ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านจะพักรบ หันมาจูบปากปรองดองชั่วคราว หากไม่ใช่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองและพวกพ้องลงตัว
อย่างเช่นประเด็นร้อนฉ่าเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” และ “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่จะต้องเร่งแก้ไข หลังเจออิทธิฤทธิ์รัฐธรรมนูญ 60 ผ่านคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ในรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ตกเก้าอี้นายกฯ ปมแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จากคดีถุงขนมมาแล้ว
ยังส่งผลให้การจัดตั้ง ครม. “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ มีความเข้มงวด จนกลายเป็น ครม.สืบสันดาน หลังรัฐมนตรีบางคนมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องจริยธรรมจนต้องหลบไป และส่งนอมินีหรือคนในครอบครัวมาดำรงตำแหน่งแทน
นอกจากนี้ยังมียาแรงแฝงอีก ผ่านมาตรา 219 และ 235 ด้วยการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และยังบังคับคุมเข้มรัฐมนตรี สส.และ สว.อีกด้วย
หากมีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม นักร้องสามารถยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน แล้วยื่นให้ศาลฎีกาตัดสิน หากมีความผิดผู้ถูกกล่าวหาต้องพ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิ์รับเลือกตั้งและห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อย่างเช่นนักการเมืองหลายคนที่ถูกประหารทางการเมืองมาแล้ว อาทิ “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ, กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ, ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ, พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ และอดีต 3 สส.พรรคภูมิใจไทยกรณีเสียบบัตรแทน
ขณะเดียวกัน ยังมีคำร้องอยู่ในกระบวนการไตส่วนจาก ป.ป.ช.เพื่อรอเชือดต่อไป โดยเฉพาะอดีต 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอาศัยเหตุสารตั้งต้นจากที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงจากนโยบายแก้ไขมาตรา 112 หากสุดท้ายส่งให้ศาลฎีกาตัดสินแล้วมีความผิด ก็จะมีโทษตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตเช่นกัน
สำหรับยาแรงของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นและทำให้นักการเมืองมีปัญหา โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมใช้กลไกรัฐสภาเดินหน้าแก้ไขประเด็นดังกล่าวผ่านรัฐธรรมนูญรายมาตรา
“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าได้เตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เพื่อกำหนดกรอบ มาตรฐานจริยธรรมให้เกิดความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า พร้อมยกตัวอย่างกำหนดจุดตัดเอาไว้ว่า บุคคลที่จะเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะต้องถูกศาลฎีการับฟ้องเป็นอย่างน้อย ตัดอำนาจชั้นไต่สวนจาก ป.ป.ช. และยังป้องกันการกลั่นแกล้งทางการเมืองด้วยการยื่นให้ตรวจสอบอีกด้วย
“ต้องการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบาก ซึ่งเรามองว่ามีความจำเป็น ไม่ใช่ทำเพื่อให้เราได้รับประโยชน์ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมายที่เป็นธรรม ยุติธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฝ่ายกฎหมายกล่าว
แตกต่างจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ของพรรคประชาชน (ปชน.) ที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว และรอการบรรจุในระเบียบวาระภายใน 15 วัน ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมร่วมรัฐสภาเบื้องต้นในวันที่ 25 ก.ย.นี้
สำหรับการแก้ไขของพรรค ปชน. ไม่เพียงเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี มาตรา 160 (4) และ (5) เท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขหมวดจริยธรรมทั้งระบบ หรือสุดซอย โดยแก้ไขประเด็นมาตรา 219 และ 235 ตัดอำนาจการไต่ส่วนของ องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา ป้องกันผูกขาดการตีความ
โดยจะวางขอบเขตอำนาจให้สมเหตุสมผลและไม่เปิดช่องให้ถูกใช้ในการขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน, การปรับกระบวนการสรรหา-รับรองผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชนและไม่ถูกผูกขาดไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง และการสร้างกลไกในการตรวจสอบและกลไกรับผิดรับชอบขององค์กรอิสระ
“พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นเรื่องให้วินิจฉัย องค์กรที่วินิจฉัยไต่สวนคือศาลรัฐธรรมนูญ เรามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง เช่น หากเกิดกรณีการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อกระแสข้อวิจารณ์ทางสังคม ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลไปถึงคูหาเลือกตั้ง
“สิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาคือการนำเรื่องที่เป็นนามธรรมในจริยธรรมกำหนดไว้ในตัวบทกฎหมาย และให้อำนาจกับองค์กรกลุ่มเดียวในการนิยาม มีบทบาทหลักในการตีความวินิจฉัย สิ่งที่ต้องการเห็นคือการปรับปรุงกำกับจริยธรรม อย่างแรกมองว่าเรื่องจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สิ่งสำคัญคือความรับผิดชอบทางการเมือง” นายพริษฐ์กล่าว
เมื่อเห็นท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทยเสียงข้างมากอันดับสอง และพรรคประชาชนพรรคเสียงข้างมากในสภาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เห็นพ้องกัน และอ้างว่าแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ และยึดโยงระบบกับประชาชน
ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในรัฐสภาของบรรดา สส.และ สว.น่าจะผ่านฉลุย รวมถึงขั้นตอนการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 หลังลงมติในวาระ 3 ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะสภาเพิ่งเห็นชอบการแก้ไข ลดเงื่อนไขจำนวนเสียงข้างมากสองชั้น เหลือเพียงใช้เสียงข้างมากปกติเป็นที่เรียบร้อย
แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกมองในความหวาดระแวง เพราะเท่ากับโละอำนาจองค์กรอิสระ อาทิ ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบ และยังเปิดประตูให้บรรดานักการเมืองสีเทาเข้าสู่ตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งได้ยากขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มนิรโทษกรรม คืนสิทธิให้แก่หลายคนที่เคยถูกประหารชีวิตทางการเมืองไปแล้ว รวมถึง 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล อาจจะได้ประโยชน์ไปด้วยใช่หรือไม่
แม้เสียงในรัฐสภาจะไม่มีปัญหา แต่คนการเมืองอย่าเพิ่งวางใจว่าการโละ ทิ้ง รื้อมาตรฐานจริยธรรมแบบสุดซอยจะทำได้ง่ายดาย เพราะนอกจากประชาชนจะร้องถาม “มโนสำนึกของนักการเมือง” แล้ว ยังอาจเข้าช่องถูกตรวจสอบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญปราบโกงหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งเบิกงบลงทุน ขีดเส้นให้ได้80% กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ บี้เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนล้าน
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย
นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่
นายกฯ นำพรรคร่วมรัฐบาล แถลงเดินหน้า MOU ปี 44 ถามยกเลิกแล้วได้อะไร
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าหารือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายพิชัย ชุนหวชิร
'อิ๊งค์' แค่พยักหน้า ปม รพ.ตร. ไม่ยอมส่งเวชระเบียน 'พ่อนายกฯ' ให้ ป.ป.ช.
'นายกฯอิ๊งค์' ปฏิเสธตอบคำถาม ปม รพ.ตำรวจ ไม่ส่งเวชระเบียนรักษาตัว 'ทักษิณ' หลัง ‘ป.ป.ช.’ ทวงแล้ว 3 ครั้ง ทำแค่พยักหน้ารับทราบ