"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย โดยให้ผลตอบแทนที่ดูน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินการของบริษัทนี้ถูกสงสัยว่ามีลักษณะการดำเนินงานที่ เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ และก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงินต่อผู้ร่วมลงทุนอย่างมหาศาล

คดีนี้เริ่มต้นจากการร้องทุกข์ของประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่บริษัทสัญญาไว้ โดยผู้เสียหายได้ทยอยเข้าร้องทุกข์กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท และมีผู้เสียหายจำนวนมากถึง 9,472 ราย ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทดังกล่าวมักชักชวนประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใช้ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ เช่น การใช้ภาพของผู้บริหารที่ดูมีชื่อเสียง การอ้างถึงการลงทุนที่เป็นการค้าระดับสูง รวยเร็ว ซึ่งดูเหมือนจะน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้วบริษัทนี้ขาดการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง

ทำให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้เริ่มการสอบสวนอย่างจริงจัง โดยรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งรวมถึงเอกสารทางการเงินและข้อมูลการโอนเงินจำนวนมาก โดยการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 18 คนที่เกี่ยวข้องในคดี ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการดารานักแสดง ผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกันในการหลอกลวงประชาชนผ่านการโฆษณาที่ทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดว่าการลงทุนจะให้ผลตอบแทนสูงและมีความปลอดภัย

ในกระบวนการสืบสวน ตำรวจได้ดำเนินการสอบปากคำผู้ต้องหาและเก็บรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบเอกสารทางการเงินและการสอบปากคำพยานที่เป็นผู้เสียหาย ทั้งนี้ ตำรวจได้คัดค้านการประกันตัวในชั้นศาล เนื่องจากผู้ต้องหาอาจมีอิทธิพลและมีความสามารถในการหลบหนีออกนอกประเทศ

หลังจากการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ตำรวจได้เริ่มต้นกระบวนการอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งรวมถึงรถยนต์หรู บ้าน ที่ดิน และสินค้าแบรนด์เนม โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 269 ล้านบาท นอกจากนี้ตำรวจยังได้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขยายผลการสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อาจเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดอีกด้วย

โดยทาง ปปง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมดของผู้ต้องหาและดำเนินการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมที่พบว่ามาจากการกระทำผิด โดยคาดว่ามูลค่ารวมของทรัพย์สินที่อายัดเพื่อชดเชยให้ผู้เสียหายอาจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

เรื่องนี้จึงต้องพึ่ง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” เนื่องจากเป็นคดีที่มีลักษณะซับซ้อนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงที่มีจำนวนผู้เสียหายสูงและมูลค่าความเสียหายมาก ซึ่งน่าจะเข้าข่ายอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและการฟอกเงิน โดยจะทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจสอบสวนกลางต่อไป

ซึ่ง ณ วันที่ 29 ต.ค.2567 ทางดีเอสไอได้ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ภายหลังจากทางตำรวจสอบสวนกลางได้ส่งไม้ต่อจำนวนคดีดิไอคอนกรุ๊ป จำนวน 30 ลัง เอกสารมากกว่า 81,000 แผ่น มาส่งมอบให้กับดีเอสไอ เพื่อพิจารณาและเป็นคดีพิเศษ โดยมีมติเสนอเรื่องนี้ให้อธิบดีดีเอสไอพิจารณา โดยจะรับเป็นคดีพิเศษใน 2 ความผิด ประกอบด้วยความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพ์ 

หากดีเอสไดรับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ หน้าที่รับผิดชอบหลังจากนี้คือการสืบสวนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน โดยจะตรวจสอบเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของบริษัท ซึ่งรวมถึงการโอนเงินระหว่างบุคคลภายในบริษัทและบัญชีต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการขยายผลการสืบสวนให้ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อีกทั้งยังทำงานร่วมกับ ปปง.และตำรวจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการสืบสวนจะดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งจะมีหนังสือไปยังสำนักอัยการสูงสุดเพื่อขอให้อัยการมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในคดี รวมถึงจะเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทุกด้านมาเป็นที่ปรึกษาในคดีเช่นเดียวกัน เพราะต้องดูประเด็นต่อสู้ของผู้ต้องหา โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางการเงิน การวิเคราะห์ การเสียภาษี

ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหาย ดีเอสไอและ ปปง.จะประสานงานเพื่อดำเนินการอายัดและยึดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดให้ได้มากที่สุด โดยทรัพย์สินที่สามารถยึดได้จะนำไปขายทอดตลาด และรายได้ที่ได้จากการขายทอดตลาดจะถูกนำมาคืนให้แก่ผู้เสียหาย อย่างไรก็ตาม การคืนทรัพย์สินนี้จะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการตรวจสอบหลักฐานและการพิจารณาอนุมัติจากศาล

ทั้งนี้ คดีที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่เป็นเรื่องที่ยากต่อการนำเงินยึดเงินจากผู้กระทำความผิดนำกลับไปคืนให้ผู้เสียหายแบบทบต้น เฉกเช่นเดียวกับคดี ฟอร์เร็กซ์ 3 ดี เป็นคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 มีจำนวนเงินความเสียหายกว่า 2,500 ล้านบาท ผู้เสียหายเฉียดหลักหมื่นคน แต่ปัจจุบันก็ยังนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายยังไม่ครบ 

ด้วยเหตุผลที่คดีเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่นำเงินคืนผู้เสียหายให้ครบเป็นเรื่องยาก เพราะมีความซับซ้อนและยากลำบาก ผู้ต้องหาหรือผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับแชร์ลูกโซ่มักจะใช้เงินที่ได้จากผู้ลงทุนไปแล้ว ทำให้ไม่เหลือทรัพย์สินเพียงพอที่จะคืนให้ผู้เสียหาย นอกจากนี้ยังอาจมีการฟอกเงินหรือซุกซ่อนทรัพย์สิน ทำให้การตามคืนเป็นไปได้ยากเช่นกัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อดีเอสไอ ไม่ว่าจะเป็นไม่สามารถติดตามทรัพย์สินที่ถูกยึดได้อย่างเพียงพอต่อการคืนเงินผู้เสียหายอย่างครบถ้วน รวมถึงใช้เวลานานเกินไปในการตรวจสอบในการยึดทรัพย์สิน

ในส่วนของคดีดิไอคอนกรุ๊ป จึงเป็นอีกบททดสอบสำคัญของดีเอสไอที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนให้กับประชาชนอีกครั้งต่อการดำเนินคดีเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเป็นการฉ้อโกงที่มีความซับซ้อนและกระทบต่อผู้เสียหายในวงกว้าง

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผบ.ตร. ยอมรับสอบสวนนานเกินไป ปม 'พ.ต.อ.' เอี่ยวดิไอคอน

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งล่าสุดทางคณะกรรมการกลั่นกรอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีมติเอกฉันท์รับคดีหลอกลวงประชาชนลงทุน

'ดีเอสไอ' ยังไม่ฟัน 'ดิไอคอน' เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ รอความเห็นสนง.เศรษฐกิจการคลัง

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ

ประธานกมธ.ปราบฟอกเงิน รับเป็นห่วงคดี 'ดิไอคอน' ในมือดีเอสไอ ลั่นเกาะติดให้ถึงที่สุด

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

คกก.กลั่นกรองดีเอสไอ มีมติรับสำนวน 'ดิไอคอน' เป็นคดีพิเศษ หลักฐานชัดผิด 2 ข้อหา

ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผบช.ก. ร่วมกันให้สัมภาษณ์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