แก้รธน.งานสุดหิน พรรคร่วมฯโดดหนี

“พรรคเพื่อไทย” จุดพลุยื่นต่อรัฐสภา ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา หยั่งกระแสสังคม เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

สาระสำคัญใหญ่ๆ ประกอบด้วย แก้ไขมาตรา 98 ว่าด้วยบุคคลต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง เป็นดังนี้ (7) ห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาท หรือลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

นอกจากนี้ยังเสนอ แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น ให้เป็นดังต่อไปนี้ (4) รัฐมนตรีต้องไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต จากเดิมที่กำหนดว่ารัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

(5) รัฐมนตรีต้องไม่มีคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และให้ยก (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ไปบัญญัติในมาตรา 170 ว่าด้วยเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รวมถึงแก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246

อย่างไรก็ตาม แก้ไขมาตรา 211 อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยกรณีสมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และฝ่าฝืนตามมาตรา 144 แปรญัตติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จากเดิมที่ใช้เสียงข้างมาก และให้แก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันองค์กร ให้ผูกพันเฉพาะประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องเท่านั้น

แก้ไขมาตรา 235 กรณีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของ สส. ให้กำหนดระยะเวลาใหม่ โดยตัดสิทธิสมัคร สส. เหลือ 5 ปี และไม่มีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ที่สำคัญ แก้ไขมาตรา 255 ให้สามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดให้ประเด็นดังต่อไปนี้ หากแก้ไขจะต้องทำประชามติ คือ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทำประชามติ จากเดิมที่กำหนดประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นรวมอยู่ด้วย

ภายหลัง “เพื่อไทย” มุบมิบยื่นเรื่องสำคัญแบบเงียบๆ ผ่านเจ้าหน้าที่ส่วนงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาไม่เห็นด้วย กลายเป็นว่า เรื่องนี้มีเพียงพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน และ สว.จำนวนหนึ่งที่เห็นด้วย

งานนี้ก็ต้องจับตาดูว่า วันที่ 1 ต.ค. ที่ “กุนซืออ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เรียกประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพูดคุยการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะสามารถโน้มน้าวให้พรรคร่วมรัฐบาลคิดใหม่หรือเปลี่ยนใจได้หรือไม่

หากพรรคร่วมรัฐบาลยังแน่วแน่ตามจุดยืนเดิม ความฝันของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนที่จะแก้ไขก็สลายทันที เพราะหลักเกณฑ์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนล็อกไว้หลายชั้น จนแทบจะแก้ไขไม่ได้เลย เว้นแต่ สส., สว.จะเห็นพ้องพร้อมเพรียงกัน

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดว่าประเด็นที่ขอแก้ไขข้างต้น ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จะต้องนำไปออกเสียงประชามติเสียก่อน และถ้าผลการออกเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ จึงค่อยดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ทว่า ยังมีการล็อกที่ถือว่าเป็นงานยากงานหินอีกชั้น คือ มาตรา 256 (6) การพิจารณาของ 2 สภาในวาระที่สามนั้น สมาชิกต้องเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ และในจำนวนนี้ต้องมี สส.ฝ่ายค้าน ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบด้วยไม่น้อยกวาร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมี สว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

นี่ยังไม่รวมเสียงคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ บ้างก็ว่าจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ให้แก่สังคม เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบสุดซอย เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยเฉพาะในสายตาประชาชนที่มองว่าพรรคเพื่อไทยมีทั้งแผลเก่า แผลใหม่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม ฉะนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ของพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคที่จะฝ่าฟันไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี