ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’

สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’

 ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’

ความนิ่งที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การที่รัฐบาลไม่บุ่มบ่ามทำเรื่องใดๆ ที่มีแรงต้าน ต่างจากเมื่อครั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยเฉพาะเรื่อง นิรโทษกรรม และเรื่องการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล้าที่จะลุยฝ่าแรงต้านและเสียงคัดค้าน

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นมาจากการถอดบทเรียนและองค์ประกอบที่แตกต่างกันระหว่างรัฐบาล ‘อา’ กับ ‘หลาน’

ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นแกนนำรัฐบาลที่มีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พรรคร่วมเป็นเพียง ‘ไม้ประดับ’ ในแจกันที่ไม่มีปากเสียง ในขณะที่ยุครัฐบาล น.ส.แพทองธารไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคอันดับ 1 ของรัฐบาล แต่เสียงไม่ได้มากกว่าพรรคร่วมอื่นๆ แบบขาดลอย ตลอดจนการที่ ‘พรรคภูมิใจไทย’ หนึ่งในพรรคร่วมมีขุมกำลังในสภาสูงไว้คะคาน

หากพรรคร่วมรัฐบาลคัดค้านเรื่องใด โดยเฉพาะ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ตลอดจนพรรคร่วมอื่นมีทิศทางไปทางเดียวกับค่ายสีน้ำเงิน พรรคเพื่อไทยจะขาดแต้มต่อในการลุยฝ่าทันที

เหมือนกับเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการศึกษาการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พรรคร่วมอื่นๆ ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย

ที่สุดทั้ง 3 เรื่อง ไม่สามารถเดินหน้าต่อในแบบฉบับที่พรรคเพื่อไทยอยากได้เลย

เรื่อง นิรโทษกรรม ค่อนข้างเห็นภาพชัด ทุกพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลต่างออกตัวแสดงจุดยืนเลยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 เพียงเท่านั้น แค่ข้อผลการศึกษาก็ยังไม่สามารถผ่านสภาไปได้

ขนาดพรรคเพื่อไทยเองที่หาเสียงเรื่องนิรโทษกรรม ยังมี สส.ถึง 115 คนโหวตไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ทั้งที่ พรรคเพื่อไทยมีสิทธิ์ยกมือเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ เพราะถ้ายกมือให้ ข้อสังเกตดังกล่าวจะผ่านไปได้สบาย เพราะมีเสียงจาก ‘พรรคประชาชน’ อีกกว่า 100 เสียงเอาด้วย

แต่พรรคเพื่อไทยไม่เอา เนื่องจากกลัวว่าจะกระทบกระเทือนเสถียรภาพรัฐบาล โดยเฉพาะจุดยืนเรื่องมาตรา 112 ตลอดจนไปสร้างความหวาดระแวงให้กับ ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่เกรงว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนจะแยกกันเดิน ร่วมกันตี

จะเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ‘ไม่ฝืน’ อะไรเลย ทั้งที่บางเรื่องสามารถทำได้

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแนวทางของนายใหญ่เปลี่ยนไปแล้ว โดยหันมาเน้นเรื่อง ความปลอดภัย ของ ‘แพทองธาร’ ผู้เป็นลูกสาวมากขึ้น

จะเห็นว่านับตั้งแต่ ‘แพทองธาร’ นั่งทำงานในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา ความห้าว ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพ่อดูลดโทนลงไป

แม้จะให้สัมภาษณ์เป็นครั้งคราว แต่ไม่รุนแรง แดกดัน จิกกัดเหมือนก่อน ‘แพทองธาร’ เป็นผู้นำประเทศ

ในขณะที่ลูกสาวเองก็ระมัดระวังตัวมาก ‘แพทองธาร’ กลายเป็นคนพูดน้อย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพียงสัปดาห์ละครั้ง คือ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคาร เว้นเสียแต่มีเรื่องร้อน เรื่องด่วน ที่ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีจะนิ่งเฉย ทำทองไม่รู้ร้อนไม่ได้ ถึงจะเปิดปาก แต่ยังถือว่าน้อยมากตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ

 ‘การพูดน้อย’ เป็นการลดความผิดพลาดในการสื่อสาร หรือการถูกนำไปขยายประเด็นความขัดแย้ง

เรื่องไหนเรื่องร้อน มีแรงต้าน สุ่มเสี่ยงจะเปิดช่องให้ฝ่ายต้านก่อม็อบ ทั้งนิรโทษกรรม ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งประชามติ ‘พรรคเพื่อไทย’ เลือกจะเบรก จะพัก และจะถอยตลอด

แต่ ‘ความปลอดภัย’ ที่ว่า มันถูกแลกมาด้วย ‘ความไม่หวือหวา’ จนคนมองว่า ไม่มีผลงานใดๆ เหมือนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน มือเศรษฐกิจประจำพรรคส้มเย้ยหยันเอาไว้ว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ไม่มีอะไรใหม่เลย แม้แต่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไปเอามาจากของเดิม

ผู้เป็นพ่อย่อมรู้ว่า การเป็นแบบนี้ย่อมทำให้ลูกสาวและพรรคเพื่อไทยไร้ผลงาน แต่ ‘ทักษิณ’ ไม่พร้อมจะเสี่ยง หลังเคยผิดพลาดในกรณีน้องสาวมาแล้ว

 ‘แพทองธาร’ คือ 'กล่องดวงใจ' ที่ ‘ทักษิณ’ จะไม่มีวันให้ซ้ำรอยตัวเองและน้องสาว

และดูท่าสถานการณ์ที่อาจเรียกว่า ‘ความเลวไม่มี ความดีไม่ปรากฏ’ อาจจะอยู่ยาวไปจนครบอายุรัฐบาล เพื่อความปลอดภัยของ ‘อุ๊งอิ๊ง’

แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่สามารถตายใจได้ว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ เพราะมีรายงานออกมาเหมือนกันว่า เครื่องจักรสีแดง มีโอกาสจะกลับมาห้าว กลับมาแตะของร้อนอีกครั้งในช่วงปลายรัฐบาล เพื่อปั่นคะแนน จากนั้นจะกระโจนเข้าสู่สนามเลือกตั้งทันที

ที่เดินไปเนิบๆ ตอนนี้แค่ประคองความปลอดภัยเท่านั้น!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน