รัฐธรรมนูญนับหนึ่งใหม่ “เพื่อไทย”โยนขี้ให้เพื่อน

“นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขอนัดหัวหน้าพรรคการเมืองคุยทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับในเร็วๆ นี้  

หลังวุฒิสภามีมติเปลี่ยนเกณฑ์กฎหมายทำประชามติ โดยกลับมาใช้แบบ double majority หักร่างของสภาฯ ที่แก้ไขให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว 

ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวยื้อออกไป และเป็นไปได้อาจเสียเวลามากสุดไปถึง 8-10 เดือน กระทบไทม์ไลน์ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ต้องการทำประชามติครั้งแรกในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับในต้นเดือน ก.พ.ปี 68 ที่จะไปทำพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. จากต้องทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง

บางฝ่ายมองว่า อาจทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยผ่านกระบวนการ ส.ส.ร.อาจไม่เสร็จในรัฐบาลเทอมนี้ ที่จะครบวาระปี 2570  

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยก็เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เพื่อความรวดเร็วโดยทำประชามติครั้งเดียว โดยพุ่งเป้าเรื่องด่วน ตีกรอบเรื่องมาตรฐานจริยธรรม-ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ พ่วงการริบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มาแล้ว  

แต่แท้งไปเสียก่อน เนื่องจากสังคมและพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย เพราะมองว่าเป็นการแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง และอาจทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย อย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการล้างผิดให้คนโกง ก่อนจบด้วยการรัฐประหารโดย คสช.    

กลับมาที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ยุค “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ ส่วนยุค “นา ยกฯ อิ๊งค์” เข้ามาสานต่อบรรจุเป็นนโยบายระยะกลางและระยะยาว แต่ผ่านมา 1 ปีไม่สามารถผลักดันได้ตามพูดและส่อเค้ากลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ 

ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย คนไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะฝ่ายอำนาจเก่า แต่เพื่อให้ตัวเองเสียหน้าน้อยหน่อย ก็พยายามหา "แพะรับบาป" กลบความล้มเหลวของตัวเอง   

ไล่ตั้งแต่ครั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมายเพื่อไทย เมื่อเจอต้าน จึงสั่งไอ้เสือถอยแล้ว พร้อมปล่อยข่าวออกมาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นข้อเสนอของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล  

เช่นเดียวกับเมื่อถึงคราวแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจทำไม่เสร็จทันรัฐบาลชุดนี้ หลัง สว.กลับมาแก้ไขกฎหมายประชามติโดยใช้เสียงข้างมากสองชั้น โดยมี สว.สายสีส้มบอกว่าเป็นการรับใบสั่งจากพรรคการเมือง พรรคสาขาเพื่อไทยอย่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ เดือดร้อนแทน โดยเบี่ยงประเด็นและโยนขี้ให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่า "เป็นคนแรกที่พูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ"  

ขณะที่ “อนุทิน” ก็ปฏิเสธทันควันว่า “พ.ต.อ.ทวี” เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่เคยริเริ่มเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา  

เพียงแต่เคยบ่นๆ เฉยๆ ในวงกาแฟอย่างไม่เป็นทางการ หลังนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง และเห็นว่าเรื่องจริยธรรมควรมีกรอบ แต่หากจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ควรปล่อยให้ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ดำเนินการแทน เพราะนักการเมืองมีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเรื่องที่ควรแก้ไข เช่น กฎหมายบริหารราชการอำนาจรัฐมนตรีทับซ้อนกับข้าราชการ และไม่อยากให้ยุบพรรคการเมืองง่ายๆ ซึ่งเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.พรรคการเมือง ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพราะตัวเองเคยถูกยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองมาแล้วจากคนบ้านเลขที่ 111 ในพรรคไทยรักไทย 

 ซึ่งท่าทีของ "หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย" แตกต่างจากพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.อ.ทวีอย่างสิ้นเชิง ที่กระเหี้ยนกระหือรือ และขยับในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพียงพรรคเดียวในฝั่งรัฐบาล   

แถมยังสอดคล้องกับข้อสังเกตว่าแบ่งงานกันเล่นกับพรรคประชาชนในทางลับหรือไม่ เนื่องจากทั้งพรรคแดงและพรรคส้มล้วนมีปัญหาและได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และปกป้องการเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันทั้งคู่

ยิ่งโฟกัสโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย “แพทองธาร” คงอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รวดเร็ว “ปานกามนิตหนุ่ม” เพราะบริหารประเทศไม่ถึงเดือน แต่ “คอพาดเขียง“ มีคดีร้องเรียนจากนักร้องเต็มองค์กรอิสระไปหมด จึงจะต้องรีบลดทอนอำนาจองค์กรอิสระให้หมดลง เพื่อให้การบริหารงานประเทศไร้กังวลใช่หรือไม่    

เมื่อจะหันไปดูเหลี่ยมไหน หนทางแก้รัฐธรรมนูญก็สะดุดไปหมด จึงเปลี่ยนแผนอีกครั้ง โดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะนัดคุยหัวหน้าพรรคการเมือง ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าจะเดินกันอย่างไร แบบไหน  

โดยเกมนี้มองว่าหวังมัดมือชกพรรคร่วมรัฐบาลทำสัญญาประชาคมให้สังคมรับทราบ ป้องกันการถูกเบี้ยวในภายหลัง รวมถึงยังสร้างกระแสกดดันไปที่ สว.สีน้ำเงินให้เดินตามธงของพรรคเพื่อไทยด้วยใช่หรือไม่ 

แต่ “อนุทิน” ก็รู้ทันเกมนี้ ออกตัวดักทางว่า “พรรคภูมิใจไทย” กับ “วุฒิสภา” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน ซึ่งในทางการเมืองก็ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถเล่นได้หลายหน้าเพื่อให้ตัวเองมีทางออก ไม่ตกเป็นลูกไล่หรือถูกมัดมือชกจากพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญยังคานอำนาจพรรคแกนนำรัฐบาลได้ หากทำสิ่งต่างๆ ไม่ถูกต้อง  

เว้นแต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่กำลังขับเคลื่อนต่อไปกันอยู่ มีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับ ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์เป็นหลัก ไม่เพียงแต่พรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เท่านั้น ก็เชื่อว่าวุฒิสภาสีน้ำเงินก็คงไม่กล้าขัดขวางอย่างแน่นอน.              

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพิกถอนที่ดิน “อัลไพน์” ระวังซ้ำรอยค่าโง่พันล้าน

ขณะที่พรรคเพื่อไทย โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม กำกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากพรรคเพื่อไทย กำลังรุกไล่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ในคดี ที่ดินเขากระโดง โดยกดดันต่อสังคมว่า กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ไม่ยอมเพิกถอนที่ดินประมาณ 5,000 กว่าไร่ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครอง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา

หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!

ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม