเลของกัมพูชา ตามเอกสารประกาศเขตแดนฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2515 ที่ลากเส้นผ่ากึ่งกลางเกาะกูด ทำให้ฝ่ายไทยยุติการเจรจา และก็ไม่มีการเจรจาอีก

ถามว่า แล้วรัฐบาลแพทองธารจะเจรจาอย่างไรไม่ให้ไทยเสียเปรียบ ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากนายทักษิณเคยได้รับแต่งตั้งจาก สมเด็จฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา และหลังนายทักษิณได้รับการพักโทษ สมเด็จฮุน เซน ก็มาเยี่ยมถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า

นายธีรยุทธ ยังเปิดเผยถึงการให้ถ้อยคำอัยการได้ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไปนอนที่ รพ.ตำรวจ ชั้น 14 เพราะอย่างในคำร้องที่ยื่นศาลได้เขียนไว้ว่า จะมีพยานบุคคลที่จะส่งชื่อในบัญชีพยานต่อศาล รธน. หรืออย่างกรณีที่แกนนำพรรคการเมืองไปคุยกันที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 14 ส.ค. เราก็มีพยานบุคคลที่จะนำเสนอต่อศาล รธน.ด้วย ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เคยบอกว่าเคยไปพบเยี่ยมเยียนที่ รพ.ตำรวจ หรือในรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ก็ระบุชัดเจนว่า เชื่อว่าไม่ได้ป่วยถึงขั้นวิกฤต และมีการเอื้อประโยชน์กันในกลุ่มเจ้าหน้าที่เพื่อให้ผู้ถูกร้องได้พักอาศัยที่ชั้น 14

ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ที่มี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวเข้ามาให้ข้อเท็จจริงด้านกระบวนการยุติธรรมที่นายทักษิณพักรักษาตัวที่ชั้น 14 ซึ่งมี นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์, พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ มาร่วมประชุมด้วย

โดย กมธ.พบพิรุธว่า ระยะเวลาตั้งแต่ น.ช.ทักษิณไปถึงสถานพยาบาล และพิจารณาหารือกับพยาบาลที่ได้ปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์แล้วส่งต่อไปยัง รพ.ตำรวจ ใช้เวลาเพียง 21 นาทีเท่านั้น ระยะเวลาในการวินิจฉัยโรคมีแค่เพียง 4 นาที ส่วน เวชระเบียน ข้อมูลการรักษา ไม่มีใครตอบได้ และไม่มีหน่วยงานใดยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินให้ น.ช.ทักษิณ พักรักษาตัวนอกเรือนจำ ต่อเนื่องยาวนานถึง 181 วัน

ส่วนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอ เวชระเบียน การรักษาตัวของนายทักษิณจาก รพ.ตำรวจ 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับ หน่วยงานที่รับผิดชอบก็โยนกันไปมา ขณะที่ นายกฯ อิ๊งค์ ยก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) มาปกป้องพ่อตัวเอง ยิ่งทำให้น่าสงสัยว่าหากป่วยร้ายแรงจริง เปิดเผยให้สังคมเห็นก็จบไปแล้ว

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยื้อเวลาออกไป แต่ภาคประชาชนก็ไล่บี้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำหน้าที่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 34 บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น มาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน และให้บุคคลใดมาให้ถ้อยคํา หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ มาเพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงเลขาธิการแพทยสภา ขอให้ตรวจสอบนายแพทย์ที่ รพ.ราชทัณฑ์และ รพ.ตำรวจ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมและกฎเกณฑ์ทางจรรยาบรรณเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ น.ช.ทักษิณ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกแพทยสภา ขอติดตามผลการร้องเรียนตรวจสอบผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ครั้งที่ 2 ซึ่งระยะเวลาล่วงเลยมา 11 เดือน

อดีตเลขาธิการแพทยสภาท่านหนึ่งระบุว่า   กระบวนการพิจารณาจริยธรรมของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของคณะกรรมการแพทยสภานั้น น่าจะได้ข้อสรุปแล้ว เพราะระยะเวลาเนิ่นนานมาพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ หากมีแพทย์คนใดกล้าประพฤติผิดทางจริยธรรม บันทึกเวชระเบียนอันเป็นเท็จ ไม่เพียงแต่ถูกแพทยสภาลงโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพิกถอนใบอนุญาตฯ แล้วอาจต้องรับโทษในคดีอาญาอีกด้วย

กรณี นักโทษเทวดา ชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หนีความจริงไม่พ้น หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องโดนข้อกล่าวหาละเว้นหน้าที่ตาม ม.157 ส่วน น.ช.ทักษิณ จัดฉาก ป่วยทิพย์ ออกจากเรือนจำไปนอนอยู่ที่ รพ.ตำรวจโดยมิชอบ เท่ากับว่า หนีคุก โดยการสมคบคิดของกรมราชทัณฑ์กับ รพ.ตำรวจ ต้องกลับมารับโทษจริง 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ประเด็นที่ นายธีรยุทธ ยื่นศาล รธน. มีความเกาะเกี่ยวร้อยรัดเป็นห่วงโซ่กันอยู่ ที่จะเชื่อมโยงว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางอื่นที่ไม่ได้ปรากฏใน รธน.

ดังนั้น หากศาล รธน.รับคำร้อง และนายธีรยุทธให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ย่อมจะส่งผลต่อคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่จะออกมาในทิศทางที่ไม่เป็นคุณกับนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย จะเป็นการชี้ชะตา ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย-รัฐบาลแพทองธาร และขบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘ทักษิณ’ ยังขลัง ‘กานต์' ทิ้งห่าง น้องสะใภ้เสี่ยแป้งมัน นั่ง นายก อบจ.อุบลราชธานี

ทักษิณ ยังขลัง บ้านใหญ่ กัลป์ตินันท์ กานต์ อดีตนายก อบจ อุบล ฯนำห่าง น้องสะใภ้ เสี่ยแป้งมันหมื่นล้าน หวังศุภกิจโกศล ส่วนพรรคส้ม หมดลุ้น ตั้งแต่ออกสตาร์ท

‘พท.’ เปิดตัว ‘สลักจฤฎดิ์’ ลง นายก อบจ.เชียงราย โชว์เปิดวิดีโอ ‘ทักษิณ’ หนุนเต็มที่

พรรคเพื่อไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและสมาชิก อบจ.เชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย

พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้

พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ

แก้วสรร : หลักคิดทางกฎหมายเรื่องอำนาจบริหารโทษของราชทัณฑ์

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า