‘ฝ่ายค้าน’เตรียมประชัน‘ผู้นำรุ่นใหม่’ วัดภาพจำแรก‘อุ๊งอิ๊งในฐานะนายกฯ’

วันสุดท้ายก่อนได้รับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลจาก ‘นายกรัฐมนตรีคนใหม่’ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ถือเป็นการประเดิมการทำหน้าที่ในบทบาทนี้อย่างเต็มตัว

โดย ‘พรรคประชาชน’ ในฐานะแกนนำ ‘ฝ่ายค้าน’ เตรียมผู้อภิปรายไว้แล้วกว่า 30 คนเป็นอย่างน้อย ภายหลัง ‘แป้ก’ จากการอภิปรายวาระ 2 ของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่ผ่านมา

เนื่องจากเรื่องที่พูดส่วนใหญ่นั้น เฉพาะเจาะลงไปในรายละเอียดเล็กๆ ไม่ได้ฉายภาพใหญ่ให้สังคมได้ต่อยอดประเด็นอะไรมากนัก ทั้งยังพบความผิดพลาดของข้อมูลและตัวผู้อภิปรายเองในหลายจุด

แม้นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะตอบเลี่ยงๆ เรื่องรายละเอียดการอภิปรายครั้งนี้ว่า ไม่ได้เน้นในเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่ครอบคลุมทุกประเด็นนั้น

พร้อมแง้มแค่ ‘มีไฮไลต์ ซึ่งถูกคาดเดากันไปว่าคงหนีไม่พ้นกรณี ‘นายทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำการ ‘ครอบงำพรรคเพื่อไทย ชี้นำนโยบายรัฐบาล และการแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk Vision for Thailand 2024 วันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

ตลอดจนการตั้งคำถาม ‘ภาวะผู้นำในฐานะนายกรัฐมนตรี ของนางสาวแพทองธาร ที่ก็ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็น ‘ไฮไลต์ที่จุดประเด็นสังคม’ ขึ้นมาอีกครั้งได้จริงหรือไม่ หรือทำได้เพียงแค่ ‘ผลิตวาทกรรม’ ซ้ำๆ แค่นั้นกันแน่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การตอบคำถามเช่นนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พรรคประชาชนอาจจะ ‘หมดมุก’ หรือ ‘ไม่มีธงใหม่ อะไรที่จะใช้ในการโจมตี

ซึ่งอาจหมายรวมถึงไม่มีความชัดเจนในการเตรียมตัว ไม่ต่างกันกับการอภิปรายงบฯ 68 วาระ 2 รอบก่อน

แตกต่างจากการอภิปรายในวันแถลงนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีทั้งทำแคมเปญปล่อยมาเป็นระลอกๆ ในธีมIgnore Thailand เจ๊งไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้และมีการกำหนดตัวผู้อภิปรายแบ่งแยกตามแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน

ขนาดนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน แกนนำคนสำคัญซึ่งเป็นคู่กรณีกับ ‘โครงการดิจิทัลวอลเล็ต’ มาตั้งแต่เริ่มต้น ก็ไม่มีการเปิดเผยหัวข้อหลักในการอภิปรายของตัวเองครั้งนี้

ตอบเพียงแค่ “พรรคประชาชนจะถามหาความชัดเจน เพราะการแถลงนโยบายรอบนี้ สิ่งที่ไม่ค่อยแตกต่างจากรัฐบาลนายเศรษฐาคือ ไม่มีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ด้วยวิธีการอะไรอย่างไร เป็นเพียงลิสต์ยาวๆ ของสิ่งที่คาดว่าจะทำ ที่อาจจะซ้ำรอยกับดิจิทัลวอลเล็ตแน่ ว่าตกลงแล้วคิดมาครบถ้วนหรือไม่ มีข้อจำกัดอะไรบ้าง มีอุปสรรคอะไรที่ต้องแก้ไขก่อน เพื่อทำให้โครงการต่างๆ เหล่านี้สำเร็จได้ มีการคิดมาแล้วหรือยัง เพราะถ้ายิ่งเขียนได้ชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาได้มากเท่านั้น

1 ปีที่ผ่านมาเป็นความสูญเปล่าที่เกิดขึ้น จนทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนถดถอยไปหมดแล้ว โอกาสนี้แทนที่จะใช้เรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้เต็มที่ โดยการระบุอย่างชัดเจนว่าโครงการต่างๆ มีเป้าหมายอย่างไร เสร็จเมื่อไหร่ ภายในกี่ปี ด้วยวิธีการอย่างไร แต่กลับไม่ใช้โอกาสนี้ในการสร้างความชัดเจน”

