ศาลรธน.“รับ-ไม่รับ” คดีรุกฆาต"ทักษิณ-พท." ถ้าไม่รอด อนุทินจ่อนายกฯ

ยังไม่มีความชัดเจนว่าวันพุธกลางสัปดาห์นี้ 16 ต.ค.จะมีการประชุม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประจำสัปดาห์หรือไม่?

และหากมีการประชุม คำร้องคดีการเมืองที่ตกอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองขณะนี้ คือคำร้องที่ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ยื่นคำร้องตามช่องทางมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเข้าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.หรือไม่?

โดยหากสำนักงานศาล รธน.บรรจุคำร้องดังกล่าวเข้าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ที่ยื่นเมื่อ 10 ต.ค. ก็ต้องลุ้นกันว่าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.จะมีมติ

“รับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย”

มีการวิเคราะห์กันออกเป็น 2 มุมในเรื่องนี้

มุมแรกมองว่า คำร้องดังกล่าวน่าจะยังไม่เข้าที่ประชุมตุลาการศาล รธน. เพราะเพิ่งยื่นมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ประกอบกับมีวันหยุดยาว 3 วัน ศาล รธน.กลับมาเปิดทำการอีกครั้งก็วันอังคารที่ 15 ต.ค. จึงน่าจะยังไม่ทัน

ยิ่งเป็นคดีสำคัญ เพราะเป็นคำร้องที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ถูกร้องคือ ทักษิณกับพรรคเพื่อไทยร่วมกันกระทำการ "เซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์" ที่เป็นเรื่องเซนซิทีฟทางการเมืองและข้อกฎหมายที่ต้องใช้การพิจารณาระดับหนึ่งว่า จะรับหรือไม่รับคำร้อง ทางตุลาการศาล รธน.น่าจะขอเวลาอีกสัก 1 สัปดาห์ในการอ่านสำนวนคำร้อง และพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงน่าจะมีการพิจารณากันในสัปดาห์หน้า

ขณะที่อีกมุมหนึ่งให้ทัศนะไปอีกทาง โดยมองว่าคำร้องดังกล่าวยื่นมา 10 ต.ค.ตอนเช้า ก็คาดว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานศาล รธน.น่าจะนำส่งเอกสารต่างๆ ถึงห้องทำงานตุลาการศาล รธน.แต่ละคนในวันศุกร์ที่ 11 ต.ค.แล้ว ทำให้ตุลาการศาล รธน.มีเวลาพิจารณาพอสมควร ยิ่งเมื่อหยุดยาว 3 วัน ก็ยิ่งทำให้มีเวลาในการพิจารณาคำร้อง เพราะปัจจุบันก็มีการส่งเอกสารคำร้องทางระบบออนไลน์ ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการศาล รธน.สามารถส่งคำร้องและเอกสารทั้งหมดเข้าสู่ โทรศัพท์มือถือของตุลาการศาล รธน.ได้ตั้งแต่วันแรกที่มีการยื่นคำร้อง ทำให้อ่านคำร้องได้ตลอดเวลา  

มุมนี้จึงมีการวิเคราะห์ว่า มันก็อาจเป็นไปได้ที่อาจจะมีการนำคำร้องดังกล่าวมาหารือได้ในการประชุมรอบนี้ เพื่อลงมติว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ดังนั้นเส้นทางคดี ร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองฯ หลังจากนี้ต้องรอดูสเต็ปแรกกันก่อน ก็คือดูว่าตุลาการศาล รธน.จะมีการประชุมกันวันใด จะมีประชุมสัปดาห์นี้หรือไม่ และหากประชุม คำร้องดังกล่าวจะเข้าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.หรือไม่ หรือเป็นสัปดาห์ถัดไป

สำหรับการลงมติในการจะพิจารณาคำร้องดังกล่าว มีด้วยกัน 2 แนวทาง

คือลงมติ “ไม่รับคำร้อง” ถ้าออกมาแบบนี้ ทักษิณ-เพื่อไทย ถอนหายใจโล่งอก เพราะแม้ภายนอก แกนนำพรรคเพื่อไทยจะบอกว่าไม่ให้ราคาคำร้องดังกล่าว และแสดงความมั่นใจว่า สามารถสู้คดีได้ ไม่กังวล

กระนั้นเชื่อเถอะ ทักษิณ-เพื่อไทย ก็ลุ้นลึกๆ ไม่ให้ศาล รธน.รับคำร้อง เพราะหากรับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทย ก็ต้องตกอยู่ในสภาพ "ผู้ถูกร้อง" ต้องมาเสียเวลาการเตรียมสู้คดี ต้องมารอลุ้นผลคำตัดสิน และคอยเตรียมแผนสำรองหากผลคำตัดสินออกมาไม่เป็นคุณ ที่สำคัญดูทรงแล้ว หากศาล รธน.รับคำร้อง ก็เป็นไปได้สูงที่

