เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

“ความไม่ชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU44) ถูกปลุกขึ้นมาว่าสุ่มเสี่ยงจะทำให้เสียเกาะกูด จ.ตราด และไทยเสียดินแดนหรือไม่ บนเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่าทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร บนสายสัมพันธ์แนบแน่นของระบอบ ชินวัตร-ฮุน เซน ใช่หรือไม่"

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ 19.08 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568) ร้อยละ 11.99 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ขณะที่ร้อยละ 41.68 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570 

แม้รัฐบาลจะมีเสียงในสภาสนับสนุนกว่า 320 เสียง จึงวางใจไม่ได้ เพราะหากประเมินสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ปรากฏว่ามีศัตรูหน้าเก่า หน้าใหม่ รวมถึงที่มองเห็นและไม่เห็นกำลังเปิดศึกไล่ล่าทุกทิศ 

นำไปสู่จุดเสี่ยง จุดตายไว้หลายประเด็น ซึ่งบางประเด็นอาจถึงขั้นล้มรัฐบาล ขณะที่บางเรื่องอาจเป็นสารตั้งต้นไปสู่การเซาะกร่อนบ่อนทำลายได้ในที่สุดเมื่อทุกอย่างสุกงอม   

เริ่มที่ “ความน่าเชื่อถือ” ของรัฐบาลนี้ถึงขั้นติดลบ นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยไม่ตรงปก อาทิ ดิจิทัลวอลเล็ต ที่คนไทยทั้งประเทศไม่ได้เงินหมื่นทั่วหน้า

ที่ผ่านมาเฟสแรกก็ไม่สามารถสร้างพายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่คุยโวไว้ ส่วนเฟสสองต้องลุ้นคว่ำลุ้นหงาย เพราะยังหาเงินไม่ได้

ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญส่อเค้าจะเป็นหมัน บนข้อสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยมีความจริงใจหรือไม่ หรือแค่ต้องการนำเรื่องนี้มาเป็นตัวประกันเพื่อยื้อให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม   

ขณะที่การนิรโทษกรรมก็ไม่กล้าแตะมาตรา 112 แตกต่างจากที่พรรคเพื่อไทย นำโดย เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ หรือ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในสมัยหาเสียง เคยระบุว่าจะต้องมีการนำไปพูดคุยในสภา เรื่องนี้ทำให้เสียมวลชนและแต้มทางการเมืองอย่างชัดเจน 

ไม่นับการจัดตั้งรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าตระบัดสัตย์จับมือพรรคสองลุง ต่อมายังประสานประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ที่เคยเป็นคู่อาฆาตและขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปใช้ชีวิตต่างประเทศ 

รวมถึงกรณีการทำลายกระบวนการยุติธรรมของนักโทษเทวดาชั้น 14 และกรณีตากใบ ที่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ ล้วนทำให้เกิดสภาวะล้มละลายทางความน่าเชื่อถือทั้งสิ้น 

เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่นายกฯ หญิงเคยสัญญาจะขจัดความยากจนให้หมดไปภายในระยะเวลาที่เหลือของรัฐบาลไม่ถึง 3 ปี 

แต่กลับมีข้อมูลสวนทางจาก ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า เศรษฐกิจไทยโตน้อยมา 2 ปีแล้ว ปี 2565 จีดีพีโต 2.6% ลดลงเป็น 1.9% ในปี 2566 และปี 2567 คนลดการลงทุนถึง 20% ของจีดีพีเลยทีเดียว 

เรื่องนี้แม้จะยังไม่ใช่จุดตายแบบเฉียบพลัน แต่ก็เซาะกร่อนบ่อนทำลายรัฐบาลลูกทักษิณจนหมดความชอบธรรมไปเรื่อยๆ และอาจมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

ด้านปัญหาพรรคร่วมรัฐบาล ที่หลายพรรคเป็นคนละอุดมการณ์ มีเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกัน และที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยก็ถูกขวางหลายเรื่อง วิจารณ์กันว่าอาจเป็นเหตุให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม 

แต่หากประเมินอีกด้าน การขวางของพรรคร่วมฯ ถือเป็นการช่วยประคองและคานอำนาจพรรคเพื่อไทยเพื่อให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม 

เพราะท้ายสุด เชื่อว่าทุกเรื่องที่เห็นต่าง แต่ก็จบไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกพรรคยังไม่พร้อมเลือกตั้งสู้กับพลังส้ม เนื่องจากปีเศษที่เป็นรัฐบาล วุ่นวายแต่กับการแก้ปัญหาเรื่องการเมือง ขณะที่พรรครัฐบาลยังไม่ได้ผลิตผลงาน สะสมกระสุนดินดำ ฉะนั้นปัญหาพรรคร่วมรัฐบาลจึงไม่ใช่ปัจจัยที่จะล้มรัฐบาลได้ในตอนนี้  

ส่วนคำร้อง ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ โดยเฉพาะหลัง เศรษฐา พ้นตำแหน่งจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยประเด็นขาดจริยธรรมอย่างร้ายแรง และได้มีการหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา 