ย้ำว่า “รอบนี้ไม่ปล่อยผ่านไปง่ายๆ เหมือนรัฐบาลนายเศรษฐา เพราะต้องให้ความเป็นธรรม เนื่องจากเพิ่งเริ่มเข้ามาทำงาน แต่รอบนี้ไม่เริ่มนับหนึ่งแน่นอน ต้องถามหาความชัดเจนอย่างถึงที่สุด แม้นางสาวแพทองธารจะเพิ่งเข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่ต้องยอมรับว่านางสาวแพทองธารมีบทบาทหลายเรื่องที่ผ่านมาในการบริหาร เช่น โครงการซอฟต์พาวเวอร์ที่มีปัญหาไม่แพ้กัน เพราะมีการบริหารจัดการที่เละเทะ ไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีคนรับตัวชี้วัดไปทำ ต่างคนต่างผลิตโครงการ

ส่วนนโยบายอื่นๆ หลายฝ่ายเชื่อว่าจะมี สส.เจ้าประจำ ซึ่งเป็นแกนนำแถวหน้า ทยอยหยิบยกถลกประเด็นที่ถนัด อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เรื่องนโยบายกองทัพ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การศึกษา และการพัฒนาการเมือง

สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาคือ นโยบายต่างๆ ที่ไม่มีในการแถลงนโยบายครั้งที่แล้ว แต่มีการระบุในครั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มเติมรายละเอียดในบางหัวข้อ

โดยเฉพาะ ‘กฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งคาดว่าจะถูกเน้นหนักไปที่เรื่องการแจกใบอนุญาต ที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรที่จะเกิดขึ้นกับสังคมบ้าง รวมถึงความเหมาะสมของสถานที่ตั้งด้วย และโครงการ ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม การขาดแนวร่วมสำคัญอย่าง 'พรรคประชาธิปัตย์’ ที่ย้ายไปซบกับฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็อาจส่งผลให้แรงสะเทือนจากฝ่ายค้านลดน้อยลงไปด้วยหรือไม่ แม้จะมีกระแสว่า ‘นายชวน หลีกภัย’ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอจัดสรรเวลาอภิปรายแล้วก็ตามที แต่ก็คงเน้นไปในนโยบายที่ละเลยจังหวัดในภาคใต้

ขณะที่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ เองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะร่วมขบวนการนี้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากได้เวลาอภิปราย 30 นาที ที่แบ่งรวมจากสองฟากฝั่ง

และถูกวิปฝ่ายค้านดักคอไว้แล้วว่า "ถ้าจะเอาโควตาตาม 40 ที่นั่ง แต่ในการมาโหวตมติวิปมาไม่ถึงครึ่ง คงไม่แฟร์ และวิปฝ่ายค้านคงไม่สามารถอธิบายให้พรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นเข้าใจได้ ต้องขอให้ทางพรรคพลังประชารัฐวางตัวให้ชัดเจน หากไม่ชัดเจนคงไม่สามารถให้พรรคพลังประชารัฐมาร่วมฝ่ายค้านได้อย่างเป็นทางการ"

สำหรับ ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ที่เสียงโหวตแตกแบ่งครึ่ง 3 ต่อ 3 ในงบฯ 68 วาระ 2 และ 3 รอบก่อนนั้น ก็ยังนิ่งสนิท ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมใดๆ ตอบกลับมา

ท้ายที่สุด จึงต้องรอติดตามการประชันวาระแรก ระหว่าง ‘ผู้นำรุ่นใหม่’ จากแต่ละฝั่งฝ่าย คือ ‘นายกฯ อิ๊งค์’ vs ‘นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน’ ว่าจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง ได้มากน้อยเพียงใด เพราะนี่จะกลายเป็นการสร้างภาพจำต่อจากนี้ให้กับ ‘2 หัวเรือ’ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไปอีกอย่างน้อย 3 ปีแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมรมแพทย์ชนบท ชำแหละ นโยบายสาธารณสุขรัฐบาลแพทองธาร

ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล ระบุว่า นโยบายสาธารณสุขรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นโยบายข้อสำคัญด้านสาธารณสุขของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

เก็บทุกเม็ด 'เรืองไกร' ลุย ป.ป.ช. สอบนายกฯ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือถึง ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. รีบทำการตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่

มีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี 29ชม.เวทีแถลงนโยบาย ศึกหนักยกแรก“อุ๊งอิ๊ง”

การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ที่จะเป็นเวทีการแถลงนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถือเป็นการเข้าห้องประชุมสภาฯ-รัฐสภาครั้งแรกในชีวิตของ แพทองธาร

นายกฯ ประธานพิธีสวดพระอภิธรรมบิดา 'ธีรรัตน์' รมช.มหาดไทย

ที่วัดปลูกศรัทธา แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กทม. พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเจ้าภาพร่วมในพิธีสวดพระอภิธรรม นายวิบูล สำเร็จวาณิชย์ บิดา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย

'สว.พันธุ์ใหม่' รอชำแหละนโยบายรัฐบาลอิ๊งค์ จับตา 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

'นันทนา' เผย 'สว.' เงี่ยหูรอฟังนโยบายรัฐบาล จับตานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต พายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือแค่ลมพัด แนะวางแผนงบ 69 ตั้งแต่เริ่มใช้งบ 68