เคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับ "พรรคเพื่อไทย" เข้ามาแบบไม่ให้เว้นวรรคได้พักกัน โดยล่าสุด นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีมีผู้มายื่นร้องขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากมีผู้ร้องที่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล ยื่นคำร้องกรณีแกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดินไปร่วมประชุมกับ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
อีกทั้งการให้สัมภาษณ์ของ "ทักษิณ" ในหลายครั้งเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการชี้นำพรรคเพื่อไทย ในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคเพื่อไทยมีการนำวิสัยทัศน์ของทักษิณ ที่ได้แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
โดยผู้ร้องมองว่าเข้าข่ายขัดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 29 ที่มิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่พรรคเพื่อไทย รวมถึง 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงทางอ้อมก็เข้าข่ายขาดมาตรา 28 ด้วย จึงขอให้ กกต.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3)
ซึ่งข้อกล่าวหาเน้นไปที่การที่พรรคการเมืองต้องเข้าพบและรับคำปรึกษาจาก "ทักษิณ" ในเรื่องสำคัญต่างๆ ซึ่งส่อให้เห็นว่าทักษิณยังคงมีอิทธิพลและบทบาทเหนือพรรคเพื่อไทย แม้จะไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ตาม
สำหรับกระบวนการการสืบสวนของ กกต.ในระหว่างนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน และสามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ กระบวนการสืบสวน และพิจารณาคำร้องของ กกต.กรณีการเข้าพบทักษิณที่บ้านจันทร์ส่องหล้า พยานหลักฐานเบื้องต้นเริ่มจากการตรวจสอบข้อมูลสาธารณะ เช่น ภาพข่าว การให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และรายงานการประชุมของแกนนำพรรคที่เข้าพบกับ "ทักษิณ" ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า รวมถึงหลักฐานที่ตรวจสอบข้อมูลที่ชี้ว่า การพบปะมีการหารือด้านการเมือง เช่น การผลักดันให้ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีบทบาทในการเจรจารวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
นอกจากนี้การตรวจสอบความเกี่ยวข้องของบุคคลภายนอก กกต. จะพิจารณาว่า "ทักษิณ" ในฐานะบุคคลภายนอกมีบทบาทใดบ้างในการตัดสินใจภายในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วม เช่น มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงบทบาทเชิงชี้นำที่มีข้อสงสัยว่าทักษิณอาจมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์
ซึ่งการพิจารณาหลักฐานจะต้องควบคู่กับทางกฎหมายที่สำคัญในมาตรา 28 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ระบุว่าพรรคการเมืองต้องไม่ให้บุคคลภายนอกมีส่วนควบคุมหรือชี้นำจนพรรคขาดความเป็นอิสระ ขณะที่มาตรา 29 ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคชี้นำกิจกรรมภายในพรรค
หลังจากนั้นทางสำนักงาน กกต.จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ กกต.พิจารณาอย่างละเอียด หากพบว่าพฤติกรรมการเข้าพบ "ทักษิณ" เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดสินว่าจะมีการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เนื่องจากหากพบว่ามีการครอบงำจริง พรรคที่เกี่ยวข้องอาจถูกยุบ ส่งผลให้กรรมการพรรคสูญเสียสิทธิทางการเมือง และจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลที่เพิ่งจัดตั้ง ทั้งนี้ การตรวจสอบของ กกต.จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใสและเป็นธรรม
ส่วนขั้นตอนหลังจากที่ กกต. จัดทำสำนวนการสอบสวน พร้อมหลักฐานต่างๆ ส่งคำร้องอย่างเป็นทางการไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยทางศาลจะพิจารณาว่า จะรับเรื่องหรือไม่ โดยจะมีการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ หากรับคำร้อง องค์คณะตุลาการศาลจะตั้งคณะผู้พิพากษาพิจารณาคดี และแจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบ รวมถึงให้พรรคการเมืองที่ถูกกล่าวหาชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด
