5 สมการเก้าอี้ ผบ.ทร. จบแบบไหน-ใครเป็นคนเลือก?

“โผทหาร” ดราฟแรกผ่านกระบวนการเช็กความถูกต้องไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมี พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับย้ายชั้นนายพล หรือบอร์ด 7 เสือกลาโหม ดำเนินกรรมวิธีตามกฎหมาย

แต่ขั้นตอนยังไม่เสร็จสิ้น หรือพร้อมจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รมว.กลาโหม ซึ่งเข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ต้องขอเวลาอีกนิด จะได้ร่วมพิจารณากองทัพและรับฟังข้อมูลรอบด้าน ดูทั้งเรื่องความเหมาะสม หลักการ ที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับ และไม่ทำให้เกิดความแตกแยก พร้อมยืนยันว่า ที่ล่าช้าไม่ใช่เพราะตำแหน่ง ผบ.ทร.ไม่ลงตัว แต่เพราะจังหวะช่วงเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล 

สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงท้ายรัฐบาลเศรษฐานั้น สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เร่งประชุมบอร์ด แต่ยังไม่ได้ลงนาม เพราะเห็นว่าชื่อที่เสนอมานั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจาก “บิ๊กดุง” เลือก ไข่นอกตะกร้า ไม่ใช่มีแคนดิเดตในไลน์ 5 เสือ ทร.ถึง 3 คน และพบข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติในการเลือกผู้จบจาก รร.นายเรือต่างประเทศขึ้นมา

ตามกระแสข่าวระบุว่า ชื่อแรกและชื่อเดียวที่ถูกเสนอชึ้นไปคือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทร.เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 23 ของ “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร. และเคยเป็นทีมฝ่ายเสธ.ของ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ อดีต ผบ.ทร.คนก่อนหน้า แต่ทั้งหมดนั้นนับได้ว่าเป็น ทีม “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อดีต ผบ.ทร. ซึ่งมีอิทธิพลกับการวางตัว ผบ.ทร.ในยุคหลัง “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์

ทำให้มีการจับตามองว่าในวันที่ “ภูมิธรรม” เข้ากระทรวงวันแรกจะประชุมบอร์ด 7 เสือเลยหรือไม่ จะได้ดับข่าวลือที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีรายงานว่า แม้จะไม่มีการประชุมบอร์ดอย่างเป็นทางการ เพราะ ผบ.ทอ.เดินทางไปประชุม ผบ.ทอ.อาเซียนที่กัมพูชา เลยไม่ครบองค์ประชุม แต่ก็มีการคุยกันนอกรอบประมาณ 15 นาที ที่ห้องทำงาน รมว.กลาโหม  

สิ่งที่ “บิ๊กดุง” ได้ย้ำในการคุยเพิ่มเติมคือ การชี้แจงเรื่อง “ม่านประเพณี” โดยงัดทำเนียบฯ ชื่ออดีต ผบ.ทร.ยุค “เจ้านาย” ช่วงศตวรรษที่ 2400  ล้วนจบการศึกษาจาก รร.ทหารต่างประเทศ เป็นการปิดช่อง “ข้อด้อย” ของผู้ที่ตนเองเสนอ

มีการวิคราะห์กันว่า ในสถานการณ์ที่ยังต้อง “รอ” เช่นนี้ ผลลัพธ์สามารถออกมาทางใดก็ได้ แล้วแต่ “ขุมข่ายอำนาจ” กลุ่มไหนจะทรงพลังมากกว่า

สมการแรก มีการมองว่า เมื่อดราฟแรก ซึ่งเป็นขั้นตอนของ “ผู้ใหญ่” ในหลายส่วนได้ดูรายชื่อตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา จึงเกิดผลให้เกิดข่าวลือว่า “โผ ทร.” สะดุด และไม่เป็นไปตามที่ “บิ๊กดุง” เสนอ เพราะคุณสมบัติบางประการไม่ครบถ้วน จึงมีการประเมินว่ากระแสดังกล่าวเป็นการ “โยนหินถามทาง” เพราะคุณสมบัติดังกล่าวจะส่งผลต่อแคนดิเดตคนอื่นด้วย และอาจเป็นการเช็กทิศทางข่าวของ “สื่อ” ว่าเป็นไปในทิศทางไหน

สมการที่สอง นำมาซึ่งการคาดเดาถึงสูตร “ตาอยู่” ที่เกิดขึ้นตลอดมาเมื่อเกิดความขัดแย้งชิงเก้าอี้ “แม่ทัพน้ำ” กันหนักหน่วง ทำให้ชื่อของ พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ และ พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เตรียมทหารรุ่น 24 ที่มีดีกรี "กลางๆ" และถือเป็นทีม “บิ๊กเฒ่า” ซึ่งมาแรงในช่วงโค้งสุดท้าย

สมการที่สาม การเข้ามาของตัวแปรสำคัญคือ “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม น้องรัก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกส่งเข้ามาเป็นหูเป็นตาประกบให้กองทัพสามารถเดินหน้าเป็นกลไกของรัฐ และตอบสนองภารกิจของรัฐบาล อีกทั้งไม่ถูกนำไปเป็นกลไกในการต่อรอง หรือเล่นเกมทางการเมือง

เพราะอย่าลืมว่าการเผชิญหน้าระหว่าง “นายใหญ่” และ “คนบ้านป่าฯ” ที่เกิดความขัดแย้งในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล จนพรรคพลังประชารัฐต้องถูกดีดออกมาจากรัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง 1" กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการระดมพลฝ่ายต้าน “ระบอบทักษิณ” มาตั้งฐานบัญชาการที่ “บ้านป่าฯ”

จึงมีความพยายามในการดึง “ขุมกำลัง” สีเขียว-สีกากี ที่เคยได้รับอานิสงส์จากบารมีของ “ลุงบ้านป่าฯ” เลยมาถึงทายาทที่รับไม้ เป็นเรื่องที่ระวัง แต่ไม่ใช่ระแวงอย่างที่ “บิ๊กอ้วน” ระบุ

ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่า “บิ๊กเฒ่า” และทีม ที่ได้ “รีเทิร์น” กลับมานั่งเก้าอี้ ผบ.ทร.ได้ในครั้งนั้น ก็เป็นการเติมพลังของบ้านป่า และเพื่อน ตท.20 ที่อยู่ข้างกาย ร่วมกันผลักดัน รวมไปถึงการดึง “บิ๊กจอร์จ” พล.ร.อ.เชิงชาย และ “บิ๊กดุง” ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ในช่วงที่ “ลุงตู่” มาควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ภายใต้สัญญาใจที่ “ลุงตู่” ให้ไว้กับคนที่อกหักในโผปีนั้นๆ

สมการที่สี่ ทำให้คนที่จะขีดเส้นใต้ สะบัดปากกาลงนามใน “โผทหาร” อย่างภูมิธรรม จึงต้องขอเวลาในการสดับตรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะจาก “บิ๊กเล็ก” รมช.กลาโหม ที่ต้องสานต่อ "สัญญาใจคนละปี" จากข้อมูลที่ว่า  ต้องเป็นคิวของ “บิ๊กวิน” พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร.ที่อาวุโสที่สุดใน ทร.

รวมถึงรับฟังจากเลขาฯ และกุนซือ ซึ่งเป็นเพื่อน ตท.10  ของทักษิณ ชินวัตร เพราะอย่างน้อยข้อมูลจาก “ครูกำธร” พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ (ตท.10)  อดีต ผบ.ทร. ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดกับแคนดิเดตอย่างน้อย 2 คน จะมีข้อสังเกตและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

ซึ่งมีรายงานว่า ความเห็นส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยในแนวทางการเสนอสูตรแบบ “สุดโต่ง” ปักธงความคิดในการเลือก ผบ.ทร.ที่ไม่ได้ยึดในหลักเกณฑ์ที่ควรจะเป็น พร้อมคำถามที่ตามมาว่า เหตุผลในการเลือกที่แท้จริงเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่ององค์กร และจะทำลายประเพณีการปฏิบัติของ ทร.ที่เคยมีมาหรือไม่

เมื่อข้อมูลครบถ้วนลงตัว “บิ๊กอ้วน” ก็ต้องทุบโต๊ะว่าจะจบอย่างไร เพื่อให้ “โผทหาร” ไม่นำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาในอนาคต

สมการที่ห้า เอาเข้าจริงปัญหาการวางตัว ผบ.ทร.เป็นเรื่องภายในหน่วยงานๆ หนึ่ง ซึ่งเคยมีความเกี่ยวพันกับการเมืองในอดีตเมื่อช่วงที่ 3 ป.อยู่ในอำนาจ การเข้ามาของ “สุทิน-ภูมิธรรม” จึงรับฟัง แต่ยากจะตัดสินใจ เพราะไม่ใช่ทหารที่คลุกคลีตีโมงในเรื่องการเลื่อนยศ ปลดย้าย ชิงเก้าอี้กันในกองทัพ

เมื่อดู “น้ำหนักเสียง” แล้ว ภารกิจของพรรคที่ส่งเข้ามาคือการปรับองค์กรให้สนองตอบกับโจทย์ของรัฐบาล ที่ต้องการฐานเสียง-โหวตเตอร์ จากการพัฒนากองทัพ และใช้กลไกที่มีอยู่ในการส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มมวลชนให้กับตัวเอง

การที่ ผบ.เหล่าทัพจะเสนอใครขึ้นมาเป็น เป็นเรื่องของเอกสิทธิ์ เมื่อมีข้อท้วงติงหรือคัดค้านก็เป็นเรื่องต้องมาประชุม ถกแถลงกันในบอร์ด 7 เสือ ตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อบันทึกความเห็นไว้เป็นหลักฐานในที่ประชุม

ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพก็จะไม่มีการไปแทรกแซง หรือโหวตข้ามเหล่าทัพ เพราะถือเป็นมารยาท จึงคิดว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ ภูมิธรรมจะปล่อยให้ชื่อที่ “บิ๊กดุง” เสนอ จบลงตรงนั้น เพราะการจะเปลี่ยนชื่อคนที่ ผบ.ทร.เสนอ เปิดศึกตั้งแต่เริ่มนั่ง รมว.กลาโหม ก็มีความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกัน

ยกเว้นในกรณีที่มี “ใบสั่ง” จาก “นายใหญ่” และผูกโยงไปที่ขั้วการเมืองก็ต้อง “ทุบโต๊ะ” เลือกคนที่เหล่าทัพไม่ได้เสนอ!.     

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