ยกแรก "นายกฯ อิ้งค์" เบรกด้วย “ดินเนอร์การเมือง”

บริหารประเทศสู่เดือนที่ 2 แล้ว สำหรับรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย ต้องเจอหลายปัญหา และยังต้องโดนจับจ้องทุกฝีก้าว ด้วยสวมหมวกนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อย ประสบการณ์การทำงานและงานการเมืองยังมีพรรษาน้อย ต้องใช้เวลาพิสูจน์

ทั้งยังเป็นทายาทตระกูลชินวัตร ที่ถูกมองว่าอำนาจของรัฐบาลแพทองธารที่แท้จริงอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพ่ออยู่เบื้องหลัง จึงไม่แปลกที่ทุกย่างก้าวของนายกฯ อิ๊งค์จะถูกจับจ้องตลอด

ตั้งแต่เรื่องไอแพด ที่เกิดดรามาในโลกโซเชียลก่อนหน้านี้ เมื่อมีการแชร์ภาพของ น.ส.แพทองธารก้มหน้าอ่านข้อมูลในไอแพด ระหว่างหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในระหว่างไปร่วมเวทีประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นเวทีต่างประเทศเวทีแรกของนายกฯ อิ๊งค์ หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดเสียงวิจารณ์ภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศ

และล่าสุดในการเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็เกิดเสียงวิจารณ์อีกครั้ง

เมื่อสังคมออนไลน์จับผิด นายกฯ โพสต์ข้อความระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนว่าได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ปรากฏว่านายกฯ ระบุตำแหน่งผิดว่า “หลี่ เฉียง ประธานาธิบดีของจีน” จนโซเชียลแห่คอมเมนต์ว่านายกฯ มั่วหนัก

และนอกจากถูกจับจ้องทุกความเคลื่อนไหวแล้ว เมื่อสวมหัวโขนแม่ทัพรัฐบาล ต้องเจอสารพัดปัญหาที่เข้ามากดดัน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง สถานการณ์น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม รวมถึงงานการเมือง

ซึ่งล่าสุดได้มีกระแสกดดันมายังรัฐบาลให้ไตร่ตรองรอบคอบถึงการออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่กรรมาธิการมีข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำผิดตามมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย

โดยท่าทีของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น “พรรคภูมิใจไทย” ที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้ประกาศจุดยืนของพรรคชัดเจน เรื่องมาตรา 112 จะไม่มีการนิรโทษกรรมแน่นอน

ขณะที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ขอสงวนสิทธิ์ที่จะมีมติงดออกเสียงในการลงมติรับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พร้อมจุดยืนไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 ทุกกรณี เพราะมองว่าเป็นการละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ

ขณะที่ “พรรคประชาธิปัตย์” มีมติไม่เห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เช่นกัน และไม่เห็นชอบการส่งให้รัฐบาลพิจารณา โดยมองว่าคดีการกระทำผิดตามมาตรา 112 จะมีผลในการส่งเสริมมุมกลับให้มีการละเมิดมาตรา 112 ในอนาคตได้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นให้นายกฯ ต้องปวดหัว เมื่อการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่พรรคเพื่อไทยของนายกฯ อิ๊งค์ เคยประกาศไว้ตอนหาเสียง ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ จนมีกระแสกดดันและถามไถ่มาถึงบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงผู้นำรัฐบาลด้วย

ซึ่งถึงแม้จะได้รับการยืนยันจากฟากแกนนำเพื่อไทยว่าได้เดินหน้าอย่างจริงจังแล้ว ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ศึกษาแนวทางการทำประชามติ จนมีการเสนอแก้กฎหมาย ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าและเชื่อว่าประชาชนจะเห็นความตั้งใจจริง

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีการฟังเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งสัญญาณขณะนี้พรรคร่วมควรให้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม ยึดโยง และฟังเสียงประชาชน

และจากเสียงสะท้อนต่างๆ รอบด้านนี้จึงนำมาสู่วงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นการดินเนอร์นัดแรกของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ที่จะมีการหารือในหลายประเด็น

โดย น.ส.แพทองธารได้ระบุไว้ว่า “ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ทานข้าวกับหัวหน้าพรรค ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายๆ ท่านที่ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรี จึงอยากจะคุยกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง จริงๆ ปกติแล้วอาจจะมีวาระสำคัญไม่กี่เรื่อง แต่เป็นการมาเจอกันและคุยกันมากกว่า และจะอัปเดตให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและจะทำอะไรต่อบ้าง และขอคอมเมนต์รวมๆ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว เราจะคุยกันว่าใครมีความคิดเห็นอะไร ซึ่งหลายท่านมีประสบการณ์มาก พอได้คุย ได้มีเวทีสบายๆ หน่อย ก็จะได้ประโยชน์จากทุกท่านเยอะ และมีหลายเรื่องต้องขอความร่วมมือซึ่งกันและกัน”

และหลังจากนี้จะมีการนัดรับประทานอาหารเดือนละ 1 ครั้งตามวงรอบ เช่นเดียวกับรัฐบาล นายเศรษฐา

ทั้งนี้ คาดว่าวงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลนัดแรกนี้ จะมีการหยิบยกในหลายประเด็นขึ้นมาหารือเพื่อขอความร่วมมือจากบรรดาแกนนำพรรค ส่วนหลังจบดินเนอร์แล้วทุกสถานการณ์ที่นายกฯ อิ๊งค์เผชิญ จะคลี่คลายลง หรือจะพอช่วยลดอุณหภูมิให้นายกฯ ลงได้บ้างหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567