สกัดแผนส่ง"เสี่ยโต้ง"ยึดธปท. แรงต้านเริ่มแรง หวั่นเกิดหายนะ

หลังกระแสสังคมเริ่มก่อตัวคัดค้าน การที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทย จะส่ง อดีตนักการเมือง เข้าไปเป็น ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เพื่อไปแทน ปรเมธี วิมลศิริ อดีตประธานกรรมการแบงก์ชาติที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567  

 ที่ตามข่าวหลายกระแสระบุว่า บุคคลดังกล่าวคือ เสี่ยโต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ-อดีต รมว.การคลัง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเงินการคลังที่ไปคนละทางกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.มาตลอด ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ย-ค่าเงิน อีกทั้งที่ผ่านมาประธานบอร์ดแบงก์ชาติจะไม่เอาอดีตนักการเมืองมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองเข้า แทรกแซง-ครอบงำ ธปท.จนทำให้ความเป็นอิสระของ ธปท.ในฐานะธนาคารกลางเสียไป

อาจจะเพราะผลของกระแสดังกล่าวที่เริ่มแรงเรื่อยๆ ทำให้สุดท้าย การประชุม คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันอังคารที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมที่ข่าวบอกว่า จะมีการเคาะให้กิตติรัตน์เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หากตรวจสอบแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ สุดท้ายต้อง "เลื่อนออกไป" ด้วยเหตุผลคือ “มีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วน”

อันเป็นการเปิดเผยภายหลังการประชุม โดย นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ที่เปิดเผยหลังประชุมว่า ฝ่ายเลขานุการมีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วน จึงมีการขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกโดยเร็ว

ก็เลยเป็นอันว่า ที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า เสี่ยโต้ง อดีตขุนคลัง เพื่อนสนิท ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน จะได้มีตำแหน่งทางการเมือง-เศรษฐกิจเสียที หลังปลดล็อกคดีความ จากชนักติดหลังก่อนหน้านี้ ที่เคยตกเป็นจำเลยในคดีที่ถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีถูกกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช.ในคดีสมัยเป็น รมว.พาณิชย์ เรื่องการประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเชีย (BULOG) เมื่อปี 2554 ที่ ป.ป.ช.ชี้ว่า มีความไม่ปกติเกิดขึ้น จึงถูกเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่สุดท้ายศาลฎีกามีคำตัดสินเมื่อ 11 ก.ค.2567 ยกฟ้องกิตติรัตน์ไม่มีความผิด

ซึ่งพอศาลฎีกายกฟ้องกิตติรัตน์ ก็มีการมองกันแล้วว่า ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา น่าจะให้ตำแหน่งการเมืองกับกิตติรัตน์ จากที่เคยเป็นแค่ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีให้กับเศรษฐา โดยตำแหน่งที่มีการพูดถึงมากที่สุดก็คือ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ไม่ใช่รัฐมนตรีแต่อย่างใด

เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า “ทักษิณไม่ค่อยชอบกิตติรัตน์” ตอนสมัยเป็น รมต.ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาตลอด ทั้งตอนเป็นรองนายกฯ-รมว.พาณิชย์-รมว.การคลัง จึงไม่แปลกที่ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ชื่อของกิตติรัตน์ที่แม้ไม่มีปัญหาเรื่องคดีความแล้ว ก็ไม่เคยมีชื่อได้ลุ้นเป็น รมต. เพราะจันทร์ส่องหล้าไม่เอานั่นเอง ดังนั้นก็เลยมีข่าวว่าแกนนำรัฐบาลเพื่อไทยหาตำแหน่งลงให้กิตติรัตน์ จนมองว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติน่าจะเหมาะสมที่สุด จนเป็นที่มาของกระแสข่าว เสี่ยโต้งจะมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ท่ามกลางข้อสงสัยว่า กิตติรัตน์สามารถเป็นได้หรือไม่ เพราะเศรษฐาสมัยเป็นนายกฯ เคยบอกว่า กิตติรัตน์เป็นไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ต้องพ้นจากทุกตำแหน่ง รวมถึงที่ปรึกษาของนายกฯ มาไม่น้อยกว่า 1 ปี

 กระนั้นก็มีการมองว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ตำแหน่งการเมืองอย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีการเอาชื่อเข้า ครม.-ไม่มีเงินเดือนประจำในฐานะข้าราชการการเมือง จึงทำให้บางฝ่ายมองว่าน่าจะเป็นได้

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวกิตติรัตน์จะมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ทำให้มีกระแสไม่เห็นด้วย-คัดค้านเกิดขึ้นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่น ล่าสุดความเห็นของ “ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่ระบุว่า ขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธาน ธปท.เท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง

“การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว หาก ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมตามมาอย่างแน่นอน

..ได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ”

รอดูกันว่าเสียงคัดค้าน แรงต้านดังกล่าว จะทำให้รัฐบาลเพื่อไทยถอยร่นหรือไม่ หรือยังคิดจะวางแผนเข้ายึดกุม ธปท.ตามแผนที่วางไว้อีกต่อไป?. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุลพันธ์' ยัน ฝ่ายการเมือง ไม่แทรกแซง ปมแต่งตั้ง 'ประธาน คกก.แบงค์ชาติ'

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีฝ่ายก

2 ปีบนเก้าอี้ ผบ.ตร. บิ๊กต่ายอยู่ครบวาระ? ถึงคิวจัดทัพใหญ่สีกากี

เข้าวินผงาดบนเก้าอี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 แบบม้วนเดียวจบ สำหรับ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่จะได้เป็น ผบ.ตร.เต็มตัว หลังตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นมา นั่งรักษาการ ผบ.ตร. มาได้หลายวัน แต่ต่อจากนี้จะได้นั่ง ผบ.ตร.เต็มตัวอย่างเป็นทางการแล้ว

เลขาธิการสมช.จบแล้ว ผบ.ตร.คนใหม่รอ7ต.ค.

แม้ "บิ๊กอ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะไม่ยอมบอกว่ารายชื่อว่าที่เลขาธิการ สมช.คนใหม่ ที่เคาะออกมาจากที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

โศกนาฏกรรม 23 ศพ ประจานระบบล้าหลัง นักการเมืองดันทุรังแก้ไขรธน. เพื่อตัวเอง

โศกนาฏกรรม 23 ศพ จากเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า