ชำแหละนโยบายเรือธงเอื้อ3นาย? ม็อบรอพลาดนิติสงครามรอล้ม

การแถลงต่อรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ผ่านนโยบาย 10 ข้อเร่งด่วนของ “อุ๊งอิ๊ง”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12-13 กันยายน

โดยมีประเด็นไฮไลต์สังคมจับตา คือ แจกเงินหมื่นผ่าน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) หรือ กาสิโนถูกกฎหมาย หวังเงินใต้ดินมาอยู่บนดิน

อย่างไรก็ตาม นโยบายของ “อุ๊งอิ๊ง” ถูกมองว่า สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ “พ่อนายกฯ”-“ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่เน้นหนักจุดขายทางด้านเศรษฐกิจ หวังเพิ่มเงินในกระเป๋าให้แก่ประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งคนจำนวนมากก็ไม่ไว้วางใจระบอบทักษิณ พวกพ้อง และ นายทุนรอบตัว

ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนและสื่อมวลชนยังผิดหวัง เพราะมีเรื่องสำคัญของประเทศแต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ยอมเหลียวแลและเอาใจใส่

อาทิ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน, ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน หลังเกิดกรณีนักโทษเทวดาชั้น 14, แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, ปฏิรูประบบข้าราชการ, นโยบายสร้างความปรองดองและทลายทุนผูกขาดของประเทศ ฯลฯ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตว่า 3 ปีของรัฐบาลหลังจากนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าจะ “เจ๊า หรือ เจ๊ง” ซึ่งมีความท้าทายโดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ ต้องมีรายละเอียด พร้อมปฏิบัติได้ทันที

 “นโยบายเรือธงของรัฐบาลมีเป้าหมายของประชาชนอยู่ตรงไหน คือ เป็น นโยบายเรือธงให้ 3 นาย คือ นายใหญ่ นายหน้า และนายทุน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นนโยบายเรือธงให้นายใหญ่ได้ขึ้น นโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่มีข้อสงสัยถึงการเปิดกว้างหรือล็อกการประมูลเพื่อเอื้อนายทุน และโครงการแลนด์บริดจ์ในการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อเวนคืน เอื้อให้นายหน้าค้าที่ดินหรือไม่” ว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภา กล่าว

นอกจากนี้ ในการแถลงนโยบายยังเห็นบทบาทของฝ่ายค้านป้ายแดง คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปีก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ ที่ออกมาถล่มแหลกรัฐบาล หลังถูกเขี่ยออกมาเป็นฝ่ายค้าน

สะท้อนผ่าน ชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร อภิปรายว่า องค์ประกอบ ครม.ชุดนี้มีหลายส่วน ส่วนคนใหม่ก็สืบทอดโดยสายเลือด จึงได้เห็นการขนานนามว่าญาติกาบ้าง ผู้สืบสันดานบ้าง ทำให้เห็นปลายทางนโยบายรัฐบาล

ตนก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านสำรวจตรวจสอบรัฐบาล ไม่อยากเห็นรัฐบาลชุดนี้มาจากคนชนชั้นสูง เพื่อชนชั้นสูง อาศัยมือประชาชน อ้างประชาธิปไตย แล้วมากอบโกยผลประโยชน์อย่างตะกละตะกลาม

 “ที่มาของรัฐบาล ภาพที่ประชาชนรับรู้คือตระบัดสัตย์ พรรคที่ยกมือให้ 39 เสียงให้เป็นฝ่ายค้าน เปรียบเสมือนหุงข้าวด้วยกัน แต่พอข้าวสุกข้าพเจ้าขอกินคนเดียว แต่พรรคที่งดออกเสียงเชิญมาเป็นรัฐบาล” นายชัยมงคลกล่าว

ขณะเดียวกัน อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา ประท้วงว่า แปลกใจว่า หากย้อนกลับไปเมื่อสองสัปดาห์หรือสองเดือนก่อน นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ก็คงเห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร วันนี้เหมือนเปลี่ยนใจ จึงอยากฝากว่า ขอให้ช่วยทำตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัดด้วย

สำหรับ การแถลงนโยบายของรัฐบาล สุดท้ายผ่านไปได้ด้วยดี เพื่อให้มีอำนาจ ครม.บริหารราชการแผ่นดิน และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ใช่เวทีล้มรัฐบาลอย่างเช่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพิจารณากฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการเงินที่ต้องมีการลงมติชี้ขาด  

แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่าคือ หากนโยบายรัฐบาลที่แถลงไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำได้ดังที่พูด หรือทำไม่ตรงปกซ้ำอีกครั้ง คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม

หลังก่อนหน้าพรรคเพื่อไทยก็ล้มละลายทางความเชื่อถือ และวิกฤตศรัทธาทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

แม้ตอนนี้ฝ่ายไม่เอาระบอบชินวัตรจะยังไม่มีพลังสนับสนุนและกำลังมวลชนที่จะล้มรัฐบาลได้ เพราะหลายฝ่ายยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศเสียก่อน
แต่ก็ต้องไม่ประมาท เพราะฝ่ายที่ไม่เอาพรรคเพื่อไทยได้วางกับระเบิดเอาไว้เพื่อรอจังหวะเหมาะสม ผ่านกระบวนการ “นิติสงคราม” โดยนักร้องระดับประเทศยื่นตรวจสอบในหลายประเด็น อาทิ คุณสมบัตินายกฯ ว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่ ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย หลังยอมให้ ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคหรือไม่ ฯลฯ

ควบคู่กับการสร้างแนวร่วมและสร้างกระแสให้แก่มวลชน ภายใต้ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท. กองทัพธรรม ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. ได้ประกาศนัดชุมนุมในวันที่มีการประชุม ครม.นัดแรก ในวันอังคารที่ 17 ก.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ตรวจสอบรัฐบาลภายใต้ “ระบอบชินวัตร” เพราะไม้ไว้วางใจนโยบายว่าจะทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้ระบบพวกพ้อง, สมคบคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 ช่วย “นายใหญ่” หรือไม่

ฉะนั้นหาก “รัฐบาลมาดามแพ” สะดุดขาตัวเองด้วยเรื่องทุจริต เอื้อพวกพ้อง ไม่สามารถแก้โจทย์ประเทศและทำให้ “คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี” ดังที่สัญญาไว้

ถ้าหากสถานการณ์เอื้ออำนวย... กระบวนการ “นิติสงคราม” และ “ม็อบ” อาจมีความชอบธรรมที่จะ “ปิดสวิตช์ระบอบชินวัตร” ได้เช่นกัน!.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย