รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้วหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาไปสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรก อังคารที่ 17 ก.ย.นี้ ซึ่งน่าจับตาว่า การประชุม ครม.นัดแรกของรัฐบาลแพทองธาร จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญๆ ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินอะไรบ้าง
คาดหมายกันว่า รัฐมนตรีหลายกระทรวงน่าจะเสนอโผเก้าอี้ตำแหน่งทางการเมืองในแต่ละกระทรวงคือ เลขานุการรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่จะต้องผ่าน ครม. ให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบอังคารนี้ รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองในทำเนียบรัฐบาล เช่น โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-รองโฆษกรัฐบาล-รองเลขาธิการนายกฯ ก็น่าจะเริ่มมีการทยอยเสนอชื่อให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบเช่นกัน ท่ามกลางข่าวว่า ล่าสุดคนที่จะเป็น โฆษกรัฐบาลเต็งหนึ่งคือ จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต สส.กทม.เพื่อไทย และอดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ยุคสุทิน คลังแสง
จากนั้นสัปดาห์ถัดๆ ไป ตำแหน่งอื่นๆ คงค่อยๆ ทยอยเข้า ครม. เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ตั้งได้ไม่เกิน 5 คน ส่วน ที่ปรึกษาของนายกฯ ตั้งได้ไม่จำกัดและไม่ต้องเอาเข้า ครม. รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ เช่น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ชุดใหม่แต่ละกระทรวง คงส่งชื่อเข้า ครม.ตามมาตามลำดับ
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ เช่น คณะทำงานรัฐมนตรี ตัวรัฐมนตรีแต่ละคนสามารถตั้งได้เต็มที่ ไม่จำกัดโควตา เพราะเป็นตำแหน่งที่ไม่เป็นทางการ ไม่ต้องเอาชื่อเข้า ครม.และไม่มีเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่งให้ โดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นพวกอดีต สส.สอบตก-ผู้สมัคร สส.ที่สอบตกที่อยู่ในพรรคการเมืองเดียวกับรัฐมนตรี หรือพวกเครือข่ายคนใกล้ชิด-เครือญาติกับรัฐมนตรีที่ไว้ใจตั้งมาช่วยงาน เอามาไว้หน้าห้องที่กระทรวงหรือทำเนียบรัฐบาล โดยส่วนใหญ่คนที่มีชื่อก็ชอบ เพราะเอาตำแหน่งไปพิมพ์นามบัตร เพื่อหวังผลในทางการเมือง
ซึ่งตำแหน่งทางการเมือง ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตัวรัฐมนตรีหลายคน โดยเฉพาะ รมต.จากพรรคขนาดใหญ่ เป็นที่รู้กันว่า บางคนแทบไม่ได้เลือกเอง แต่ทางผู้ใหญ่ในพรรคหรือพรรคต้นสังกัดส่งชื่อมาให้ รมต.เพื่อเอาชื่อเข้า ครม.เว้นแต่พวกรัฐมนตรีที่เป็นระดับแกนนำพรรค ที่สามารถเลือกเองได้
ในส่วนของ พรรคเพื่อไทย ข่าวว่า โผเก้าอี้การเมืองในส่วนที่เป็นตำแหน่งซึ่งต้องเอาเข้า ครม.ตอนนี้หลักๆ ทำเสร็จเกือบหมดแล้วเกือบทุกกระทรวง
โดยมีทั้งโผที่พรรคทำไว้แล้วส่งชื่อให้รัฐมนตรีแต่ละคนเอาชื่อเข้า ครม.และโผที่รัฐมนตรีแต่ละคนทำลิสต์ไว้เอง แต่มีการส่งให้ทางพรรคดูชื่อก่อน
จนลือกันไปว่า โผเก้าอี้การเมืองทุกตำแหน่งของเพื่อไทยยังไงต้องส่งไปให้ บ้านจันทร์ส่องหล้า-ทักษิณ ชินวัตร อ่านก่อนทุกชื่อทุกกระทรวง ที่น่าเชื่อว่า บางชื่ออาจถูกทักษิณสั่งเปลี่ยนก็เป็นได้
ข่าวบางกระแสอ้างว่า รัฐมนตรีหลายคนของเพื่อไทยที่เคยเป็น รมต.ตอนรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แล้วรอบนี้ได้กลับมาอีก และนั่งกระทรวงเดิม เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลฯ แนวโน้มจะใช้ทีมงานการเมืองเดิมทั้งเลขานุการ รมต.-ที่ปรึกษา รมต.เกือบทั้งหมด เพราะเป็นนักการเมืองในกลุ่มตัวเอง และทำงานเข้าขารู้มือกันดีแล้ว
แต่ก็มีรัฐมนตรีบางคน บางกระทรวงจากเพื่อไทย ที่ย้ายกระทรวง และกระทรวงใหม่ที่ย้ายไป จำเป็นต้องได้ทีมงานการเมืองที่อยู่ในสายงานนั้น ก็เลยต้องเปลี่ยนทีมงานหน้าห้อง อาทิ บิ๊กอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่เปลี่ยนจากการเป็น รมต.ด้านเศรษฐกิจ คุม ก.พาณิชย์ มาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง คุมกองทัพ-กลาโหม
ลือกันหนาหูว่า จันทร์ส่องหล้า เคาะชื่อส่งทีมงานการเมืองมาช่วยงานบิ๊กอ้วนที่กลาโหมแล้ว ที่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็น สองเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 10 กับทักษิณ ที่เคยไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยมาแล้วเมื่อปี 2552
โผตามข่าวคือ พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม และ พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม ยุคพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รอบนี้ลือกันว่าจะถูกส่งไปเป็นที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ทั้ง 2 คนอายุมากเกินไป น่าจะไม่เหมาะกับยุคสมัย
และนอกเหนือจากการเตรียมพิจารณาโผตำแหน่งการเมืองต่างๆ แล้ว การประชุม ครม.นับแต่ 17 ก.ย. รัฐมนตรี-ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงจะเริ่มทยอยส่ง
โผแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 และระดับ 11
ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบด้วยเช่นกัน หลังที่ผ่านมา การจัดทัพบิ๊ก ขรก.หลายกระทรวงในปีนี้สะดุดลงเป็นเดือน จากเหตุผล เศรษฐา ทวีสิน หลุดจากนายกฯ เมื่อ 14 ก.ย.จนกลายเป็น ครม.รักษาการ แต่เมื่อรัฐบาลแพทองธารเข้ามาแล้ว หลายกระทรวงจะเริ่มทยอยส่งโผเข้า ครม.นับแต่นี้เป็นต้นไป แต่หากไม่ทัน 30 ก.ย.ก็ไม่เป็นไร หากระดับ 11 หรือระดับ 10 กระทรวงไหนว่างลง ให้คนที่อยู่ในตำแหน่งรองลงมาปฏิบัติราชการแทนไปก่อนได้ แต่ทั้งหมดคงจัดทัพบิ๊ก ขรก.ให้เสร็จภายในไม่เกินสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม ที่ก็ถือว่าช้าแล้ว
สำหรับปีนี้มีระดับ 10 และระดับ 11 หลายหน่วยงานเกษียณ แต่บางกระทรวงโดยเฉพาะกระทรวงที่ รมต.ในรัฐบาลเศรษฐากลับมานั่งในตำแหน่งเดิมต่อในรัฐบาลแพทองธาร ข่าวคอนเฟิร์มว่าทำโผแต่งตั้งโยกย้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ชงตั้ง อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ จากอธิบดีกรมการปกครองมาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ ไว้ตั้งแต่ 6 ส.ค. แต่ขณะเดียวกันก็ทำ โผคลองหลอด-สิงห์มหาดไทย ระดับ 10 ทั้งรองปลัดกระทรวง-อธิบดี-ผวจ.-ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ร่วมๆ เกือบ 30 กว่าตำแหน่งเสร็จแล้วเช่นกัน เหลือแค่รอดูอยู่ว่าจะเอาเข้า ครม. 17 ก.ย.นี้ตามกระแสข่าวหรือไม่ หรือจะเป็นอังคารหน้า
ท่ามกลางข่าวลือว่า โผเดิมที่ทำไว้ ทั้งระดับอธิบดี-ผวจ.บางตำแหน่งมีการเปลี่ยนชื่อไปจากชื่อเดิมที่เคยปรากฏเป็นข่าว ทำนอง โผพลิก แต่ก็ไม่มาก โดยตำแหน่งหลักๆ พวกอธิบดีกรมต่างๆ รวมถึงผู้ว่าฯ ในจังหวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามโผเดิม
ซึ่งปีนี้มหาดไทยนอกจาก ปลัดเก่งฯ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่เกษียณแล้ว พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็เกษียณเช่นกัน
ขณะที่ตำแหน่ง ผวจ.ปีนี้มีเกษียณ 25 คน อาทิ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าฯ เชียงราย ที่มีปัญหากับฝ่ายการเมืองใน มท.จากกรณีน้ำท่วมเชียงราย-แม่สาย ส่วนคนอื่นๆ ก็เช่น วันชัย คงเกษม ผู้ว่าฯ อุดรธานี ซึ่งดอดสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช.มาถึง 2 รอบแล้ว แต่ไม่ผ่านการคัดเลือก, สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าฯ นนทบุรี เป็นต้น
ที่น่าสนใจ ผู้ว่าฯ หลายจังหวัดที่เกษียณปีนี้ และต้องตั้งคนใหม่เข้าไปแทน เป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เช่น สุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าฯ สุโขทัย สายตรง สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำเพื่อไทยและ รมว.สาธารณสุข ซึ่งตอนเลือกตั้งปี 2566 กลุ่มสมศักดิ์พาลูกทีมชนะยกจังหวัด ดังนั้นยังไง ผวจ.สุโขทัย ก็ต้องเป็นคนที่กลุ่มสมศักดิ์หนุนหลัง
การประชุม ครม.รัฐบาลแพทองธาร ตั้งแต่อังคารนี้เป็นต้นไป จึงต้องดูกันว่า จะมีการส่งคนไปรับตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงมีการจัดทัพบิ๊กข้าราชการกระทรวงต่างๆ อย่างไร ภายใต้ความเชื่อที่ว่า รายชื่อตำแหน่งการเมืองโดยเฉพาะโควตาเพื่อไทยและบิ๊ก ขรก.เกือบทุกกระทรวง ยังไงต้องให้ผ่านตา “ทักษิณ จันทร์ส่องหล้า” ก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาภายหลัง!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
นายกฯ ประชุมเตรียมความพร้อมเปิดตัว 'บ้านเพื่อคนไทย' 17 ม.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตข้อความผ่าน X ระบุว่า วันนี้เตรียมความพร้อมก่อนเปิด #บ้านเพื่อคนไทย
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”