การประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ที่จะเป็นเวทีการแถลงนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถือเป็นการเข้าห้องประชุมสภาฯ-รัฐสภาครั้งแรกในชีวิตของ แพทองธาร
เพราะในวัย 39 ปีของแพทองธารบนถนนการเมือง เธอไม่เคยเป็นทั้ง สส.และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย หรือ กมธ.วิสามัญของสภาชุดใดมาก่อน ทำให้ยังไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงอาคารรัฐสภาปัจจุบันที่ย้ายจากถนนอู่ทองในมายังแถวสี่แยกเกียกกายหลายปีแล้ว ตามข่าวที่ปรากฏ อุ๊งอิ๊งเพิ่งจะไปครั้งแรกเมื่อ 19 มิ.ย. เพื่อไปให้กำลังใจ สส.เพื่อไทยตอนอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบปี 2568
แต่การเข้าห้องประชุมร่วมรัฐสภาครั้งแรกในชีวิตก็ไปนั่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเลย และต้องตกอยู่ในสายตาการจับจ้องของคนทั้งประเทศ และสื่อมวลชน-ช่างภาพ ที่พร้อมจะถ่ายรูปทุกอิริยาบถของอุ๊งอิ๊งในห้องประชุมรัฐสภาตลอดการอภิปรายสองวัน รวมเวลา 29 ชั่วโมง
มันย่อมทำให้อุ๊งอิ๊งตื่นเต้นแน่นอน อีกทั้งยังต้องคอยพุ่งสมาธิจับประเด็นการอภิปรายของ สส.ฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงการชี้แจงของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในนโยบายแต่ละด้านที่อาจพาดพิงมาถึงตัวเอง ซึ่งจะต้องชี้แจงให้เคลียร์
ยิ่งหากการอภิปรายตลอดสองวัน ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาชน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ตั้งคำถามนโยบายรัฐบาลอย่างเข้มข้น ตรงเป้า เข้าประเด็น ไม่มีออมมือ ทำการบ้านนโยบายของรัฐบาลมาอย่างดี อีกทั้งอภิปรายถามในเรื่องที่สังคมอยากฟังคำตอบจากเธอ เช่น จะเป็นนายกฯ ที่ไม่ถูกทักษิณ ชินวัตร “ครอบงำ-สั่งการ” ได้อย่างไร
หากฝ่ายค้านทำการบ้านมาดีย่อมทำให้การอภิปรายตลอดสองวันนี้ เข้มข้น-ได้สาระแน่นอน
และจะเป็นเวทีซึ่งคนไทยทั้งประเทศได้เห็นกันชัดๆ ว่า นายกฯ อุ๊งอิ๊ง มีวุฒิภาวะ-วิสัยทัศน์ และมีความเป็นผู้นำประเทศมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นแค่นายกฯ นอมินี-นายกฯ ที่ถูกครอบงำโดยทักษิณอย่างที่หลายคนปรามาส
เวทีแถลงนโยบาย 12-13 ก.ย.นี้ ได้รู้กัน
โดยหากแพทองธาร นายกฯ ทำการบ้านมาดี พูดจาฉะฉาน คำพูดมีพลัง ไม่ต้องอ่านโพย ก็ยืนชี้แจงแสดงวิสัยทัศน์การบริหารประเทศได้เป็นฉากๆ สามารถยืนซด-ยืนต่อกรกับฝ่ายค้านได้แบบไม่มีเพลี่ยงพล้ำ อีกทั้งมีสติในการตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาได้ทุกเรื่อง และไม่ตบะแตก หากโดนอภิปรายเสียดสี ยั่วยุ เหน็บแนม สามารถคุมสติได้และสวนกลับอย่างมีชั้นเชิง
ถ้าแพทองธารผ่านเวทีแถลงนโยบายรัฐบาลไปได้ โดยหากทำคะแนนได้ดีกว่า ฝ่ายค้าน นอกจากไม่โดนไล่ทุบจนน่วมแล้ว ยังใช้เวทีแถลงนโยบายแสดงความเป็นผู้นำประเทศออกมาให้เห็นได้
ย่อมถือว่าอุ๊งอิ๊งผ่านบททดสอบสำคัญทางการเมืองแมตช์แรกกลางสภา
ภายใต้เงื่อนไขคือ ฝ่ายค้านที่เป็นตัวหลักในการซักค้าน ซักถามนโยบายรัฐบาล ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วย เพราะหากฝ่ายค้านไม่ทำการบ้าน อภิปรายไม่ตรงเป้า ถามไม่ตรงจุด ชกไม่เต็มหมัด ก็เข้าทางแพทองธาร ใช้เวทีนี้โกยแต้มเข้าฝ่ายรัฐบาล
ส่วนฝ่ายไหนจะทำคะแนนได้ดีกว่ากัน ต้องมารอประเมินให้คะแนนหลังการแถลงนโยบายเสร็จสิ้นลงในช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 13 ก.ย.
