เก้าอี้“สมช.”ของร้อนชินวัตร จัดแถว“ตัวจริง-ตัวสำรอง”

เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และต้องกระทำการอย่างรอบคอบในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการของรัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้ต้องใช้เวลาในตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบ เพื่อกำจัดจุดอ่อนที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย แล้วถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกไปร้องเรียน หรือฟ้องร้อง จนเป็นเหตุให้ต้องพ้นตำแหน่งเหมือนเช่นนายกฯ จากตระกูลชินวัตรเคยตกม้าตายในประเด็นทำนองนี้มาแล้ว

ยิ่งเมื่อมีคู่กรณีเก่าอย่าง ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว สนับสนุนให้นายกฯ เลือก “ลูกหม้อ” ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช. เพราะมีความพร้อมเรื่องของอาวุโส พร้อมย้ำเรื่องระบบคุณธรรม ที่ฝ่ายการเมืองไม่ควรเลือกใครเพื่อประโยชน์ของตนเอง

อาจเป็นเพราะในช่วงใกล้เคาะชื่อมีข่าวว่าจะมีการส่งชื่อตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มานั่งรอเวลาเกษียณในตำแหน่งนี้เหมือนเช่นอดีต เลขาธิการ สมช.คนล่าสุด

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจไม่ลงตัว หรือมันอาจลงตัวตามระบบของมันแล้ว แต่คนกำกับอาจยังไม่พอใจ และอาจมีการแต่งตั้งระดับรอง ผบ.สตช.บางคนมาที่ สมช.อีก ..เหมือนที่เคยดัน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ มาเป็นเลขาฯ สมช.เมื่อปีที่ผ่านมา ตำแหน่งเลขาฯ สมช.เป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบงานสำคัญของชาติ ไม่ใช่ตำแหน่งสำรอง หรือใช้รองรับคนที่อกหัก ผิดหวังจากที่ใดที่หนึ่งนะครับ” นายถวิลระบุ

นั่นเป็นเพราะมีชื่อของ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ถูกส่งออกมาที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าตัวก็มั่นใจว่าจะไม่ถูกย้ายข้ามห้วยออกจากฝั่งปทุมวัน เพราะหากย้อนกลับไปดูประวัติรับราชการที่เติบโตมาในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 คุมพื้นที่ภาคเหนือ มีความใกล้ชิดกับเครือข่ายในรัฐบาลอยู่ไม่น้อย นายกฯ จะฝืนใจดึงมานั่งแท่นที่ทำเนียบฯ หรือไม่

ทำให้ห้วงเวลาในการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช.อาจต้องรอให้การปรับย้าย ตร.ปิดจ๊อบเสียก่อน หากไม่มีความจำเป็นต้องผ่องถ่ายใครออกมา ก็เชื่อว่าตัวเลือกที่พิจารณาไว้จะได้รับการแต่งตั้งในเวลาต่อมา

มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลเล็งคนที่จะมานั่งในตำแหน่งนี้ไว้แล้ว โดยพุ่งเป้าไปที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในภาพรวม และเทน้ำหนักไปที่งาน “ดับไฟใต้” ซึ่งถือเป็นนโยบายระดับต้นๆ ของรัฐบาลที่อยากให้สถานการณ์ในพื้นที่ได้รับการแก้ไขให้จบสิ้นเสียที

โดย 3 ตำแหน่งในอำนาจของนายกฯ ที่ถือเป็น “เสาหลัก” ในการแก้ไขปัญหาระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ ก็คือตำแหน่ง เลขาธิการ สมช., เลขาธิการ ศอ.บต. และหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ

ดังนั้นจึงมีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.เป็นแค่เก้าอี้รองรับ “คนอกหัก” เหมือนในอดีตจริงหรือไม่?

และทำให้มีการมอง “สูตร” การแต่งตั้ง เลขาธิการ สมช.ที่อาจเลือกเฟ้นคนที่ทำงานในพื้นที่-เคยเป็นลูกหม้อ สมช.มาก่อนขึ้นมาพิจารณา โดยเฉพาะชื่อของ “รองปุ๊” นันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ที่ซาวเสียงจากหลายฝ่าย และได้รับการตอบรับในทางบวก

หากย้อนกลับไปดูเส้นทางรับราชการแล้ว “รองปุ๊” เคยปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วย้ายมาเติบโตที่ สมช. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต., ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งก่อนถูกส่งไป ศอ.บต.ก็เป็นแคนดิเดตตำแหน่งใน สมช.คู่กับ ฉัตรชัย บางชวด มาโดยตลอด  

ทั้งนี้อาจจะมีการขยับ “รองฯ ฉัตรชัย” ไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี หรือเทียบขั้นซี​ 11 แล้วให้ “รองปุ๊” มาเป็นรองเลขาธิการ สมช.ไว้ก่อน เพื่อรอจังหวะการแต่งตั้งที่เหมาะสม

โมเดลการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว น่าจะปลอดภัยพอที่นายกฯ แพทองธารจะลงนามแต่งตั้งได้ มีข้อกฎหมายและความเหมาะสมในการพิจารณาให้รอบคอบ

บทเรียนในยุคที่คนในครอบครัวชินวัตร และคนที่ชินวัตรเลือกให้เป็นนายกฯ หลุดจากตำแหน่งก็เพราะการเลื่อน ลด ปลด ย้าย เป็นเหตุส่วนหนึ่งด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯเคาะเลือก'ผบ.ตร.'คนที่ 15 ฟ้าไม่ผ่าปทุมวัน คอนเฟิร์ม'บิ๊กต่าย'

การแต่งตั้งโยกย้ายหน่วยงานความมั่นคงระดับสูงเสร็จไปเกือบทุกหน่วย โดยเฉพาะเหล่าทัพ วันที่ 1 ต.ค.เริ่มงานได้ทันที เหลือเฉพาะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ต้องเริ่มคัดเลือกตัว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 15 แทนที่ “บิ๊กต่อ”-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่เกษียณอายุราชการหลังวันที่ 2 ต.ค.นี้

จัดทัพสิงห์มท.-วัดใจ "บิ๊กป๊อป"รื้อโผ"ปลัดเก่ง"? อนุทิน-มท.1ลั่นไม่เอาตั๋วฝาก 

วันจันทร์นี้ 30 ก.ย. เป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 ที่ก็คือวันสุดท้ายในการทำงานของข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่อายุครบ 60 ปีต้องเกษียณจากตำแหน่ง

เกมยื้อแก้ 'รัฐธรรมนูญ' ' อิ๊งค์' หนักคอพาดเขียง

ประเด็นการเมืองร้อนแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และเศรษฐกิจ หลังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ใจตรงกันยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีเป้าหมายคือลดอำนาจการตรวจสอบนักการเมืองผ่านองค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และ กกต.

ถกนัดแรก‘5กุนซือ’นายกฯอิ๊งค์ ปักธง‘ไทยพ้นยากจน’รัฐบาลนี้

ได้ฤกษ์รัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถกนัดแรก “คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาล

พท.ชิดซ้าย พรรคส้มดีดกว่า สุดซอยจ้องโละ 'จริยธรรมรมต.'

ถอยร่นไม่เป็นขบวนไปแล้วสำหรับ พรรคเพื่อไทย เมื่อแสดงท่าที โยนผ้าขาว-ไอ้เสือถอย ส่ออาการไม่ไปต่อ เลิกกลางคันกับการเร่งรัดเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ยื่นร่างต่อรัฐสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เมื่อกระแสสังคมนอกจากไม่เอาด้วย แรงต้านมีมากขึ้นเรื่อยๆ