การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
1.เพื่อซื้อเวลาในการตัดสินใจลงมติของคณะกรรมการฯ หลังกระแสต่อต้านคัดค้านไม่ให้กรรมการเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.การคลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-อดีตประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) เป็นประธานบอร์ด ธปท. แรงขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งแม้ต่อให้เสียงส่วนใหญ่ของกรรมการคัดเลือก 7 คน เห็นว่า กิตติรัตน์ ที่ชื่อส่งมาโดยกระทรวงการคลัง เหมาะสมที่สุดในบรรดาแคนดิเดตที่ส่งชื่อมา 3 คน ยังไงสังคมภายนอกต้องมองว่ากรรมการเลือกตาม ใบสั่งจากฝ่ายการเมือง กระแสสังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์กรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นระดับอดีตข้าราชการระดับสูงอย่างหนัก ที่จะเป็นการ เปลืองตัว เสียเครดิตความน่าเชื่อถือ เลยใช้วิธีเลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพื่อรอดูกระแสสังคมไปอีก 1 สัปดาห์ และอาจใช้ช่วง 1 สัปดาห์ดังกล่าวประสานไปยังฝ่ายการเมืองในกระทรวงการคลัง ขอให้เปลี่ยนชื่อ คือเอาชื่ออื่นส่งมาแทนกิตติรัตน์ เพราะเรื่องจะให้กิตติรัตน์ถอนตัวไปเอง ดูเหมือนว่าน่าจะยาก เพราะหากกิตติรัตน์จะถอนตัวคงถอนไปนานแล้ว
จนมีกระแสข่าวว่า ชื่อที่ฝ่ายการเมืองใน ก.การคลังจะส่งมาแทนคือ พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เป็นอดีตลูกหม้อ ก.การคลังมาก่อน จนขึ้นถึงระดับฝ่ายบริหารของกระทรวงหลายหน่วยงาน เช่น ผอ.สำนักบริหารหนี้สาธารณะ-อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง-อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต-อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง รวมถึงการเป็นบอร์ดหลายหน่วยงาน เช่น กรรมการบริษัท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ที่ในยุค คสช.ขึ้นไปเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ แต่ลาออกในยุคที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็น รมว.การท่องเที่ยวฯ ในช่วง 10 เดือนก่อนเกษียณ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าทำงานไม่เข้าขากัน และต่อมาได้เข้าไปอยู่บริษัทเอกชนหลายแห่ง และหนึ่งในนั้นคือบริษัทในเครือของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ด้วย แสดงให้เห็นว่าคอนเนกชันไม่ธรรมดา
ร่ำลือในแวดวงการเมืองว่า พงษ์ภาณุมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนตั้งแต่ยังเป็นระดับ 10 ในกระทรวงการคลัง เช่น กิตติรัตน์ ในสมัยเป็น รมว.การคลัง, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สายตรงจันทร์ส่องหล้า และอดีต รมว.การคลัง, พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ และอดีต รมช.การคลัง, พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม เป็นต้น
ซึ่งหากสุดท้ายกระแสข่าวดังกล่าวเป็นความจริง คือเพื่อไทย-คลัง เปลี่ยนไพ่เล่น คือเปลี่ยนตัวจากกิตติรัตน์ มาเป็น พงษ์ภาณุ ฝ่ายการเมืองในเพื่อไทยก็น่าจะพอใจ เพราะถือว่าเป็นคนที่มีความคุ้นเคยกันดี อีกทั้งแรงต้านน่าจะน้อยกว่ากิตติรัตน์ เพราะกิตติรัตน์ ภาพชัดมาตลอดว่าเป็นคนการเมืองของเพื่อไทย ขณะที่พงษ์ภาณุ แม้จะสนิทกับคนเพื่อไทย แต่ก็มีระยะห่าง และไม่เคยเข้ามาทำงานการเมืองกับเพื่อไทย
และนั่นจะทำให้พงษ์ภาณุ ที่เดิมถูกเสนอชื่อให้เข้าไปเป็นกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่กระทรวงการคลังเสนอชื่อไป พร้อมกับพรอนงค์ บุษราตระกูล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อให้เข้าไปเป็นบอร์ด ธปท.แทนมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง และนนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ ก.พ.ที่หมดวาระ
แบบนี้เท่ากับพงษ์ภาณุได้พาสชั้นจากบอร์ด ธปท. เป็นประธานบอร์ด ธปท. ส่วนกิตติรัตน์ก็พลาดเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท. ที่จะมาช่วยเติมโปรไฟล์การเมืองให้กับตัวเอง
ที่ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายการเมืองในเพื่อไทยจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะข่าวบางกระแสลือกันว่า กิตติรัตน์ที่ได้รับการผลักดันรอบนี้ก็มาจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร-เศรษฐา ทวีสิน ที่ขอให้พิชัย ชุณหวชิร รมว.การคลัง ในโควตายิ่งลักษณ์ เสนอชื่อกิตติรัตน์ เพื่อนรักยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่สมัยยิ่งลักษณ์เป็นประธานเอไอเอส-เอสซีแอสเซทฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เสี่ยโต้งเคยเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ มาก่อน เพื่อต้องการให้กิตติรัตน์มีตำแหน่งทางการเมือง
เพราะหลังกิตติรัตน์ปลดล็อกจากคดีขายข้าวบูล็อก อินโดนีเซีย ที่ศาลฎีกาฯ ยกฟ้องเมื่อ ก.ค.2567 ถึงตอนนี้กิตติรัตน์ก็ยังไม่มีตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เป็นที่รู้กันดี "จันทร์ส่องหล้า-ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ LIKE เสี่ยโต้ง กิตติรัตน์ มาตลอด เลยทำให้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
จนยิ่งลักษณ์-เศรษฐา-พิชัย ที่อยู่กลุ่มเดียวกัน ต้องมาดันให้เป็นประธานบอร์ด ธปท.แทน แต่สุดท้ายเจอแรงต้านทั่วทิศอย่างที่เห็น ซึ่งฝ่ายการเมืองเพื่อไทยต้องคิดเหมือนกันว่า หากจะดันกิตติรัตน์ต่อไปคงไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลเอง สู้เปลี่ยนไพ่ใหม่ เอาคนอื่นอย่าง พงษ์ภาณุ มาแทนตามกระแสข่าวอาจจะดีกว่า
สอง อาจเพราะคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับตัวกิตติรัตน์
เนื่องจากคดีขายข้าวบูล็อกยังไม่สิ้นกระแสความ เพราะแม้ศาลฎีกาฯ จะยกฟ้องกิตติรัตน์ไปแล้ว แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้อุทธรณ์คดี ทำให้มีการส่งมติและสำนวนไปที่อัยการสูงสุด ทำให้แม้ก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดคนที่แล้ว อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ จะไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่เมื่อ ป.ป.ช.มีมติเช่นนี้ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ ต้องมาพิจารณาว่าจะยื่นหรือไม่ ซึ่งแม้ต่อให้อัยการสูงสุดไม่ยื่นอุทธรณ์ แต่ ป.ป.ช.ก็อุทธรณ์คดีเองได้ ทำให้หากมีการยื่นอุทธรณ์ไป ยังไงศาลฎีกาฯ ต้องรับฟ้องแน่นอน และอาจจะมีคำสั่งให้กิตติรัตน์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ ซึ่งส่วนใหญ่คดีแบบนี้ ศาลฎีกาฯ น่าจะใช้เวลาพิจารณาเร็วสุดก็ 1 ปี
ดังนั้น หากนายกิตติรัตน์ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจมีปัญหาต่อการทำงานในตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ได้ และกรรมการสรรหาฯ อาจถูกตำหนิได้ว่าเลือกกิตติรัตน์มาเป็นประธานบอร์ด ธปท. ทั้งที่รู้ว่ายังมีปัญหาเรื่องคดีความที่ยังไม่สิ้นสุดอยู่
จุดนี้ถูกมองว่าอาจทำให้กรรมการสรรหาฯ เลยเลื่อนการประชุมออกไป เพื่ออาจไปขอความชัดเจนจาก ป.ป.ช.-สำนักงานอัยการสูงสุดก่อนว่าคดีดังกล่าวไปถึงขั้นไหน และจะมีผลอย่างไรต่อไปในอนาคต จนสุดท้ายเลยเลื่อนการประชุมออกไปก็ได้
สุดท้ายแล้วต้องรอดูการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. วันที่ 11 พ.ย.นี้ ว่าจะเลื่อนการลงมติอีกหรือไม่ หลังเลื่อนมาแล้ว 2 รอบ หากเลื่อนอีกเป็นรอบที่ 3 ไม่ยอมตัดสินใจใดๆ กรรมการคัดเลือกทั้ง 7 คนก็น่าจะถอนตัว-ลาออกไปเลยดีกว่า!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.