ปลดล็อกประชามติ-รื้อรธน. ‘ธงใหญ่’ที่'เพื่อไทย'ฝ่าได้ยาก

ตั้งแต่ พรรคเพื่อไทย เป็น หัวขบวน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้นมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบไม่เคยสำเร็จ

ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ รัฐธรรมนูญต้อง จอดป้าย ด้วยข้อหา สลับร่าง ในกระบวนการยื่นต่อรัฐสภา จนนำมาสู่คดีความในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ สส.รัฐบาลหลายคน ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบและชี้มูลกันเป็นโขยง หลายคนหมดอนาคตทางการเมืองไปเพราะเรื่องนี้

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกแก้ไขสำเร็จแค่ในยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และเรื่องเกี่ยวกับสนธิสัญญาและการเจรจาระหว่างประเทศ จากนั้นถูกฉีกในการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือฉบับปัจจุบัน ที่ร่างโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ถูกแก้ไขสำเร็จในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ครั้ง เป็นเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็น ‘หัวขบวน’ ในการแก้ไข

ส่วนปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทยเป็น ‘หัวขบวน’ แถมยังมีฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนให้การสนับสนุนด้วย กำลังเจอ ตอ หลังจาก วุฒิสภาสีน้ำเงิน ไม่เอาด้วย เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ คือการให้คงไว้ซึ่ง “เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น" สำหรับการทำประชามติแก้ไข รธน. ต้องไปตั้งกรรมาธิการร่วม สว.-สส. ซึ่งยังไม่รู้ชะตากรรมว่า สุดท้ายจะไปถึงฝั่งหรือไม่

หัวใจสำคัญในการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในครั้งนี้คือ การแก้ไขจากการทำประชามติ 2 ชั้น ให้กลับมาเป็นชั้นเดียว คือยึดเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ตรงนี้ถูกคัดค้านมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยเอง เพราะต่อไปหากมีการทำประชามติในเรื่องใหญ่ๆ มันจะสามารถผ่านไปได้ง่าย ไม่ใช่ ประชามติ จากประชาชนอย่างแท้จริง

ในขณะที่การทำประชามติ 2 ชั้น ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านกระบวนการนั้นมา โดยมีผู้มีสิทธิ์ในขณะนั้น 50 ล้านเสียง และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 29.7 ล้านเสียง มีการลงคะแนนเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง และไม่เห็นชอบ 10.5 ล้านเสียง จากที่ออกมาใช้สิทธิ์ 29.7 ล้านเสียง

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคภักดี ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ผ่านประชามติมาอย่างสง่างาม

 “แต่เมื่อจะทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญปราบโกง กลัวว่าจะแพ้ เลยมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ให้ลดเกณฑ์เหลือเสียงข้างมากชั้นเดียว ให้ถือเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง โดยไม่ต้องสนใจว่าผู้มาออกเสียงถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์หรือไม่ พวกคุณทำแบบนี้เท่ากับว่า ทำเพื่อให้ตนเองชนะ ไม่ต้องรณรงค์ให้เหนื่อย มีคนออกมาลงประชามติไม่กี่คนก็ได้ แบบนี้จะเรียกประชามติหรือมติของประชาชนได้อย่างไร”

นพ.วรงค์มองว่า ตลกย้อนแย้ง

แม้ นพ.วรงค์จะเป็นฝ่ายตรงข้าม ที่ย่อมไม่เห็นด้วยทุกเรื่องกับรัฐบาล แต่หากพินิจถึงโต้แย้งจะเห็นว่า เป็นจริงดังนั้น และอาจจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่สำเร็จ

เว้นเสียแต่ว่ามีการไปปรับแก้ เพิ่มเกณฑ์หรือเงื่อนไขเวลาทำประชามติในเรื่องใหญ่ๆ เอาไว้ แต่กระนั้นจะทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง

มีข่าวลือเหมือนกันว่า ที่ พรรคภูมิใจไทย ขวางเรื่องนี้ โดยงดออกเสียงการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนหนึ่งเพราะไปได้รับสัญญาณบางอย่างมาเหมือนกัน

โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า "เรื่องการทำประชามติ เราต้องมีเครื่องป้องกันที่ทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะสิ่งที่ต้องใช้เสียงประชามตินั้น เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมั่นใจว่า เราได้ปกป้องสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว"

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จในยุคนี้ เพียงแต่ถ้ายังยึดธงเดิม ประเด็นเดิม ที่จะแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริยธรรม เรื่องลดอำนาจองค์กรอิสระ โอกาสสำเร็จเป็นไปได้ยาก

การจะไปตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อรื้อรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกสร้างขึ้นโดย ฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่ต่างอะไรกับการท้าทาย ฝ่ายอนุรักษนิยม

วันนี้พรรคเพื่อไทยอาจจะคิดว่าตนเองได้รับการคุ้มครองจากฝ่ายอนุรักษนิยม แต่อย่าลืมว่า เขาเพียงแค่ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิมเท่านั้น

การได้รับความคุ้มครอง อำนวยความสะดวก ไม่ได้หมายความว่า จะตามใจให้ทำได้ในทุกเรื่อง เหมือนกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ถูกขวาง ให้ทำได้เฉพาะแจกกลุ่มเปราะบางเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยทำได้เฉพาะ พองาม ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ

การแก้กฎหมายประชามติ เพื่อปูทางสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรื้อแล้วสร้างใหม่ เป็นการทำเพื่อตัวเอง และลดกลไกต่างๆ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยขยับได้ไม่เต็มที่

ฝ่ายอนุรักษนิยมรู้ ปลายทาง ของพรรคเพื่อไทยดี กระบวนการมันถึงติดๆ ขัดๆ ในปัจจุบัน

ถ้าไม่ยอมลดธง หันมาแก้แค่ในบางเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ มันจะไม่มีทางแก้ได้ในรัฐบาลชุดนี้ และเจอปัญหาอยู่เรื่อยๆ

พรรคเพื่อไทยอาจจะกลัวเสียหน้า เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ถ้าดึงดันสุดท้ายจะไม่ได้อะไรเลย

บางทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะลงเอยแบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ ทำได้ แต่ทำได้แค่บางส่วนที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไฟเขียว

การจะรื้อใหม่ทั้งฉบับ ยิ่งในรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ 2 ชั้น มันเหมือนไปทำลายสิ่งที่อนุรักษนิยมสร้างมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีม'ลุงป้อม'รุกฆาต'เพื่อไทย-ทักษิณ' ชงยกเลิกการกระทำ ก่อนยื่นเชือดซ้ำ

นับตั้งแต่ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ หนีคดีทุจริต กลับประเทศ การเมืองไทยเริ่มร้อนระอุมากขึ้นทุกวัน สงครามระหว่าง ทักษิณ กับ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

'อนุทิน' แจง 'ภูมิใจไทย' งดออกเสียงร่างพรบ.ประชามติ เพื่อส่งสัญญาณ

นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล รองนายก​รัฐมนตรี​ และ​รมว.มหาดไทย​ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเหตุผลที่พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียงลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

จับตา‘กมธ.ร่วม’ตัดเชือก เกณฑ์โหวต2ชั้นแก้รธน.

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระเป็นพิเศษ ตกเป็นประเด็นที่คอการเมืองต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ....ซึ่งเป็นเรื่องที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137

สกัดแผนส่ง"เสี่ยโต้ง"ยึดธปท. แรงต้านเริ่มแรง หวั่นเกิดหายนะ

หลังกระแสสังคมเริ่มก่อตัวคัดค้าน การที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทย จะส่ง อดีตนักการเมือง เข้าไปเป็น ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เพื่อไปแทน ปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานกรรมการแบงก์ชาติที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567

มท.1 ยันแต่งตั้งโยกย้ายขรก.ระดับสูง ไม่มีสายใคร ทุกคนต้องทำงานรับนโยบายได้

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์เพื่อขอให้ กกต.ตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า