เพราะเมื่อย้อนดู 10 ข้อของนโยบายรัฐบาลนี้ ล้วนเต็มไปด้วย “อภิมหาโปรเจกต์” ที่ใช้เงินมหาศาล ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยว สุ่มเสี่ยงที่จะผูกโยงกับเรื่องผลประโยชน์ด้วย
จบสิ้นไปแล้วสำหรับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 เป็นการตอกย้ำนโยบาย 10 ข้อเร่งด่วนของ “อุ๊งอิ๊ง”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเดินหน้าให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
-การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบและในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม
-ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์
-ออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้านขนส่งมวลชน จะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมใน กทม. เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย รวมถึงรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
-สร้างรายได้ใหม่ นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี
-เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
-ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร
-เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์)
-แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร
-เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ
-ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง
-แจกเงินหมื่นผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) หรือกาสิโนถูกกฎหมาย หวังเงินใต้ดินมาอยู่บนดิน
เมื่อดูจากนโยบายที่แถลงแล้ว พอจะเห็นทิศทางของรัฐบาลว่า มุ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจ การสร้างเงิน สร้างรายได้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องคะแนนนิยมของพรรคการเมืองไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบข้าราชการ, นโยบายสร้างความปรองดองและทลายทุนผูกขาดของประเทศ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว
กระนั้น ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เหล่าบรรดารัฐมนตรีและทีมงานต่างเข้าประชุม ณ ที่ทำการพรรคชั่วคราวที่ตึกชินวัตร 3 ทุกวัน ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บทบาทสำคัญในการเคาะนโยบายนอกจาก “หัวกะทิ” ทีมยุทธศาสตร์พรรคแล้ว ว่ากันว่าหนึ่งในนั้นยังมี “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้เป็นพ่อร่วมอยู่ด้วย
จึงปฏิเสธได้ยากว่า นโยบายที่ประกาศออกมานั้นเป็นวิสัยทัศน์ของอุ๊งอิ๊งที่กำหนดออกมาด้วยตัวเอง หากแต่เป็นไอเดียของอดีตนายกฯ ผู้เป็นพ่อ ที่กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้ทีมงานได้กำหนดรายละเอียดเป็นเอกสาร และจัดทำเป็น “โพย” ให้นายกฯ ได้แถลง
"ผมอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีพูดนอกสคริปต์ที่เจ้าหน้าที่เตรียมมา ซึ่งผมเข้าใจว่าต้องทำ เพราะข้อบังคับตามกฎหมาย แต่ท่านสามารถลุกขึ้นตอบได้นอกสคริปต์ ผมอยากให้ท่านแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ผู้นำที่ดีนอกจากการฟังสมาชิกหรือรับฟังความเห็นแล้ว ต้องชี้นำความคิดที่ถูกที่ควรให้กับสมาชิกและสังคมด้วย” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ระบุ
สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่ระบุเรื่อง วิสัยทัศน์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นของใครก็เอามาใช้ได้ หลังจากที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่เบื้องหลังการบริหารงาน
ถ้าเป็นฝ่ายค้านยุคก่อนเชื่อว่า “อุ๊งอิ๊ง” คงถูกรุมสกรัม โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่เมื่อนายกฯ คือลูกของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่ศัตรูตัวจริงของพรรคส้ม ทำให้ “น้ำหนักมือ” ในการอภิปรายจึงถูกยั้งลงบ้าง จึงเห็นแค่วาทกรรมแซะความเป็นคุณหนูถือสคริปต์เท่านั้น พร้อมพุ่งเป้าไปที่เนื้อในของนโยบาย ซึ่งเป็นงานรูทีนที่ต้องตั้งคำถามเท่านั้น
ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบเบาๆ ไม่มีการล้วงลึก หรือตรวจสอบที่มาในการจัดทำนโยบาย รวมถึงเช็กความเข้าใจต่อวิสัยทัศน์ที่แสดงต่อนโยบายว่ามีส่วนมาจากนายกฯ จริงหรือไม่
แต่ก็ใช่ว่านายกฯ จะทำทุกอย่างได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีทีมงานในการ ซัพพอร์ต ทุกเรื่อง เพราะวิกฤตเฉพาะหน้าอันเกิดจากสถานการณ์น้ำท่วม ยังเป็นบทพิสูจน์ภาวะผู้นำว่ามองเห็นภาพรวมของปัญหาหรือไม่ เพื่อที่จะบริหารงาน สั่งการได้อย่างเป็นระบบ