ขณะนี้ กกต.รับเรื่องไว้พิจารณา 4 คำร้อง ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็เรียกเอกสารจากอัยการสูงสุดชี้แจง ซึ่งในส่วนนี้คงต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ว่ามีประจักษ์พยานหรือคลิปเสียง ควบคู่กับพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่าทักษิณครอบงำ หรือแค่มาขอคำปรึกษา  

ส่วนข้อต่อสู้ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็ยืนยันชัดว่า ทุกเรื่องผ่านมติที่ประชุมพรรคทั้งสิ้น พร้อมยกประเด็นสนับสนุน ตามกระแสข่าว ในค่ำวันที่ 14 ส.ค. ที่ชู ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายวันโหวตนายกฯ ก็ยกมือให้ แพทองธาร เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะกล่าวหาว่าครอบงำได้อย่างไร   

หาก กกต.และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหลักฐานเด็ดจากคนพรรคพลังประชาชนที่ร่วมคณะในวันดังกล่าวด้วย หรือสัญญาณพิเศษ ก็ยากจะสั่งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ จนเหลือพรรคประชาชนทำหน้าที่เพียงพรรคเดียวใช่หรือไม่  

แตกต่างจากปัจจัยเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเกิดขึ้น รัฐบาลที่ภูมิต้านทานต่ำเช่นนี้ไม่รอด และแถมมีคนติดคุกด้วย อย่างเช่นสมัยทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 

ขณะนี้มีของร้อนหลายเรื่องที่สุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะดันร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (กาสิโน), สัมปทาน 3 สนามบิน (ดอนเมือง อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ) ที่กำลังชงเข้า ครม.ในเร็วๆ นี้, ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ที่เข้าสภารับหลักการในวาระ 1, ทบทวนการออกสัมปทานรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์  

ชามข้าวเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่และเจ้าสัวของประเทศ ที่สนับสนุนพรรครัฐบาลอยู่ในเวลานี้ใช่หรือไม่ 

ยิ่งโดยเฉพาะความไม่ชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU44) ถูกปลุกขึ้นมาว่าสุ่มเสี่ยงจะทำให้เสียเกาะกูด จ.ตราด และไทยเสียดินแดนหรือไม่ บนเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่าทำเพื่อชาติหรือเพื่อใคร บนสายสัมพันธ์แนบแน่นของระบอบ ชินวัตร-ฮุน เซน ใช่หรือไม่ หลัง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร มือยุบพรรคก้าวไกล ยื่นเรื่องร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้หยุดการกระทำขายชาติ  

แม้แต่พรรคส้มยังเล็งเห็นโอกาสทางการเมืองชิงแต้มจากสังคม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า ออกมาระบุว่า รัฐบาลยังไม่ออกมาพูดให้ชัดเจน จะเป็นผลเสียต่อทั้งรัฐบาลเอง จะเกิดการตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วพื้นที่ซึ่งจะเจรจากับกัมพูชาคือหลักพันหรือหลักหมื่น เมื่อไม่ชัดเจน ประชาชนจึงตั้งคำถาม และเป็นการเปิดช่องให้นำกระแสชาตินิยมมาใช้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับชาติไทย

ดังนั้น หากรัฐบาลเลือกเดินหน้าทำเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้ บนพื้นฐานการเมืองที่ไม่นิ่ง และตัวเองไร้เครดิตจากสังคม อาจทำให้ปลุกความสามัคคีของคนไทยและองค์กรต่างๆ ออกมาขับไล่ จนไม่สามารถเดินถนนหรือถึงขั้นไม่มีแผ่นดินจะอยู่ก็เป็นได้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดือดพลั่ก! ยธ. แถลงโต้ กมธ.มั่นคงฯ ไม่มีอำนาจเรียก ทวี-อธิบดีกรมคุก ชี้แจงทักษิณชั้น 14

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย

เดือด! 'โตโต้' สวน ยธ. ยันมีอำนาจสอบทักษิณป่วยทิพย์ ลั่น กมธ.มั่นคงฯทำงานครอบจักรวาล

นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.พรรคประชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

'โรม' กล่อม 'ทักษิณ' เข้าแจง กมธ.ความมั่นคง ปมชั้น 14 เชื่อเป็นผลดีต่อรัฐบาล-นายกฯอิ๊งค์

นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร

กมธ.มั่นคงฯ ขอดูลาดเลาปม MOU44 ให้รอบด้าน

'กมธ.มั่นคง' ขอฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน หลังหลายฝ่ายมีความเห็นต่าง 'โรม' ยันยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก เล็งใช้กลไกสภาเดินหน้าตรวสอบ เหตุเรื่องรื้อรังมานาน

นายกฯ อิ๊งค์ฝากติดตามแถลง 12 ธ.ค.ผลงานรัฐบาล 90 วัน

นายกฯอิ๊งค์ ลั่นรัฐบาล มุ่งสร้างโอกาสจับต้องได้ให้ประชาชน ปากท้องอิ่ม ดึงศักยภาพคนไทย ลั่นปรับสมดุลการค้าสหรัฐ-จีน ย้ำ รบ.อยู่ครบเทอม ฝากติดตามแถลงผลงานรัฐบาล 12 ธ.ค.นี้