ลุ้นเรือดำน้ำในมือ“แมว” ส่องฉก.คอแดงในยุค“ปู”

หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ “โผทหาร” ไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แรงกระเพื่อมโดยเฉพาะในกองทัพเรือ (ทร.) ที่เกิดขึ้นต้องถือว่า “จบ” ไปโดยปริยาย ปฏิกิริยาทิ้งท้าย ทั้งการโพสต์แสดงความเห็น ความรู้สึก ที่คน ทร.สะท้อนความอัดอั้นตันใจก็คงเป็น “ควันหลง” ให้เป็นข้อสังเกตต่อไป

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทร.ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และมีการตั้งถามว่าเกิดอะไรขึ้นในองค์กร เพราะการเลือกผู้มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทร.ครั้งนี้ เกิดความขัดแย้งหนักกว่าในอดีต และเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมการโยกย้าย “ยุคใคร-ยุคมัน”

แต่เมื่อมี ผบ.ทร.คนใหม่แล้วก็ต้องติดตามต่อไปว่า นโยบายและแนวทางของ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ จะสานต่อภารกิจเฉพาะหน้า การเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำต่อไปได้หรือไม่ และเสริมสร้างศักยภาพของ ทร.อย่างไร

โดยเฉพาะเรื่อง “เรือดำน้ำ” หลังจากพ้นมือจาก “สุทิน คลังแสง” มาแล้ว ความเป็นไปได้ในการเดินหน้าต่อยัง 50:50 ซึ่งหากรัฐบาล และ รมว.กลาโหมในยุคของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ล้มเลิกโครงการ ก็มีความสุ่มเสียงที่จีนจะไม่คืนเงินงวดที่ทางการจ่ายไปให้เกือบ 8 พันล้านบาท และนำ S26T ที่ต่อให้ไทยส่งต่อให้ “กัมพูชา” ซึ่งกำลังเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ขุดคลอง “ฟูนันเตโช” ซึ่งก็มีผลต่อยุทธศาสตร์ทางทะเลฝั่งอ่าวไทย

ในทางตรงข้าม หากเดินหน้าต่อจะมีการบริหารจัดการงบประมาณซื้อ “เรือผิวน้ำ” ให้เพียงพอกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ตามที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวหรือไม่

ปัจจัยอีกประการคือ ข้อจำกัดของแคนดิเดตทั้งหมดเหลืออายุราชการแค่เพียงปีเดียว พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.คนปัจจุบัน ก็ต้องวางทายาทรับไม้ต่อในปี 2568 ไว้ด้วย ซึ่งในโผนี้ก็มีชื่อของ พล.ร.ท.ไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ (ตท.24) รอง เสธ.ทร. (เกษียณปี 69) ขึ้นเป็น เสธ.ทร., พล.ร.ท.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช (ตท.25) เจ้ากรมข่าว ทร. ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (เกษียน 69), พล.ร.ท.พิจิตต ศรีรุ่งเรือง (ตท.25) ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ทร. (เกษียณปี 69), พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช (ตท.25) ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 ซึ่งขึ้นเป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ (เกษียณ 70)

ขณะที่ “โผ ทบ.” ซึ่งอุณหภูมิในการสู้รบร้อนฉ่าในช่วงต้นๆ แต่ก็จบลงได้อย่างราบคาบเมื่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ส่งชื่อ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และ พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 จนชื่อไฟเขียวผ่านตลอด ทำให้โผ ทบ.จึงตัดจบอย่างไม่สะดุด

แต่ปฏิกิริยาจากนั้นคือ แนวโน้มปรับการบังคับบัญชา “ฉก.คอแดง” หรือหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ใหม่เพื่อเป็นหลักประกันสนองงานของหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 โดยมีกระแสข่าวว่า ต่อไป ผบ.ฉก.ทม.รอ. อาจจะไม่ใช่ ผบ.ทบ.เหมือนเดิม

ในประเด็นนี้มีทั้งนัยเรื่องของการบังคับบัญชา ที่ไม่อยากให้มีการทับซ้อนหน่วยใหญ่ และจะมีการ “เทกโอเวอร์” การเลื่อน ลด ปลด ย้าย จากการเลือกคนมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพราะต้องยอมรับว่าในยุคของ “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย และแนวโน้มในยุคของ “บิ๊กปู” พล.อ.พนา ก็ไม่ได้สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ 100 เปอร์เซ็นต์

แต่อีกนัยหนึ่ง ส่งผลให้เกิดแนวคิดการ “ลดไซส์” ผบ.ฉก.ลงมาแค่ระดับแม่ทัพภาค (จากเดิมแม่ทัพภาคที่ 1 จะดำรงตำแหน่ง เสธ.ฉก.ทม.รอ.) เพื่อจะได้สั่งใช้งานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่าน ผบ.ทบ. จากเดิมที่มีข้อเสนอให้เป็น ผบ.เหล่าทัพอื่น แต่มีการคัดค้านเพราะเหล่าทัพอื่นไม่ได้มีกำลังพลสนับสนุนมากเท่ากับ ทบ.

