“แพทองธารบริหารประเทศไม่ถึงเดือน แต่คอพาดเขียง หลังมีคดีร้องเรียนเต็มองค์กรอิสระไปหมด อาทิ ถูกร้องเรื่องจริยธรรม, ครอบงำ, การลาออกจากบริษัทถูกกฎหมายหรือไม่ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบลดทอนอำนาจองค์กรอิสระให้หมดลง เพื่อให้การบริหารงานประเทศไร้กังวล”
ประเด็นการเมืองร้อนแทรกขึ้นมาท่ามกลางปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และเศรษฐกิจ
หลังพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ใจตรงกันยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีเป้าหมายคือลดอำนาจการตรวจสอบนักการเมืองผ่านองค์กรอิสระ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และ กกต.
ผ่านการแก้ไขหมวดมาตรฐานจริยธรรม-ความซื่อสัตย์สุจริต, ริบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการลงมติคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยใช้เสียง 2 ใน 3 หรือตุลาการศาลรัฐธรรมต้องลงมติถอดถอน 6 เสียงจากทั้งหมด 9 เสียง เป็นต้น
เท่านั้นยังไม่พอ พรรคเพื่อไทยยังเตรียมยื่นแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในประเด็นแก้ไขเรื่องคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง, การยุบพรรคให้เหลือเพียงคดีล้มล้างการปกครอง, ครอบงำพรรค โดยเฉพาะประเด็นดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตต้องการเอื้อให้ ทักษิณ ชินวัตร พ่อนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรคได้
รวมถึงเตรียมยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลฎีกาได้หาก ป.ป.ช.สั่งไม่ชี้มูล หรืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง
โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าต้องการเอาใจคนเสื้อแดงให้มีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาอีกครั้ง หลัง ป.ป.ช.มีคำสั่งไม่รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553 ทำให้ผู้เกี่ยวข้องจากคดีดังกล่าวพ้นจากทุกข้อหา ใช่หรือไม่
เมื่อประเด็นดังกล่าวเริ่มเข้าสู่สภา เกิดเสียงต่อต้านอย่างกว้างขวาง เพราะมองว่าเป็นการแก้เพื่อนักการเมือง ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์
ผ่านนักเคลื่อนไหวทางการเมือง วุฒิสภา แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย ที่ยึดโยงกับวุฒิสภาสายสีน้ำเงิน รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจเก่า ก็ออกมาขวางเต็มตัว
เนื่อกจากประเมินแล้วว่า หากปล่อยไปจะก่อให้เกิดชนวนความขัดแย้งของสังคมอีกครั้งหนึ่ง และจะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย หรือเหมาเข่ง เพื่อต้องการล้างผิดให้คนโกง จน กปปส.ออกมาชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ จบด้วยการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557
ขณะเดียวกันนักการเมืองที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็สุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่ระบุว่าห้าม สส.และ สว.กระทำอะไรที่ ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ Conflict of interest ซึ่งเรื่องนี้นักร้องต่างๆ ลับมีดรอเตรียมร้องต่อ ป.ป.ช.และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อย
จึงเป็นเหตุให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่ง ไอ้เสือถอย โดยอ้างว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ก่อนที่พรรคเพื่อไทยสั่งจบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา พร้อมโยนขี้ให้พรรคการเมืองใหญ่ในพรรคร่วมเป็นผู้ริเริ่ม
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธทันทีว่าไม่ใช่สารตั้งต้นเรื่องนี้
เพราะพรรคภูมิใจไทยไม่ได้มีปัญหากับเรื่องจริยธรรม และบริหารจัดการมีตัวตายตัวแทนได้ เพียงแต่เกมนี้อาจได้แต้มจากฝ่ายอนุรักษนิยมที่กำลังอ้างว้างหลังหมดยุค “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มจะเห็นบทบาทที่ชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่คานอำนาจระบอบชินวัตร
อีกทั้งยังช่วยพรรคเพื่อไทยทางอ้อม ช่วยลดความเสี่ยงไปก่อนเวลาอันควร มีเวลาเป็นแกนนำรัฐบาลในการฟื้นความเชื่อมั่นและกอบกู้คะแนนนิยมกลับคืนมาอีก 3 ปี
ฉะนั้นประเด็นเรื่องการแก้ไขปมจริยธรรม พรรคเพื่อไทยจึงยากที่จะปฏิเสธ เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียด เป็นฝ่ายตัวเองที่กระเหี้ยนกระหือรือเร่งรีบผลักดันอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม จนหลายคนแปลกใจ
เพราะไม่ต้องการให้เหตุการณ์ซ้ำรอย เศรษฐา ทวีสิน ตกเก้าอี้นายกฯ เพราะปมจริยธรรมด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญด้วยมติ 5 ต่อ 4 ใช่หรือไม่
ขณะที่ “แพทองธาร” บริหารประเทศไม่ถึงเดือน แต่ คอพาดเขียง หลังมีคดีร้องเรียนเต็มองค์กรอิสระไปหมด อาทิ ถูกร้องเรื่องจริยธรรม, ครอบงำ, การลาออกจากบริษัทถูกกฎหมายหรือไม่ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบลดทอนอำนาจองค์กรอิสระให้หมดลง เพื่อให้การบริหารงานประเทศไร้กังวล
แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย จำเป็นต้องยอมหมอบเพื่อเปลี่ยนเกม โดยมีรายงานว่า แกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ประเมินหลังรัฐบาลเจอแรงต้านจากสังคม
จึงมีแนวคิดจะกลับไปใช้แนวทางเดิม คือการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระตามธงให้แล้วเสร็จเสียก่อนตามกระบวนการ จากนั้นจึงยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อลดอำนาจองค์กรอิสระ และลดแรงกระเพื่อมทางการเมือง
สำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับคาดว่าใช้เวลาภายในกรอบ 3 ปี โดยขณะนี้กำลังรอการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ผ่านชั้นสภาแล้ว ซึ่งแก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวเพื่อทำให้การทำประชามติง่ายขึ้น
หากกฎหมายประชามติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจึงเริ่มทำประชามติครั้งแรกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ในช่วงต้นปี 68 พร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. และเมื่อประชามติผ่านก็เข้าสู่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อกำหนดคุณสมบัติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นจะทำประชามติครั้งที่ 2
เมื่อประชามติผ่านก็จะให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงทำประชามติครั้งที่ 3 และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จึงเข้าสู่กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดใหม่ไปในคราวเดียว
แต่ความตั้งใจดังกล่าวอาจมาสะดุดหลุดลง เมื่อวุฒิสภาที่มีเสียง สว.สายสีน้ำเงินมากถึง 120-150 เสียง เตรียมนัดประชุมวันที่ 30 ก.ย. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องด่วนคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ โดยมี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อดีตผู้การบุรีรัมย์ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยคณะ กมธ.ได้เปลี่ยนเกณฑ์การผ่านประชามติเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยกลับมาใช้แบบ double majority กล่าวคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่ทำประชามตินั้น หรือหมายความว่า ต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หากเป็นกรณีที่ทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนทางกับฝั่ง สภาที่แก้ไขให้เป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว
ขณะที่เรื่องทั่วๆ ไปนั้น กมธ.ยังคงหลักเกณฑ์ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือ “เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงข้างมากนั้นต้องสูงกว่าคะแนนไม่แสดงความคิดเห็นเรื่องที่ทำประชามติ
นันทนา นันทวโรภาส สว.พันธุ์ใหม่ ในฐานะรองโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) สภาผู้แทนราษฎร ออกมาฟันธงความประหลาดที่เกิดขึ้นว่า เป็นเกมการเมืองที่ต้องการทำให้กระบวนการทำประชามติไม่ทันเลือกนายก อบจ.ในต้นปี 68 และยังเชื่อเป็นเกมของบางพรรคการเมืองที่ต้องการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส่งผลอาจจะเสร็จไม่ทันในรัฐบาลสมัยนี้อีกด้วย
หากสุดท้ายเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นดังที่ สว.พันธุ์ส้ม ประเมินไว้ ท้ายสุดบาปเคราะห์ทางการเมืองก็ตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล หลังกำหนดนโยบายเร่งด่วนเป็นสัญญาประชาคมเอาไว้ แต่ทำไม่ได้ ล้มละลายทางความเชื่อถือซ้ำแล้วซ้ำเล่า มั่นใจได้เลยว่าประชาชนจะลงโทษผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างสาสมเช่นกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แก้วสรร : หลักคิดทางกฎหมายเรื่องอำนาจบริหารโทษของราชทัณฑ์
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
เข้าใจตรงกันนะ 'ณัฐวุฒิ' ยืนยัน 'พรรคเพื่อไทย' อยู่คนละก๊กกับ 'พรรคส้ม'
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่าอันนี้ไม่ใช่แล้วครับ ข่าวลงผิดแล้ว
'อิ๊งค์พูด ทักษิณขยายต่อ' ให้ชาวบ้านทำอาชีพขุดดินในคลองไปขาย มีแต่นายทุนได้ประโยชน์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า พ่อลูกพอกัน เราคงได้ฟังนายทักษิณ ไปแสดงวิสัยทัศน์ ที่อีสานในหลายประเด็น ผมจึงไม่แปลกใจที่ อุ๊งอิ๊งได้เอาสิ่งเหล่านี้มาพูดก่อน
'หัวหน้าอิ๊งค์' เตรียมแถลงข่าวเปิดตัว 6 ผู้สมัครนายก อบจ.
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายพื้นที่ในนามพรรคเพื่อไทย
ฉุดไม่อยู่! สส.สาวเพื่อไทย เพ้อผลโพล 3 เดือนนายกฯอิ๊งค์ ประชาคมโลกสุดเชื่อมั่น
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น นอร์ทกรุงเทพโพล