โดยกระบวนการสืบพยานและไต่สวน ศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกเอกสาร พยานบุคคล และข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งฝ่ายร้องและฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งการไต่สวนอาจมีการเรียกพยานมาสอบสวนในศาล ทั้งจาก กกต.และพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น การชี้นำโดยนายทักษิณในช่วงจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาสักพักใหญ่ เพราะอาจมีการสืบพยานหลายบุคคล รวมถึงผู้ถูกร้องอาจมีการขอเลื่อนการไต่สวนไปก่อนเฉกเช่นเดียวกับกรณียุบพรรคก้าวไกล ที่ใช้ระยะหลายเดือนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
และถ้ายึดการพิจารณาคำวินิจฉัยและผลการตัดสิน หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายควบคุมหรือครอบงำพรรค ศาลอาจมีคำสั่ง ยุบพรรคที่เกี่ยวข้องเพิกถอนสิทธิทางการเมือง นอกจากการยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคในขณะเกิดเหตุอาจถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี อีกทั้งจะมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน มิฉะนั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ
การยุบพรรคอาจกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล หากพรรคถูกยุบเป็นพรรคสำคัญในรัฐบาลผสม แม้จะเป็นผลเสียกับหลายๆ พรรค แต่พรรคจะกลับมายิ้มได้อีกครั้งคงหนีไม่พ้น "พรรคประชาชน" ที่สามารถจัดการกับพรรครัฐบาลได้สำเร็จทั้งที่ไม่ต้องออกแรงแม้แต่กระดิกนิ้ว
แต่ในทางกลับกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของทักษิณ และ 6 พรรคร่วมไม่ขัดต่อกฎหมาย พรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถบริหารประเทศได้ตามปกติ แต่...ทักษิณ รวมถึงพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่หลุดจากบ่วงกรรมนี้อยู่ดี เพราะอย่าลืมว่ายังมีคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร เคยยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ทักษิณ รวมถึงพรรคเพื่อไทย หยุดกระทำการล้มล้างการปกครอง แม้ว่าจะเป็นเพียงการขอให้ผู้ถูกร้องหยุดการกระทำ แต่อย่าลืมว่ายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะครั้งก่อนนายธีรยุทธก็จะทำแบบนี้กับพรรคก้าวไกลเช่นกัน และหลังจากนั้นก็ขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล
โดยในเคสพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ต่างกัน เพราะการที่นายธีรยุทธได้ส่งเรื่องขอให้หยุดการกระทำ เหมือนเป็นการชิมลาง เพราะถ้าศาลมองว่าพรรคเพื่อไทยกระทำการล้มล้างการปกครอง ข้อมูลตรงนี้มัดแน่นอยู่แล้ว และธีรยุทธจะสามารถอ้างคำวินิจฉัยศาลขอให้ศาลสั่งยุบพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งมองว่าโอกาสจะรอดยากมาก และพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องวุ่นในการจับมือเจรจาหาพรรคร่วม โหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง
แต่ถ้าศาลชี้ว่าคดีที่นายธีรยุทธมองว่าพรรคเพื่อไทยและนายทักษิณไม่เข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครอง ก็ถือว่าหลุดบ่วงกรรมในปัจจุบัน แต่ในอนาคตข้างหน้าจะมีใครมาร้องเรียนในกรณีอื่นๆ อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอนาคตข้างหน้า แต่เชื่อว่าการที่ "ชินวัตร" คุมเกมลงมาบริหารภายใต้เงาพ่อ คงอาจจะเป็นที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอยู่ครบเทอมที่มีอยู่
สุดท้ายแล้วหากเป็นแบบนั้นจริง เรียกได้ว่านี่อาจจะเป็นการสั่งสอน "ทักษิณ" ที่กลับมายังบ้านเกิดดั่งเทวดา แม้สถานะจะเป็นนักโทษก็ตาม และพรรคตระกูลแดงจะถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่ 3 ต่อจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน แต่ในระหว่างนี้ต้องมาลุ้นกันว่า พรรคเพื่อไทย-ทักษิณ จะออกมาแก้เกมอย่างไร?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
'ชูศักดิ์' บอกรู้ตั้งแต่เห็นคำร้อง 'ธีรยุทธ' ไปไม่ได้ เหตุไม่เข้าเกณฑ์ล้มล้างปกครอง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณา
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ตามคาด! อสส.ไม่รับดำเนินการคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการคดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้วพร้อมผลการสอบถ้อ
'จตุพร' ให้จับตา '22พ.ย.' จุดเปลี่ยนการเมืองไทย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า วันที่ 22 พ.ย.นี้จะเป็นปฐมบทของคนรักชาติได้ห