แต่การจัดระเบียบใหม่จะมีข้อดีในแง่ของการฟื้นฟูหน่วยในโครงสร้างปรกติ เพื่อให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง มีความพร้อมในภารกิจหลัก เช่น การเตรียมกำลังเพื่อปกป้องอธิปไตย และภารกิจสนับสนุนในงานบรรเทาสาธารณภัย

เพราะหากนับการจัดโครงสร้าง ทม.รอ.904 ตั้งแต่ปี 2559-2560 ช่วงเปลี่ยนรัชสมัย และมีการตั้ง ฉก.ทม.รอ.904 ต่อจากนั้นในปี 2560-2561 ปรับโครงสร้างใหม่ โดยมี พล.1 รอ.และ ร.11 รอ.เข้าไปเป็น ฉก.ทม.ฯ มีการฝึกหลักสูตรทหารสัญญาบัตรให้กับหน่วยขึ้นตรงเหล่านั้น รุ่นแรกๆ ที่เข้ารับการฝึก เช่น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี พล.อ.สมบัติ ธัญญะวัน เป็นต้น

ภารกิจของ ฉก.คอแดง คือ การสนับสนุน ทม.รอ.904 คือ ถวายพระเกียรติ และ ถวายการรักษาความปลอดภัย รับ-นำ-ตาม-แซงเสด็จฯ นอกจากนั้นยังมีภารกิจในการปกป้องสถาบัน ตามแนวทางสนับสนุนงานด้านการข่าว เผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อเท็จจริง

แต่ด้วยธรรมชาติของทหารไม่ได้ถูกฝึกให้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่นไลน์ ด้วยการบริหารจัดการ สั่งการ และประเมินผลด้วย “ยอดกดไลก์-ยอดการเข้าชม-การมีส่วนร่วม” จนภารกิจที่เพิ่มขึ้นมากลายเป็นคำถามว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แม้จะเห็นว่าอุดมการณ์การเมืองของฝ่ายส้มจะมุ่งเซาะกร่อน-บ่อนทำลายสถาบัน

แนวทางในการมองปัญหาของ ผบ.เหล่าทัพยุคใหม่จึงมองไปที่บริบททางการเมือง โดยการเปิดประตูกองทัพให้ผู้ที่ตั้งคำถามหรือมีข้อสงสัยต่างๆ ว่าจะอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติหรือกลุ่มมวลชนเข้ามาพูดคุย รับฟังปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น กมธ.ความมั่นคงฯ-กมธ.ทหารฯ ที่เข้ามาแล้ว จากนั้นก็เป็นการประสานงาน พูดคุยในกรณีที่ไม่เข้าใจได้อย่างไม่เป็นทางการ

ไม่เลือกวิธีผลักผู้เห็นต่างให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม ทำลายล้าง จนเป็นเงื่อนไขให้ไปปลุกระดมในคนรุ่นต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของกองทัพเองก็ไม่ต้องเข้าไปยุติความขัดแย้งทางการเมือง นำกำลังออกมาปฏิวัติรัฐประหารเป็นวัฏจักรเหมือนในอดีต

ทำให้การจัดทัพของคอแดง ทบ.ในปีนี้จึงมีทั้งหมากในการ “คุมสภาพ” และ “หมุนเวียนกำลัง” ส่วนหนึ่งคือการส่ง พล.ต.วรยศ เหลืองสุวรรณ (ตท.28) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขยับขึ้นมาเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 จากเดิมที่มีโจทย์ “ฟาสต์แทร็ก” เหมือนโมเดลของปู-พนา เพื่อดันขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เลยทีเดียว เพื่อให้ทันขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ก่อนปีที่เกษียณอายุราชการ

และให้ พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 ทหารเสือราชินี ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และหมุนเวียนเอา “รองแอ่ม” พล.ต.ณัฐเดช จันทรางศุ (ตท.28) รองแม่ทัพน้อยที่ 1 กลับมาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แล้วให้ “ผบ.ลาภ” พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) เป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1

ขณะที่หมุนเวียนรุ่น ตท.30-31 ลงใน “คอแดงโรงเรียน” ได้แก่ พล.ต.เทพพิทักษ์ นิมิตร (ตท.31) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2 รอ.) เป็นรอง ผบ.รร.จปร. พล.ต.เอกอนันต์ เหมะบุตร (ตท.30) ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 เป็นรอง ผบ.รร.จปร. พล.ต.วุทธยา จันทมาศ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 เป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก พล.ต.โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ เป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก

ที่สำคัญคือ การวางทหารเสือราชินีไว้ใน 3 กองพลสำคัญ ได้แก่ พ.อ.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา (ตท.32) รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ. กิตติ ประพิตรไพศาล (ตท.31) รอง ผบ.พล.2 รอ. ข้ามขึ้นเป็น ผบ.พล 1 รอ., พ.อ.ยุทธยา มีเจริญ (ตท.30) ขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11

อาจเรียกได้ว่าใน 3 ปีต่อจากนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านของ ทบ. ปรับยุทธศาสตร์ในการรับมือกับภัยคุกคามด้านต่างๆ และการเมืองที่ยังมีความสลับซับซ้อน หลังจากที่หลังแอ่นมาหลายปี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย

ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’

สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’