เพราะนโยบายรัฐบาลแพทองธาร โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน หลายเรื่องก็เป็นที่สนใจของสังคม ที่ฝ่ายค้านหรือ สว.ควรต้องตั้งคำถาม อภิปรายขอความชัดเจนจากนายกฯ และรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะพวกนโยบายเร่งด่วน ต้องถามให้ชัด จะเห็นผลวันไหน หรือจะเป็นแค่นโยบายสวยหรู ขายฝันกลางรัฐสภาและสร้างความหวังให้ประชาชน แต่จริงๆ ทำไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ ฝ่ายค้าน-สว. รวมถึง สส.รัฐบาลเองควรต้องทำหน้าที่แทนประชาชนในการตั้งคำถามกับนายกฯ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เศรษฐกิจใต้ดินดังกล่าวที่เป็นพวก “เงินสีเทา” รัฐบาลจะเอาเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างไร และมีเงินสีเทาอะไรบ้าง ตรงนี้ก็ควรถามรัฐบาลให้ชัด หรือการที่รัฐบาลแพทองธารย้ำว่าจะเดินหน้า ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ต่อไป ไม่มีการล้ม ก็ต้องถามให้ชัดว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังจากนี้
รวมถึงนโยบายเดินหน้าเอาแน่เรื่อง สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ที่จะให้มีการเปิด “กาสิโน” ในประเทศไทย
ก็ต้องถามนายกฯ และ รมว.คลังให้ชัดว่า จะเอาจริงหรือไม่ จะดำเนินการได้เมื่อใด รวมถึงอภิปรายให้เห็นว่าการเปิดกาสิโนมี “ข้อดี-ข้อเสีย” อย่างไร รวมถึงต้องอภิปรายลงลึกถามถึงรายละเอียดการให้เอกชนยื่นขอใบอนุญาตทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ใต้โต๊ะหรือไม่ รวมถึงจะเป็นนโยบายที่เอื้อกลุ่มทุนต่างชาติให้จับมือทำธุรกิจกับกลุ่มทุนไทยรายใหญ่ไม่กี่ราย โดยฝ่ายการเมืองในรัฐบาลทั้งหน้าฉากและหลังฉากได้ประโยชน์เงินใต้โต๊ะจากนโยบายเปิดกาสิโนหรือไม่
เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนเรื่อง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน
ซึ่งจริงๆ เคยถูกเขียนไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
กระนั้น ต้องยอมรับว่า 1 ปีที่ผ่านมา การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชายุครัฐบาลเศรษฐาแทบไม่มีอะไรคืบหน้า สาเหตุสำคัญก็เพราะเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว-แหลมคมทางการเมือง ง่ายต่อการถูกโจมตีทางการเมืองได้ ทั้งเรื่องอธิปไตยของประเทศไทย หรือเรื่องฝ่ายการเมือง-กลุ่มทุนใกล้ชิดทักษิณและเพื่อไทย จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากขุมทรัพย์พลังงานในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
เพราะที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีว่า ทักษิณกับฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมาก เห็นได้จากหลังทักษิณ ออกจาก รพ.ตำรวจ ได้รับการพักโทษ ฮุน เซน ก็เป็นแขกวีไอพีคนแรกๆ ที่เดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าของทักษิณ หรือการที่ อุ๊งอิ๊งเดินทางไปกัมพูชาในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อพูดคุยกับฮุน มาเนต ผู้นำกัมพูชา ลูกชายฮุน เซน ตามคำเชิญของฮุน เซน เป็นต้น
ยิ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงานดังกล่าว มีมูลค่ามหาศาลร่วมๆ “20 ล้านล้านบาท” ก็ยิ่งทำให้หลายคนจับจ้องว่าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาดังกล่าว
แม้จะเป็นเรื่องดีในแง่การหา “แหล่งพลังงานใหม่” แต่คำถามคือ เป็นนโยบายที่จะเอื้อประโยชน์ นักการเมือง-พรรคการเมือง-กลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาล หรือไม่
ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ สส.-สว.ควรต้องทำหน้าที่ซักถามอภิปรายแทนประชาชน ในช่วง 12-13 ก.ย.นี้ ในนโยบายรัฐบาลแพทองธารที่เขียนไว้ในเอกสารตอนท้ายว่า นโยบายทั้งหมด จะ
“ทำให้คนไทย มีกินมีใช้ มีเกียรติมีศักดิ์ศรี”
ทำได้จริงหรือขายฝันคนไทย?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
พลิก!สยามผบช.น. สันติไปปส.น้องเสธ.หิคุมไซเบอร์/ประสบการณ์ใหม่‘อิ๊งค์’
"นายกฯ" นั่งหัวโต๊ะ ก.ตร. ลากยาว 4 ชม. ถกแต่งตั้ง 41 นายพลสีกากีระดับรอง
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
นายกฯอิ๊งค์ แถลงผลงานรัฐบาลรอบ 100 วัน 12 ธ.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 100 วันจะเป็นช่วงใด ว่า ประมาณเดือน ธ.ค.
ครม.ไร้วาระโต้ง ชื่อยังไม่ถึงคลัง ผวาขัดกฎหมาย
นายกฯ เมินเสียงวิจารณ์ "กิตติรัตน์" นั่ง ปธ.บอร์ด ธปท.
‘อิ๊งค์’ตีปี๊บผลงาน100วัน
“นายกฯ อิ๊งค์” ต่อสายยินดี “ทรัมป์” พร้อมชวนมาเมืองไทย นายกฯ