หมกเม็ดแก้ไข รธน. ลดดีกรี 'มาตรฐานจริยธรรม' พรรคร่วมรัฐบาลผวากระแสตีกลับ

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เพิ่งจะเข้าบริหารประเทศได้ไม่กี่วัน แต่ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล กลับเร่งรีบที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ทั้งที่ประเทศมีปัญหาหลายเรื่องรอให้รัฐบาลเพื่อไทยแก้ไข โดยเฉพาะ ปัญหาปากท้อง อีกทั้งนโยบายเรือธง ดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่สามารถทำได้อย่างที่คุยโม้โอ้อวด กลายเป็นว่าปีนี้ 2567 จะมีแค่กลุ่มเปราะบางเท่านั้นที่ได้เงินหนึ่งหมื่นบาท ส่วนที่ลงทะเบียนกันหลายสิบล้านคนต้องคอยเก้อ จนทำให้เพื่อไทยเสียแต้มการเมืองไปพอสมควร

แต่แทนที่รัฐบาลเพื่อไทยจะเร่งทำหลายเรื่องเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ทำให้ประชาชนมีความหวังกับรัฐบาลแพทองธาร กู้คะแนนนิยมทางการเมืองกลับคืนมา แต่เพื่อไทยกลับเร่งรีบเสนอแก้ไข รธน.และกฎหมายประกอบ รธน.เหมือนกับเป็นเรื่องเร่งด่วนวาระแห่งชาติ

ที่ร้ายแรงก็คือ พบว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข รธน.รายมาตรา ของเพื่อไทย รวมถึงของพรรคประชาชน แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่ก็เสนอแก้ไข รธน.เช่นกัน เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นร่างแก้ไข รธน.ที่มีแต่

นักการเมือง-พรรคการเมืองได้ประโยชน์ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร

เข้าข่ายทำเพื่อตัวเอง ผลประโยชน์ทับซ้อน สอดรับกับคำกล่าวอมตะ ชนชั้นใดมีอำนาจ ก็เขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น

และยังเป็นการเสนอแก้ไข รธน. ที่ทำให้จุดแข็งของ รธน.ฉบับปัจจุบันที่เป็น

รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง

ซึ่งผ่านการทำประชามติมาด้วยคะแนนเสียง 16 ล้านเสียง ถูกลดดีกรีความเข้มข้นลง โดยเฉพาะเรื่อง

มาตรฐานทางจริยธรรม

ที่นอกจากใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรอิสระและศาล รธน.แล้ว ก็ยังใช้กับนายกฯ-รัฐมนตรี-สส.และ สว. ที่พบว่าเจตนารมณ์ที่ซ่อนเร้นของการเสนอแก้ไข รธน.รอบนี้ คือหวังทำให้ นักการเมืองสีเทา เข้าสู่ตำแหน่งได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี และทำให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ยากขึ้นด้วยเช่นกัน ผ่านการแก้ไข รธน.ด้วยการปลดล็อกมาตรา 160 (4) และ (5) รวมถึงแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ที่จะตามมา

ซึ่งแกะรอยได้ว่า นักการเมือง- พรรคการเมืองมีวาระซ่อนเร้น มุ่งหวัง ลดทอน-ริบอำนาจ องค์กรตรวจสอบอย่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นความเคลื่อนไหวหลังเกิดกรณีศาล รธน.ตัดสินยุบ พรรคก้าวไกล และวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกฯ กรณีฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม

จึงทำให้พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านแสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง ในการที่จะแก้ไข รธน.และ พ.ร.บ.ประกอบ รธน. เพื่อลดทอนกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และคลายกฎเหล็กเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ของผู้จะเข้าไปใช้อำนาจบริหารประเทศ ให้คลายความเข้มข้นลง

อย่างประเด็นเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ในเรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ที่เคยทำให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็พบว่าทั้งเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างเสนอแก้ไข รธน.มาตราดังกล่าว เพียงแต่แตกต่างในรายละเอียด

ซึ่งในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่เสนอร่างแก้ไข รธน.รายมาตราแล้วนั้น พบว่าเสนอแก้ไขใน 6 ประเด็นหลัก อาทิ

-แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

-แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือมาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246

-แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไขกรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

-แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

ส่วนฝ่าย พรรคประชาชน วางธงการแก้ไข รธน.และกฎหมายลูกในเรื่องเกี่ยวกับ

อำนาจของศาล รธน.-องค์กรอิสระ-มาตรฐานทางจริยธรรม

ตามคำเปิดเผยของ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำพรรคประชาชนที่รับผิดชอบเรื่องการเสนอร่างแก้ไข รธน. ที่บอกไว้อย่างเรื่องการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม พรรคประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรมและนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวน วินิจฉัยว่าการกระทำอะไรที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม สิ่งที่กังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจเดิมที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แกนนำพรรคประชาชน-พริษฐ์ บอกว่า ข้อเสนอของพรรค ปชน.มี 4 ข้อ คือ 1.แยกกลไกการตรวจสอบจริยธรรมออกจากการตรวจสอบการทุจริต โดยให้การพูดถึงจริยธรรมเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง แต่การตรวจสอบการทุจริตควรมีกลไกทางกฎหมาย

2.ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดการนิยามมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเปลี่ยนเป็นให้แต่ละองค์กรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของตนเองที่เหมาะกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร

3.ยกเลิกอำนาจที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการไต่สวนและวินิจฉัยว่ากรณีไหนเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม

4.ปรับกระบวนการที่ประชาชนหรือสมาชิกรัฐสภาสามารถยื่นเรื่องร้องได้ หากเห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และลดบทบัญญัติที่ปัจจุบันมีการให้ดุลยพินิจของประธานสภาฯ ในการตัดสินใจว่าจะยื่นเรื่องต่อหรือไม่ แต่จะแก้ให้ประธานสภาฯ​ เป็นเพียงแค่คนส่งเรื่องเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ต้องดูต่อไปว่าเมื่อมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของร่างแก้ไข รธน.ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จะมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง

ตลอดจนต้องจับตาท่าทีของ สส.และ สว.ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีการลดทอนความเข้มข้นของเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้กับรัฐมนตรี-สส.-สว.ลงมา ที่หากมีการแก้ไข คนที่ได้ประโยชน์ก็มีแค่พวกนักการเมือง-พรรคการเมืองเท่านั้น

หากดูจากจำนวนเสียง สส.-สว.แล้ว ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลต่างเอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครแตกแถว เสียงโหวตตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระ 3 ก็ฉลุย ไม่มีปัญหา ยิ่งพรรคประชาชน แกนนำฝ่ายค้าน เสนอร่างแก้ไข รธน.ในมิติเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้เสียงโหวตเห็นชอบท่วมท้น

ส่วน สมาชิกวุฒิสภา ที่ตอนนี้มี สว.สีน้ำเงิน ร่วมๆ 150 คน หาก สว.สีน้ำเงินได้รับสัญญาณมาว่าให้โหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. ก็น่าจะมีเสียง สว.โหวตเห็นชอบด้วยเกิน 1 ใน 3 คือเกิน 64 เสียง คือเกินจำนวนขั้นต่ำที่ รธน.บัญญัติไว้เสียอีก

กระนั้น ต้องรอดูตอนช่วงใกล้ๆ รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอเข้าไป ว่าสถานการณ์การเมืองช่วงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร “แรงหนุน-แรงต้าน” จะมีมากน้อยแค่ไหน เพราะเชื่อว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน.ก็พร้อมจะหาช่องขวางไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ เช่น สร้างกระแสให้ประชาชนคัดค้าน จนทำให้ร่างถูกคว่ำในขั้นตอนทำประชามติ จากนั้นก็ขยายผลเรียกร้องให้รับผิดชอบทางการเมือง เป็นต้น 

อย่างตอนนี้เริ่มเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง "ภูมิใจไทย” และ "รวมไทยสร้างชาติ” ที่ดูจะไม่ค่อยอยากร่วมสังฆกรรมด้วยกับการแก้ไข รธน.ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการลดดีกรีเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม แต่ก็ไม่แน่ หากพรรคเพื่อไทยกดดันมา สส.พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจต้องยอมล่มหัวจมท้ายเอาด้วย เพื่อแลกกับการไม่ถูกถีบออกจากพรรคร่วมรัฐบาลแบบ "พลังประชารัฐ”!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภูมิธรรม’ สั่งลุยช่วยเหลือชีวิตคนติดซากตึกถล่ม 

“ภูมิธรรม” ย้ำช่วยเหลือชีวิตคนติดซากตึกถล่ม สำคัญที่สุด เร่งเคลียร์ชิ้นส่วนขนาดใหญ่ เปิดทางให้อากาศหายใจพร้อม เร่งส่งวิศวะตรวจสอบอาคารสูง-คอนโด ทั่วกรุงเทพ

โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวสะเทือนภาวะผู้นำ เมื่อนายกฯก็ไม่รู้เหมือนประชาชน!

วันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. แรงสั่นสะเทือนขนาด 8.2 ริกเตอร์ จากประเทศเมียนมาได้สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างถึง 57 จังหวัด

ควันหลงซักฟอก 'อิ๊งค์' เสี่ยงขัดจริยธรรม ‘พรรคส้ม’ รุกฆาตหรือรอฮั้ว ‘พรรคแดง’

ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติโหวตญัตติในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยคะแนนเสียงไว้วางใจ 319 ต่อ 162 เสียง

'อิ๊งค์' นั่งรถไฟใต้ดินดูความเรียบร้อยหลังแผ่นดินไหว ข้องใจทำไมถล่มแค่ตึกเดียว!

นายกฯ นั่งรถไฟใต้ดิน ดูความเรียบร้อยขนส่งสาธารณะ หลังเหตุแผ่นดินไหว ขอมั่นใจระบบขนส่งปลอดภัย สงสัยเหมือนชาวเน็ตถล่มแค่ตึกเดียว สั่งกรมโยธาฯตั้ง กก.สอบ ขีดเส้นใน 1 สัปดาห์

'สนธิญา' ยื่น กกต. สอบปม 'นายกฯอิ๊งค์-เท้ง' โต้กันนัวศึกซักฟอก คนนอกครอบงำพรรค

นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยื่นหนังสือต่อกกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบจากกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 -25 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการกล่าวหาซึ่งกันและกัน ระหว่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน

'100 องค์กร' แถลงการณ์ค้าน 'กม.กาสิโน' ตีเช็คเปล่าซูเปอร์บอร์ด-ครม.

เครือข่ายภาคประชาสังคม 100 องค์กร อันประกอบด้วยองค์กรศาสนา องค์กรชุมชน องค์กรเด็กเยาวชนและครอบครัว องค์กรอาสาสมัคร องค์กรการศึกษา และอื่นๆ