ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน

วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.

พบว่าตามระเบียบวาระการประชุมวันดังกล่าว ทางที่ประชุมของสมาชิกวุฒิสภาจะมีการพิจารณาเรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ คือ ประภาศ คงเอียด อดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง-อธิบดีกรมบัญชีกลาง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารออมสิน ที่ผ่านการสรรหาคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เพื่อมาแทน พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์ ที่พ้นจากตำแหน่งไปร่วมปีแล้ว แต่ยังหา ป.ป.ช.คนใหม่มาแทนไม่ได้

เพราะก่อนหน้านี้ตอนสมัย สว.ชุดที่แล้ว ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ "บิ๊กจ้าว" พลตำรวจโทธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2568 ไปเป็น ป.ป.ช. แม้บิ๊กจ้าวจะผ่านการคัดเลือกจากกรรมการสรรหา เพราะ สว.ชุดที่แล้ว ข่าวว่าติดใจเรื่องคุณสมบัติการเทียบตำแหน่งผู้บัญชาการ ยศ พล.ต.ท.ว่าไม่น่าจะตรงกับคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช.ตามกฎหมาย เลยทำให้เสียงโหวตเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ ทำให้ พล.ต.ท.ธิติไม่ได้เป็น ป.ป.ช.แบบพลิกความคาดหมาย 

จนสุดท้ายต้องมีการเปิดรับสมัครกันใหม่ จนได้นายประภาศ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยสมัครเป็น ป.ป.ช.มาแล้ว แต่ไม่ผ่าน แต่มาผ่านเข้าถึงรอบสุดท้ายเอาในรอบนี้

ซึ่งหลังวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ จนคณะกรรมาธิการทำงานเสร็จสิ้น โดยมีการเรียกประภาศมาสัมภาษณ์สอบถามประวัติส่วนตัว รวมถึงทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อขอ ข้อมูลลับ ทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติการทำงาน จนเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบประวัติ ทางคณะ กมธ.ก็จะส่งชื่อไปให้วุฒิสภา “โหวตลับ” ว่าจะเห็นชอบให้เข้าไปเป็น ป.ป.ช.คนใหม่หรือไม่ โดยคาดว่าน่าจะโหวตกันได้ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หลังวุฒิสภากลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง 12 ธ.ค.นี้

โดยหากดูจากชื่อชั้น-โปรไฟล์แล้ว “ประภาศ” ที่เป็น อดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางมาถึงเกือบ 12 ปี ถือว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องภาษีเป็นอย่างดี รู้เรื่องกฎหมายภาษีทุกฉบับ สามารถเข้าไปทำงานตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีของบุคคลและนิติบุคคลที่ถูกร้องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ-สอบสวนได้เป็นอย่างดี ผสมกับประสบการณ์ในฐานะอดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง อย่างอดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ที่คุมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างระบบราชการของประเทศไทย ถ้าดูตามโปร์ไฟล์ หากเข้าไปเป็น ป.ป.ช.จะสามารถเอาประสบการณ์ดังกล่าวไปทำงาน ป.ป.ช.ได้ดีแน่นอน 

แต่ทว่าจะได้เข้าไปเป็น ป.ป.ช.หรือไม่ มันก็อยู่ที่การโหวตของ สว.ว่าจะ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ เพราะต่อให้โปร์ไฟล์ดี ประสบการณ์เยี่ยม แต่หาก สว.ไม่เอาเสียอย่าง ก็โหวตไม่เห็นชอบ สอยร่วง ไปไม่ถึงสนามบินน้ำ ที่ตั้งของสำนักงาน ป.ป.ช.

ซึ่งคนที่จะกำหนดตรงนี้ได้ก็คือ สว.เสียงข้างมากในวุฒิสภา ที่ตอนนี้ทั้งหมดอยู่ใน

"คอนโทรลของ สว.สีน้ำเงินที่ตอนนี้มีร่วม 167 เสียง จาก 200 คน"

จะเห็นชอบไฟเขียว ชื่อของ “ประภาศ” ให้เข้าไปเป็น ป.ป.ช.หรือไม่

 โดยเฉพาะแน่นอนว่า สว.สีน้ำเงิน ยังไงต้องรอฟัง สัญญาณจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ว่าจะโอเคกับชื่อนี้ในการให้ไปเป็น ป.ป.ช.หรือไม่ หากบ้านใหญ่ฯ ไม่โอเค ไม่คลิกด้วย ก็ย่อมส่งสัญญาณไปให้ สว.สีน้ำเงิน ไม่โหวตเห็นชอบให้ ทุกอย่างก็จบ ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ด้วยการไปเปิดรับสมัคร-และคัดเลือก และส่งชื่อมาให้ สว.ชุดปัจจุบัน ที่เหลือวาระการทำงานอีกร่วม 4 ปีกว่าลงมติใหม่ต่อไป

  ดูตามนี้ชื่อของประภาศจึงจะเป็นชื่อแรกของบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นองค์กรอิสระที่รอให้ สว.ชุดปัจจุบันโหวต ที่ผลการโหวตที่จะออกมา น่าจะสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง ระหว่าง “สว.สีน้ำเงิน” กับ การจัดทัพในองค์กรอิสระในช่วง 5 ปีของ สว.ชุดปัจจุบัน

