20ปีแห่งการสูญเสีย‘คดีตากใบ’ 14จำเลย-ผู้ต้องหาส่อลอยนวล?

อีก 1 เดือนโดยประมาณครบ 20 ปีแล้ว ที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งทหาร ตำรวจ จับประชาชนเป็นร้อยๆ คนที่ไปยืนชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)

โทษฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไปจากหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จับผู้ชุมนุมนับร้อยคนไปอยู่ในรถบรรทุก 25 คัน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 78 คน อันเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ!

กลายเป็นอีกหนึ่งคดีอาญาที่ใช้เวลาดำเนินการนาน ใกล้ครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ตัวเลขนี้มีความหมายกับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะครบ 20 ปีเมื่อไหร่ ตามกฎหมายถือว่าอายุความขาด เมื่อถึงวันนั้นก็จะกลายเป็นว่าผู้ต้องหาลอยนวล กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติชน ไร้มลทิน

 “คดีตากใบ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนที่หนึ่งมีอัยการสูงสุด เป็นโจทย์ฟ้องผู้ต้องหา 8 ราย ประกอบด้วย ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร. 5) เป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 2 ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 3 นายวิษณุ เลิศสงคราม เป็นพลขับ

ผู้ต้องหาที่ 4 ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 5 นายปิติ ญาณแก้ว เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 6 พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 7 พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ และผู้ต้องหาที่ 8 ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ เป็นพลขับ

โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. “ประยุทธ เพชรคุณ” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบในส่วนนี้ สรุปสาระสำคัญคือ สั่งฟ้องต่อศาลไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา และเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมารับข้อกล่าวหา อัยการสูงสุดจึงต้องแจ้งไปยัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. (กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.) เพื่อให้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการ จ.ปัตตานีต่อไป

กล่าวง่ายๆ คือ หากนำตัวผู้ต้องหา 8 คนมาขึ้นศาลไม่ทันสั่งฟ้อง บุคคลเหล่านี้ก็จะหลุดจากคดี ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยอัตโนมัติ

สำหรับคดีตากใบ ส่วนที่สองมีญาติผู้เสียชีวิตเป็นโจทย์ ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. “ศาลจังหวัดนราธิวาส” รับฟ้อง และนัดสอบคำให้การครั้งแรกในวันที่ 12 ก.ย. แต่ปรากฏว่า จำเลยไม่ปรากฏตัวต่อศาล ทำให้ศาลออกหมายจับจำเลย 6 คน จากทั้งหมด 7 คน ได้แก่ 1.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 2.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า 3.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ. 9)

4.พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ (ผกก.สภ.ตากใบ) 5.นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผอ.กอสส.จชต.) และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 6.นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 

ส่วน 1 คนที่ไม่ได้ออกหมายจับ คือ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาค 4 จำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ด้วยความที่ยังมีสมาชิกภาพเป็น สส. ผู้แทนปวงชน จึงมีเอกสิทธิ์คุ้มกันระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ทว่า เอกสิทธิ์คุ้มกันก็ไม่สำคัญเท่าการทราบว่า “พล.อ.พิศาล” รักษาตัวอยู่ต่างประเทศ!!! บางคนมองว่าเป็นแท็กติกทางกฎหมาย เมื่อครบ 25 ต.ค.เมื่อไหร่ ก็กลับเข้าประเทศได้ทันที

แต่เมื่อถามว่า พล.อ.พิศาล ได้ทำหนังสือลาประชุมหรือไม่ เพราะมีข้อมูลว่าเจ้าตัวรักษาตัวอยู่ต่างประเทศ ทั้งประธานสภาฯ และเลขาธิการสภาฯ กลับโยนเป็นเรื่องของงานธุรการ

ประเด็นสำคัญของคดีตากใบอยู่ที่จำเลยทั้งหมดทั้งมวล 14 คนอาจหลุดคดีได้ ถ้านำตัวบุคคลเหล่านี้มาต่อหน้าศาลไม่ได้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มหึมาของกระบวนการยุติธรรม ที่ปล่อยให้คดีเกือบครบอายุความ แล้วค่อยมาจริงจังเอาช่วงปีสุดท้าย จนกระทั่งทำอะไรไม่ทัน

ถามว่า 18-19 ปีที่ผ่านมา มัวทำอะไร? 

ท้ายที่สุด ต้องค่อยดูว่าหลังจากนี้จนถึง 25 ต.ค. จะสามารถนำตัวจำเลยฟ้องต่อหน้าศาลได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็หมายความว่าผู้ต้องหา-จำเลยจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ

ขณะเดียวกัน จะทิ้งเป็น บาดแผลในใจแก่ชาวตากใบและครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ครอบครัว เพราะเขาไม่ได้รับความยุติธรรม ที่สำคัญจะทำให้กลายเป็นน้ำผึ้งอีกหยดหนึ่งระหว่างประชาชนกับภาครัฐหรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม

หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว

'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน

สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้

คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'

ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์

“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม

จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา