จบศึกสัประยุทธ์-เลือกตั้งซ่อม เดิมพันศักดิ์ศรี 'ปชป.VSพปชร.' แมตช์ชี้ชะตา 'จุรินทร์-ธรรมนัส'

คาดหมายกันว่าไม่เกินช่วง 21.00 น.ของคืนวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.นี้ จะทราบผลการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ ส.ส.สงขลา เขต 6 ที่ลงคะแนนเสียงกันวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.

หลังช่วงโค้งสุดท้าย สัปดาห์สุดท้าย พบว่าบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ทั้งที่ชุมพรและสงขลา ทำเอาแวดวงการเมืองกล่าวขาน ซี้ดปากกันไม่น้อย กับการหาเสียงเข้มข้นดุเดือดอย่างมากทั้งที่เป็นการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งหากนับอายุของสภาชุดนี้ที่จะครบวาระสี่ปีในเดือนมีนาคมปีหน้า ก็เท่ากับเหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึง 14 เดือนด้วยซ้ำ หากกรณีสภาอยู่ครบเทอม แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง-พรรคการเมืองต้นสังกัดก็สู้กันเต็มที่

ผลการเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา ที่จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการคืนนี้ไม่เกินสามทุ่ม ถือได้ว่าเป็นแมตช์ชี้ชะตาการเมือง เป็นเดิมพันสำคัญทางการเมืองของจุรินทร์-ประชาธิปัตย์ และธรรมนัส-พลังประชารัฐ อย่างแท้จริง บนเดิมพันที่แพ้ไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย.

และที่สำคัญคู่ต่อสู้หลักที่อยู่ในสมรภูมิการสัประยุทธ์การเมือง-การหาเสียง กลายเป็นการสู้กันระหว่าง พรรคร่วมรัฐบาล กันเองเสียด้วยคือ พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลในฐานะผู้ท้าชิงพื้นที่ กับ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล ที่ลงป้องกันพื้นที่เดิมของตัวเอง ทั้งที่ชุมพรและสงขลา แต่การหาเสียงในพื้นที่โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้าย พบว่าท่าทีและเนื้อหาคำปราศรัยของแกนนำและ ส.ส.ของทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ เรียกได้ว่า

เปิดหน้า-แลกหมัดกันดุเดือด

จนแวดวงการเมืองหรือแม้แต่คนจากทั้งสองพรรค โดยเฉพาะกับประชาธิปัตย์ ก็ยังออกมาบอกเองว่า ไม่คิดว่าการหาเสียงจะเข้มข้นขนาดนี้ เพราะดุเดือดยิ่งกว่าพรรครัฐบาลสู้กับฝ่ายค้านเสียอีก

อย่าง นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปราศรัยบนเวทีใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์นัดสุดท้ายที่สงขลา เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 14 ม.ค. ตอนหนึ่งว่า

"ไม่เคยเห็นการเลือกตั้งซ่อมครั้งไหนจะต่อสู้กันดุเดือดถึงขนาดนี้ ครั้งนี้เป็นการสู้กันเพื่อศักดิ์ศรีของคนสงขลา ซึ่งหากใช้ตรรกะเหมือนไอ้บ้านั้น ที่บอกให้เลือกคนรวย ถ้าตรรกะแบบนั้นที่ให้เลือกคนรวย นายชวน หลีกภัย ลูกแม่ค้า ไม่มีทางได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายชวนเสียอย่างเดียวไม่ได้ค้าแป้ง แต่ประชาชนก็เลือกนายชวนมาเป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัย อยากบอกว่าอย่ามาทำให้ประชาธิปไตยต้องวิบัติ ที่มาบอกให้เลือกคนรวย

พวกเราชาวสงขลายอมไม่ได้ ให้มันรู้กัน พวกมันคนรวยกับพวกเราที่ไม่รวย ให้มันรู้กันสักที

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็เลิก ประชาธิปัตย์สู้กับหลายพรรคการเมืองมามาก ตอนนี้หลายพรรคตายหมดแล้ว ที่ประชาธิปัตย์สู้กับพรรคพลัง.... ไม่ใช่ว่าเรากลัว แต่วันไหนหมดพลเอก.... พรรคนั้นก็ตาย

สมัยประชาธิปัตย์เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล เวลาหากมีการเลือกตั้งซ่อม เราจะไม่ให้พรรครัฐบาลแข่งกันเอง แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าประชุม ครม.อังคารหน้า หากต้องมาเจอหน้ากัน จะทำหน้ากันอย่างไร แต่ยังดีที่ได้ข่าวว่าประชุม ครม.อังคารนี้ ให้ประชุมอยู่ที่บ้านผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ก็บอกเขาไปแล้วว่าเลือกตั้งซ่อมอย่าส่งคนมาลงแข่งกัน เพราะจะกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลโดยไม่จำเป็น แต่พวกนี้มันไม่เข้าใจมารยาททางการเมือง" นิพนธ์ รมช.มหาดไทย ระบุบนเวทีปราศรัยใหญ่ดังกล่าว ท่ามกลางเสียงปรบมือและโห่ร้องดังกึกก้อง 

ซึ่งฟังและอ่านเนื้อหาคำปราศรัยของนิพนธ์-มท.2 แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ ข้างต้นมันคือการตอกย้ำที่ทำให้เห็นถึงสถานการณ์การแข่งขันในพื้นที่ทั้งที่ชุมพร-สงขลา ว่าดุเดือดเข้มข้นอย่างมาก ที่ชัดว่ารอบนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างประชาธิปัตย์แชมป์เก่ากับพลังประชารัฐเท่านั้น

ค่ำคืนวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. จึงเป็นการลุ้นผลการนับคะแนน ที่ต้องลุ้นกันแล้วว่าสุดท้ายผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ชุมพรของทั้งสองพรรค ที่ก็คือในส่วนของประชาธิปัตย์ ได้แก่ อิสรพงษ์ มากอำไพ หลานภรรยาของลูกหมี-ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร ที่ชนกับ ชวลิต อาจหาญ หรือทนายแดง อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งรอบที่แล้วก็ลงสมัคร แต่แพ้ให้กับลูกหมี-ชุมพล รอบนี้เลยลุ้นแก้มืออีกรอบ สุดท้ายแล้วคนชุมพรจะเลือกใครระหว่างประชาธิปัตย์หรือพลังประชารัฐ

ส่วนที่ สงขลา ก็เป็นการชิงกันระหว่าง น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล อดีตรองนายก อบจ.สงขลา ภรรยานายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้และ ส.ส.สงขลา ที่สู้กับ อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จากพลังประชารัฐ เด็กปั้น อนุมัติ อาหมัด อดีต ส.ว.สงขลา นักธุรกิจวงการค้าน้ำมันภาคใต้ ที่รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ตอนล่างให้พลังประชารัฐ

พบว่าช่วงโค้งสุดท้ายที่ผ่านมา การหาเสียงของคู่นี้ สุภาพรกับอนุกูล ทีมงานหาเสียงสู้กันอย่างดุเดือดสูสีมาก จนยากจะคาดการณ์ได้ว่าฝ่ายไหนจะชนะ 

ศึกเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร-สงขลารอบนี้ จึงเป็นเดิมพันศักดิ์ศรีทางการเมืองของประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ สองพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแท้จริง เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างบอกว่า

ศึกนี้แพ้ไม่ได้          

การสัประยุทธ์ทางการเมืองจึงเกิดขึ้นบน เดิมพันการเมือง ที่สูงด้วยกันทั้งสองพรรค

ผลทางการเมืองที่จะตามมาหลังรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในช่วงหัวค่ำคืนวันที่ 16 ม.ค.

อ่านทิศทางการเมืองได้ว่า ในส่วนของภาพใหญ่ เรื่องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของสองพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ คงไม่ส่งผลอะไรถึงขั้นทำให้เกิดความขุ่นข้องใจกันจนสองพรรคแยกจากกันในรัฐบาล เชื่อได้เลยว่าแกนนำทั้งสองพรรคจะบอกตรงกันว่า

มันจบไปแล้ว-เป็นเรื่องปกติของการหาเสียงที่ต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง  

หลังจากนี้ก็มาทำงานแก้ปัญหาให้กับประชาชนต่อไป ถึงต่อให้มีเสียงกระตุกจากคนในประชาธิปัตย์บางคนเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งซ่อม โดยเฉพาะหากพรรคแพ้เลือกตั้ง เพราะแกนนำประชาธิปัตย์โดยเฉพาะพวกที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งล้วนเป็นแกนนำพรรคทั้งสิ้น คงไม่ยอมที่จะลุกจากเก้าอี้ง่ายๆ แน่นอน

และที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ยังไม่เคยเห็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนถอนตัวจากรัฐบาลง่ายๆ เพียงเพราะแพ้เลือกตั้งซ่อมให้กับพรรคร่วมรัฐบาล

แต่แน่นอนว่า ยังไงก็คงมีร่องรอยความขัดข้องใจกันบ้างระหว่างคนของประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ โดยเฉพาะฝ่ายที่แพ้ แต่เรื่องนี้ก็เข้าทำนอง ทั้งสองพรรคแม้จะกินข้าวคนละหม้อ หม้อใครหม้อมัน แต่เวลากินข้าว แกนนำสองพรรคก็กินข้าวบนโต๊ะเดียวกัน-ทำงานร่วมกัน ตอนประชุม ครม.-การเป็นรัฐบาลร่วมกัน จึงทำให้ไม่มีใครยอมล้มโต๊ะง่ายๆ เพียงเพราะแพ้เลือกตั้ง แต่หากคนไหนในพรรคข้องใจมากก็ไปรอเอาคืนในสนามเลือกตั้งรอบต่อไป

แต่ที่จะมีผลมากกว่าก็คือ แรงสั่นสะเทือนภายในพรรค ทั้งกับพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ เพราะรอบนี้ประชาธิปัตย์ต้องเอาชนะให้ได้ทั้งสองเขตเท่านั้น ไม่ใช่แค่ชนะเขตเดียว และหากชนะทั้งสองเขต ในความเป็นจริงมันก็แค่ เสมอตัว เพราะเป็นพื้นที่เดิม เป็นฐานหลักของพรรคอยู่แล้ว แต่หากแพ้เลือกตั้งขึ้นมาแม้แค่เขตเดียว จะเกิดเอฟเฟ็กต์การเมืองในประชาธิปัตย์ และยิ่งหากไม่ชนะทั้งสองเขตจะเกิด after shock การเมืองในประชาธิปัตย์รุนแรงแน่นอน

จริงอยู่แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นบ้างกับ นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ดูแลพื้นที่ภาคใต้ ที่รับบทแม่ทัพใหญ่ของพรรคครั้งแรก หากไม่ประสบความสำเร็จก็คงมีผลต่อบารมีการยอมรับจากคนในพรรคระดับหนึ่ง โดยเฉพาะหากแพ้ที่สงขลา ที่ส่งภรรยาตัวเอง น้องน้ำหอม-สุภาพร ลงเลือกตั้งซ่อม แล้วแพ้เลือกตั้ง หากผลออกมาแบบนี้ นายกชาย-เดชอิศม์ ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ

แต่ที่จะหนักกว่ามากก็คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ยิ่งเมื่อไปดูก่อนหน้านี้จะพบว่า นับแต่จุรินทร์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคยังไม่เคยนำทัพประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งเลย ทั้งการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม-นครศรีธรรมราช หากรอบนี้จุรินทร์ยังไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งทั้งสองเขต ก็คงทำให้คนในพรรคอาจต้องตั้งคำถามถึงการนำทัพประชาธิปัตย์ของจุรินทร์หลังจากนี้ตามมาแน่นอน แต่หากประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งซ่อมทั้งสองเขต ผลจะออกมาตรงกันข้ามเลยคือ จะเป็นการเพิ่มบารมีให้กับจุรินทร์อย่างมาก

ที่สำคัญจะทำให้ขวัญ-กำลังใจคนในประชาธิปัตย์กลับคืนมา และมั่นใจว่าเลือกตั้งรอบหน้า ประชาธิปัตย์จะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในภาคใต้ได้อีกครั้ง หลังเลือกตั้งรอบที่แล้วพลาดให้กับทั้งพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย-ประชาชาติ จนเสียที่นั่งไปร่วมกว่ายี่สิบเก้าอี้

ขณะที่ในส่วนของ พลังประชารัฐ ว่ากันตามจริง หากชนะสักหนึ่งเขต แพ้หนึ่งเขต ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่หากชนะทั้งสองเขตก็จะยิ่งสร้างความฮึกเหิมให้พลังประชารัฐมากขึ้น โดยหากพลังประชารัฐทำได้ คนที่ได้เครดิตไปเต็มๆ ย่อมไม่ใช่ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง สอง ผอ.เลือกตั้งซ่อมของพลังประชารัฐที่สงขลาและชุมพร ตามลำดับ แน่นอน แต่จะเป็น ธรรมนัส เลขาธิการพรรค ที่สองสัปดาห์สุดท้ายทุ่มสุดตัว เทหมดหน้าตัก ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ เป็นตัวปราศรัยหลักบนเวทีทั้งที่ชุมพรและสงขลา

โดยหากออกมาแบบนี้ ธรรมนัสติดปีกเลย จะยิ่งทำให้บทบาทในพลังประชารัฐของเขาแข็งแกร่งขึ้นอีกมาก จนพลเอกประวิตรจะยิ่งไว้เนื้อเชื่อใจ-เกรงใจธรรมนัสมากขึ้น และอาจมีผลต่อเก้าอี้นายกฯ และเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ นายกฯ หลังจากนี้ตามมาด้วย

ผลการเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา ที่จะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการคืนนี้ไม่เกินสามทุ่ม ถือได้ว่าเป็นแมตช์ชี้ชะตาการเมือง เป็นเดิมพันสำคัญทางการเมืองของจุรินทร์-ประชาธิปัตย์ และธรรมนัส-พลังประชารัฐ อย่างแท้จริง บนเดิมพันที่แพ้ไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"