และไม่ใช่แค่กับการตัดสินลงมติของ สว.ว่าจะให้ประภาศเข้าไปเป็น ป.ป.ช.หรือไม่เท่านั้น เพราะหลังจากนี้วุฒิสภายังมีคิวต้องเตรียมโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่อีก 3 คน หากรวมกับประภาศด้วย เท่ากับ สว.จะต้องโหวตคนไปเป็น ป.ป.ช. 4 คนในเวลาไล่เลี่ยกัน

เพราะปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับสมัคร ป.ป.ช.ใหม่อีก 3 คน ที่เปิดรับสมัครมาแล้ว 1 สัปดาห์ ตั้งแต่ 21 ต.ค. และจะปิดรับสมัคร 4 พ.ย. วันจันทร์หน้านี้แล้ว ที่พบว่าผ่านไป 1 สัปดาห์ นับถึง 26 ต.ค. เพิ่งมีคนสมัครแค่คนเดียวคือ ปรีชา พงษ์พานิช อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตและสำนักงานคดีศาลสูงภาค 1

กระนั้นคาดว่าในช่วงสัปดาห์สุดท้ายนี้ก่อนปิดรับสมัคร คงมีคนมาสมัครกันหลายคน เพราะรอบนี้ถือว่ามีโอกาสสูง เนื่องจากเปิดรับสมัครคนไปเป็น ป.ป.ช.ถึง 3 คน เพื่อไปแทน พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ อดีตประธาน ป.ป.ช. และวิทยา อาคมพิทักษ์ กับ สุวณา สุวรรณจูฑะ 2 ป.ป.ช.ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งปลายปีนี้ ทำให้ต้องมีการรับสมัครบุคคลไปทำหน้าที่ ป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่างลง 3 คน

การรับสมัครคัดเลือกและเห็นชอบ ป.ป.ช.ทั้ง 3 คนในรอบนี้ ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะจะมีการเลือก ป.ป.ช.ใหม่ถึง 3 คน ที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเสียง ป.ป.ช.ที่มี 9 คน ที่ย่อมมีผลต่อการลงมติของ ป.ป.ช.ในเรื่องต่างๆ รวมถึงจะมีผลต่อ การเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีประธาน ป.ป.ช.คนใหม่มาแทน พล.ต.อ.วัชรพล เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้นายวิทยาทำหน้าที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการชั่วคราวไปก่อน แต่นายวิทยาต้องพ้นจากตำแหน่ง ป.ป.ช.ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้แล้ว พร้อมกับนางสุวณา ทำให้ในอนาคตอันใกล้ต้องมีการเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ตัวจริง

พบว่าตัวเต็งคนที่จะมาเป็นประธาน ป.ป.ช. 3 คน โดยก่อนหน้านี้เต็ง 1 คือ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุค คสช. ที่จะถือว่าอาวุโสสูงสุดใน ป.ป.ช. หลังนายวิทยากับนางสุวณาพ้นจากตำแหน่งปลายปีนี้ แต่ต่อมาหลังเกิดกรณีถูกบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.ออกมาพาดพิง เรื่องเคยพานายสุชาติไปพบพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอนช่วงสมัครเป็น ป.ป.ช. ซึ่งนายสุชาติก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงอะไร ทำให้ตัวเต็งประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ เวลานี้ลือกันว่า เต็ง 1 กลายเป็น ภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตเลขาธิการศาลยุติธรรม รวมถึง เอกวิทย์ วัชชวัลคุ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ก็ถูกจับตามองเช่นกันว่าอาจได้ลุ้นเป็นประธาน ป.ป.ช.คนใหม่

อย่างไรก็ตาม การรับสมัครและเห็นชอบ ป.ป.ช.รอบล่าสุด 3 เก้าอี้สุดท้ายแล้ว แม้คณะกรรมการสรรหา ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน จะเลือกบุคคลใดไปเป็น ป.ป.ช. แต่ก็ต้องส่งไปให้วุฒิสภาลงมติลับว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ที่อำนาจดังกล่าวอยู่ในมือ สว.สีน้ำเงิน ที่จะกำหนดได้ว่า จะให้ใครไปทำหน้าที่เป็น ป.ป.ช.รวมทั้งสิ้น 4 เก้าอี้ ที่จะมีผลไปถึงการกำหนดตัว ประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล

หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส

พรรคร่วมยกการ์ดสูง นิรโทษ112 ระแวงพท.-ปชน.ร่วมมือเฉพาะกิจ

จบไปแล้วกับ รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯ ติดขัดไม่ได้ลงมติ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิ่งปิดประชุมไปเสียก่อน

นับถอยหลังคดีตากใบหมดอายุความ รัฐล้มเหลว จำเลยลอยนวล

นับถอยหลังจากวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 วันเท่านั้น “คดีสลายการชุมนุมตากใบ” ซึ่งเกิดเหตุเมื่อ 25 ต.ค.2547 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะ "หมดอายุความ" แล้วในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.นี้

24ตุลา..โหวตรายงานนิรโทษฯ ‘พท.’ระวังจับมือ‘ปชน.’ไม่รู้ตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาค้างอยู่ คือ รายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะ กมธ.

เปิดขั้นตอน 'กกต.-ศาลรธน.' ก่อนเชือด"เพื่อไทย-พรรคร่วม"

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับ "พรรคเพื่อไทย" เข้ามาแบบไม่ให้เว้นวรรคได้พักกัน โดยล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีมีผู้มายื่นร้องขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม

พรรคร่วมรัฐบาลสั่นคลอน แค่เขย่า 'ดีล' ผลประโยชน์

เมื่อวันศุกร์สุดสัปดาห์มีข่าวในทำนองว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย แ