เหล่านั้นเป็นการแสดงออกถึง “วุฒิภาวะ” ของนายกฯ ว่ามีมากพอหรือไม่ เพราะหลายฝ่ายก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าตัวมัวแต่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของตนเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงเวลาที่ภาพแห่งความทุกข์ระทมของคนถูกน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือเต็มฟีดไปหมด
อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ฝ่ายต่อต้าน ระบอบทักษิณ จะอ่อนแรง และหวังพึ่งท่อน้ำเลี้ยงสุดท้ายที่บ้านป่ารอยต่อฯ ซึ่งกำลังเจอสงคราม “คลิปหลุด”
หรือมองว่าตัวเองได้เปรียบเพราะได้รับ สัญญาณพิเศษ ในการหนุนให้เป็นหัวหลักในการขับเคลื่อนรัฐบาลขวางพรรคส้ม
แต่ก็อย่าเพิ่งประมาทว่ากลุ่มต้านระบอบทักษิณจะรวมตัวกันไม่ติด
เพราะเอาเข้าจริง “หัวเชื้อ” ที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามจุดติด ก็คือพฤติกรรมและการกระทำของรัฐบาลภายใต้การนำของคน “ชินวัตร” นั่นเอง
เพราะเมื่อย้อนดู 10 ข้อของนโยบายรัฐบาลนี้ นอกจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ยังเต็มไปด้วย อภิมหาโปรเจกต์ ที่ใช้เงินมหาศาล ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยว สุ่มเสี่ยงที่จะผูกโยงกับเรื่องผลประโยชน์และคอนเนกชันด้วย
ในส่วนของดิจิทัลวอลเล็ตที่ปรับเป็นการ แจกเงินหมื่น ให้กับกลุ่มเปราะบางในเฟสแรกวันที่ 25 ก.ย.2567 ก็เพราะสถานการณ์และเวลาบีบบังคับ หากไม่เร่งดำเนินการสิ่งที่ประกาศไว้ให้เป็นรูปธรรม กระแสโจมตีก็พุ่งไปที่ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ซึ่งเชื่อว่าคนที่ดูแลปกป้องอยู่คงไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น
แต่การเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสที่ 2 และ 3 เพื่อให้ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด อาจต้องใช้เวลาดำเนินการไปถึงปีหน้า เพราะแม้แต่ รมต.ที่กำกับดูแลยังไม่สามารถตอบได้ว่า รูปแบบ รายละเอียด และเวลาที่แน่ชัดจะเป็นเมื่อไหร่
ความคาดหวังที่จะให้เกิดเป็น “พายุหมุน” เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาจึงยังต้องลุ้นต่อไป จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเฝ้าจับตามองว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
อย่างที่บอกว่า สิ่งที่ต้องจับตามองคือ อภิมหาโปรเจกต์อย่าง “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์-แลนด์บริดจ์” ที่ต้องระดมเม็ดเงินมหาศาลในการรวมทุนกับเอกชน ทุนไทยและทุนต่างชาติ จะกลายเป็นประเด็นที่ถูกตรวจสอบว่าใครที่ได้รับการแบ่งสันปันส่วนเค้กก่อนนี้
รวมถึงการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว และหลายฝ่ายก็จับตามองเรื่องนี้มานาน ด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัวของสองตระกูล สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งฝ่ายต้านระบอบทักษิณสามารถใช้เป็น “เชื้อไฟ” ในการปลุกพลัง “ชาตินิยม” ขึ้นมาได้ง่าย
ที่สำคัญคือ “เค้าลาง” ของการ ผูกขาด-กินรวบ เช่นที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต และเป็นบทเรียนของพรรคร่วมรัฐบาลต่างชิงพื้นที่ของตัวเองตีตราจองไว้ล่วงหน้า ทั้งในระบบราชการและกระบวนการนิติบัญญัติตุนเอาไว้ แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตจะมีการชิงกลไกเหล่านี้กลับคืนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับทายาทในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เมื่อดูจากสภาพการณ์แล้ว “ทักษิณ” ย่อมต้องทำทุกอย่างเพื่อปูทาง เสริมความแข็งแกร่งให้เก้าอี้นายกฯ ของ “ลูกอิ๊งค์” ให้ทำหน้าที่ครบเทอม พร้อมกับสกัดศัตรูทางการเมืองที่จะโค่นล้มให้พ้นทาง พร้อมๆ ไปกับการสร้างความนิยมให้พรรคเพื่อไทยผ่านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ขึ้นอยู่กับว่านายกฯ อิ๊งค์จะทนแรงเสียดทานได้มากน้อยแค่ไหน และฝ่ายตรงข้ามจะสบช่องการใช้นิติสงครามเล่นงานได้หรือไม่
หรือในที่สุด ทักษิณอาจต้องออกโรง คัมแบ็กกลับมานั่งบัญชาการเองในตำแหน่งนายกฯ เมื่อมีการเคลียร์กติกา กฎหมาย รธน. เพื่อเปิดทางให้ตัวเองกลับมามีอำนาจอย่างเปิดเผยอีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้
เปิดแนวรบใหม่! 'ทักษิณ' เหน็บ 'นิด้าโพล' อยู่ตรงข้าม เจาะจงเรื่อยๆ เจาะจงมากเลย
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลโพลร
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ป.ป.ช. ตั้งที่ปรึกษาองค์คณะไต่สวน คดีเอื้อทักษิณนอนชั้น 14 ให้แจ้งคืบหน้าทุก 1 เดือน
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ในวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะในการไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เ
'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์