หลังรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการแก้ไขปัญหาของประเทศหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เป็นทั้งปัญหาเก่าสะสมมายาวนาน และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยโลกหลายด้านที่ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยให้นายกฯ อิ๊งค์ต้องรับมือ
รวมถึงสถานการณ์โลกที่ล่าสุด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดย “นักวิเคราะห์” มองว่า จะเกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐรุนแรงขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เพราะจะกระทบการส่งออกไทยไปในตลาดจีนและสหรัฐ รวมถึงประเทศอื่นด้วย
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จีนจะส่งสินค้าเข้าไทยเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิต ไทยจำเป็นจะต้องมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของแผนการลงทุน การสร้างสัมพันธ์อันดี และตลาดที่จะรองรับ
ขณะที่ยังมีปัญหาค่าเงินบาท และปัญหาเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดการณ์จะขยายตัว 3% ส่วนในปี 2567 เติบโต 2.6-2.8% ดังนั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องเร่งออกมาตรการช่วงปลายปีให้มีแรงส่งต่อเนื่อง เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว Easy E-Receipt จะทำให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 5-6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ นายกฯ อิ๊งค์ ยอมรับเองว่า “เศรษฐกิจไทยรอบนี้เจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน และความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก ดังนั้นต้องแก้ไขส่วนที่เป็นปัญหาสะสม พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น”
โดยช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ก้าวแรก “รัฐบาลแพทองธาร” เข้ามาทำหน้าที่ ได้เร่งอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเนื้องานและนโยบายต่างๆ เป็นการสานต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี จึงสามารถทำได้ทันที
ซึ่งกลไกสำคัญในการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 3 เดือน คือการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทในกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก หรือโครงการเงินหมื่นฟื้นเศรษฐกิจ ในห้วงเวลา 5 เดือนในการใช้จ่าย ที่รัฐบาลเคลมไว้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ 1.1 แสนล้าน
และนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับ 10 นโยบายเร่งด่วนพร้อมทำทันทีที่ “แพทองธาร” ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาว่าเป็นนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งต้องยอมรับว่าแจกเงินหมื่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในห้วงปัจจุบันได้เพียงระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ เครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือ “การใช้จ่ายของภาครัฐ” โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า นัดล่าสุดที่กระทรวงการคลัง นายกฯ อิ๊งค์ได้กำชับส่วนราชการด้วยว่า “เครื่องมือที่สำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีมูลค่าถึง 9.6 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ขอให้ทุกคนในฐานะผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน ร่วมกันผลักเม็ดเงินการลงทุนทุกบาทลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างจีดีพีให้ประเทศ และสร้างรายได้ให้กับประชาชน”
ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังได้ดึงอีกกลไกสำคัญเข้าร่วม คือ “ภาคเอกชน” โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศ
โดยนายกฯ รับข้อเสนอ 4 ประเด็นสำคัญในสมุดปกขาว กกร. คือ 1.การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ 2.การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 3.การบริหารจัดการน้ำ และ 4.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากกลไกความร่วมมือในประเทศแล้ว นายกฯ อิ๊งค์ยังเดินสายสานสัมพันธ์ในเวทีโลกเพื่อดึงดูดด้านการลงทุนจากต่างชาติเข้าไทย โดยใช้โอกาสหารือทวิภาคีกับผู้นำชาติต่างๆ และห้วงเวลาต่อจากนี้ต้องจับตาการเดินทางเยือนนครลอสแองเจลิส สหรัฐ และการเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 31
และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ 10-18 พฤศจิกายน 2567 ที่นายกฯ จะใช้โอกาสขายของให้มากที่สุด ซึ่งหากขายได้ก็จะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนของประเทศไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการและกลไกสำคัญที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนประเทศข้างต้นแล้ว นายกฯ ยังมีทีมกุนซือคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่รวมพลผู้มากประสบการณ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไว้ทั้งสิ้น
ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษา ซึ่งคาดว่าทีมนี้จะมีส่วนสำคัญช่วยเสนอแนะนโยบายด้านต่างๆ กับนายกฯ หญิงได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าประเทศของ “รัฐบาลอิ๊งค์” แม้เวลานี้ไม่มีอะไรทำให้สะดุด ด้วยเวลาเข้ามาเพียงไม่กี่เดือนที่ต้องให้เวลาในการทำงาน แต่โจทย์ใหญ่ในการกู้สัญญาณชีพเศรษฐกิจไทยต้องเร่งเครื่องต่อไปไม่หยุด และหากทำสำเร็จได้ในรัฐบาลนี้ จะถือเป็นอีกผลงานเรือธงไว้เก็บแต้มในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีกด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
นายกฯอิ๊งค์ แถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 100 วันจะเป็นช่วงใด ว่า ประมาณเดือน ธ.ค.
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.
‘อิ๊งค์’ตีปี๊บผลงาน100วัน
“นายกฯ อิ๊งค์” ต่อสายยินดี “ทรัมป์” พร้อมชวนมาเมืองไทย นายกฯ
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567