ทักษิณอาจถูกเรียกมาให้ถ้อยคำกลางห้องพิจารณาคดี อันจะเป็นการขึ้นศาล รธน.ในรอบเกือบ 23 ปีของทักษิณเลยทีเดียว

หลังเคยไปขึ้นศาล รธน.มารอบหนึ่งแล้วในคดีซุกหุ้น เมื่อตอนเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ช่วงปี 2544 ตอนที่ศาล รธน.ยังตั้งอยู่แถวย่านพาหุรัด

ดังนั้นหากศาลไม่รับคำร้อง จะเป็นผลดีที่สุดสำหรับทักษิณ-เพื่อไทย เพราะทักษิณอาจถูกตุลาการศาล รธน.ซักถามกลางห้องพิจารณาคดี เรื่องการนอนอยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจถึง 6 เดือน รวมถึงเรื่องการเรียกแกนนำรัฐบาลไปคุยเรื่องการตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อค่ำวันที่ 14 ส.ค. เพราะทั้ง 2 ประเด็นอยู่ในคำร้อง จึงเป็นสิทธิที่ผู้ร้องจะยื่นขอให้ศาล รธน.เรียกทักษิณมาให้ถ้อยคำกลางห้องพิจารณาคดีได้

การไม่รับคำร้อง จึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ที่ทักษิณ-เพื่อไทย อยากให้ออกมาแบบนี้  

แต่ถ้าหากที่ประชุมตุลาการศาล รธน.มีมติ "รับคำร้องไว้วินิจฉัย"

มันก็งานงอกแล้วสำหรับทักษิณ-เพื่อไทย เพราะจะทำให้ทักษิณ-เพื่อไทย ตกเป็น "ผู้ถูกร้องในศาล รธน." ทำให้มีภาระทางการเมืองในการต้องสู้คดี เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำร้องใน 6 ประเด็นที่ผู้ร้องยื่นไป

เพราะหากแพ้คดี หรือหากศาล รธน.มีคำวินิจฉัยในทางที่ไม่เป็นคุณกับทักษิณ-เพื่อไทย เช่น มีมติเสียงข้างมากและมีการระบุในคำวินิจฉัยทำนองทักษิณมีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการพรรคเพื่อไทย ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยที่ทักษิณไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือวินิจฉัยว่า ทักษิณที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้เหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่ใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวทักษิณ ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ

ซึ่งถ้าศาล รธน.เห็นว่าการกระทำของทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ตามคำร้องที่ยื่นมา

หากผลออกมาแบบนี้ ทักษิณ-เพื่อไทย จุกอก-กระอักเลือด

เพราะจะเกิดผลตามมาหลังจากนั้นอีกหลายอย่าง หากผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาไม่เป็นคุณกับทักษิณ-เพื่อไทย ในประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือหลายประเด็น ในคำร้องเดียวกันนี้ที่ยื่นไป 6 ประเด็น

ด้วยว่า ฝ่ายธีรยุทธ-พลังประชารัฐ จะใช้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นหัวเชื้อ ยื่นดาบสองให้ กกต.ส่งคำร้องให้ศาล รธน.เพื่อ

"ยุบพรรคเพื่อไทย-ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี"

แบบเดียวกับกรณีของพรรคก้าวไกล

และหากศาล รธน.มีคำวินิจฉัยในทางที่ไม่เป็นคุณกับ เพื่อไทย คือมีคำสั่งให้ยุบพรรคเพื่อไทย-ตัดสิทธิการลงสมัครเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ในกลุ่มกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีชื่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จะทำให้แพทองธารหลุดจากนายกฯ และถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเมื่อเพื่อไทยถูกยุบพรรคไปแล้ว แม้ สส.เพื่อไทยจะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ แต่ก็ทำให้ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ คนสุดท้ายของเพื่อไทย ต้องสิ้นสภาพไปด้วย เพราะเพื่อไทยโดนยุบพรรค

โดยหากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น มันจะทำให้โอกาสเปิดแล้วสำหรับ "หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย-อนุทิน ชาญวีรกูล" ที่มีเสียง สส.เป็นอันดับ 2 ในรัฐบาล ที่จะมีโอกาสได้ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่

คาดหมายว่า หากศาลรับคำร้องไว้พิจารณา กว่าคดีจะสิ้นสุด ก็น่าจะเป็นช่วงปีหน้า ที่ไม่น่าเกินมีนาคม 2568 แต่ถ้าศาลไม่รับคำร้อง ก็จบข่าว ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ บิน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ติดตามคืบหน้าโครงการพัฒนา พบปะผู้นำศาสนา

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้