“ครม.แพทองธารมีแค่เสียงในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 300 เสียงเท่านั้น ในขณะที่มวลชนเสื้อแดงบางส่วนผิดหวังและโบกมือลาจากการสนับสนุน เช่นเดียวกับอดีตคนเสื้อเหลือง และอดีต กปปส. การไม่มีผลงาน นอกจากไม่ทำให้เรตติ้งเพิ่มขึ้นแล้ว อาจจะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อภัยแทรกซ้อน”
เห็นหน้าตากันเรียบร้อยสำหรับ ครม.แพทองธาร 1 มีรัฐมนตรีหน้าใหม่ 12 คน ได้แก่ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิ ศิริลัทยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์, น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข
และมี 10 คนที่หลุดออกไป ได้แก่ นายสุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, เกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายจักรพงษ์ แสงมณี อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอรรถกร ศิริลัทยากร อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมช.สาธารณสุข และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีต รมว.อุตสาหกรรม
สำหรับ "ครม.แพทองธาร 1" นอกจากตัวผู้นำแล้ว ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มาก เพราะมีการจัดกระดานกันใหม่
พรรคพลังประชารัฐถูกแบ่งครึ่ง ร.อ.ธรรมนัสขน 20 สส.ไปทำกิจกรรมกับพรรคเพื่อไทยในนามกลุ่ม ขณะที่อีกครึ่งพรรค 20 คนของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกเขี่ยไปเป็นฝ่ายค้าน
มีการดึง 25 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วม พร้อมกับมอบ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี คือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ พล.ต.อ.พัชรวาท และ รมช.สาธารณสุขของนายสันติ ไปให้
"ครม.แพทองธาร 1" ดูมีความหลากหลาย โดยเฉพาะการผสมพันธุ์ของอดีตคู่แข่งตรงข้ามอย่าง เพื่อไทย กับ ประชาธิปัตย์ ที่ห้ำหั่นกันมาเป็นสิบๆ ปี
แต่ความหลากหลายที่ว่า ไม่ได้ถูกมองในมิติของการยุติความขัดแย้งตลอดหลายสิบปี หากแต่ถูกมองในมิติของการตกลงผลประโยชน์ลงตัวของทั้งสองฝ่าย
พอๆ กับการมาดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรมของนายเอกนัฏ ที่ถูกดรามาอย่างหนัก เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยเป็นแกนนำ กปปส.ต่อต้านระบอบทักษิณ และขับไล่ตระกูลชินวัตร แต่วันนี้กลับมาเป็นผู้ตาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของนายทักษิณ และหลานสาวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ
การจับมือกันระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ประชาธิปัตย์" นอกจากไม่ได้สร้างภาพของความปรองดองแล้ว กลับยิ่งสั่นคลอนอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายด้วย เพราะการมาอยู่ร่วมกันได้มีแต่เรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ เท่านั้น
มวลชนเสื้อแดงบางส่วนผิดหวังที่ "เพื่อไทย" เลือกแบบนี้ ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนสำคัญในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 52-53
ไม่ต่างอะไรกับมวลชนเสื้อเหลือง และอดีต กปปส. ที่รู้สึกเจ็บปวดกับการยอมเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อกำจัดระบอบทักษิณ แต่สุดท้ายแกนนำของพวกเขากลับมาร่วมเป็นองคาพยพของรัฐบาลที่มีลูกสาวนายทักษิณถือธงนำ
มันกลายเป็นการทำลายจิตใจมวลชนของทั้งสองฝ่าย และสั่นสะเทือนต่อฐานเสียงในภายภาคหน้าของทั้งสองขั้ว
นอกจากเรื่องผสมพันธุ์กันระหว่าง "เพื่อไทย" กับ "ประชาธิปัตย์" แล้ว ครม.แพทองธาร 1 ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง ระบบครอบครัว
แม้การตั้ง ครม.แพทองธาร 1 ครั้งนี้จะค่อนข้างพิถีพิถันในเรื่องของจริยธรรม หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี โดยตรวจสอบคุณสมบัติกันเข้มข้น แต่นั่นเป็นการทำเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ได้มาจากการสร้างบรรทัดฐานใหม่ตามศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
มีการคัดบุคคลที่สุ่มเสี่ยงจะซ้ำรอยนายพิชิตออกไป แต่คนที่มาแทนแม้ไม่มีเรื่องจริยธรรม แต่มาโดย "ระบบตัวแทน" โดยการให้คนในครอบครัวมาเป็นแทน
กรณีที่ชัดที่สุดคือ ร.อ.ธรรมนัส ให้นายอัครา น้องชาย มาเป็นรัฐมนตรีในโควตาตัวเอง นายอรรถกรให้นายอิทธิ ผู้เป็นพ่อ มาเป็นแทน นายชาดาให้ น.ส.ซาบีดา ลูกสาว มาเป็นแทน
ยังไม่นับรวมคนอื่นๆ ใน ครม.ที่ล้วนแต่มาเป็นด้วยการ "สืบสายเลือด" จากพ่อ นำโดย น.ส.แพทองธาร นายกฯ ลูกสาวนายทักษิณ, นายสรวงศ์ ลูกชายนายเสนาะ เทียนทอง อดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ลูกชายนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ น้องชายนายเนวิน ชิดชอบ คีย์แมนพรรคภูมิใจไทย, น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ลูกสาวนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล แกนนำกลุ่มโคราช และอดีต รมช.คมนาคม, นายวราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ
กลายเป็นว่า หลบเรื่องจริยธรรม แต่กลับยังใช้ "ระบบครอบครัว" ซึ่งเป็นการเมืองแบบเก่า ภาพที่ออกมาเลยค่อนข้าง "ยี้"
ถือเป็นแรงกดดันตั้งแต่ "แพทองธาร" ยังไม่ได้เริ่มงานเต็มตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องเร่งและรีบเค้นผลงานเพื่อสยบข้อครหาดังกล่าว
เพราะต้องไม่ลืมว่า ผนังทองแดงกำแพงเหล็กตอนนี้ของ "ครม.แพทองธาร" มีแค่เสียงในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 300 เสียงเท่านั้น ในขณะที่มวลชนเสื้อแดงบางส่วนผิดหวังและโบกมือลาจากการสนับสนุน เช่นเดียวกับอดีตคนเสื้อเหลือง และอดีต กปปส.
การไม่มีผลงาน นอกจากไม่ทำให้เรตติ้งเพิ่มขึ้นแล้ว อาจจะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อ ภัยแทรกซ้อน ที่ทำให้อายุของรัฐบาลสั้นลงได้ด้วย
แม้พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต กปปส. แต่ไม่ได้หมายความว่าศัตรูของระบอบทักษิณจะหมดไป วันนี้ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณยังดำรงอยู่ เพียงแต่อ่อนกำลังลง หรือเสียงไม่ดังพอที่จะออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น
ความพยายามในการต่อต้านระบอบทักษิณยังอยู่ เพียงแต่สถานการณ์และเงื่อนไขในบ้านเมืองไม่เอื้อให้กระทำเช่นนั้น
ซึ่ง "อุ๊งอิ๊ง" คือเป้านิ่งที่ฝั่งนั้นต้องการกำจัดเพื่อให้กระทบถึงผู้เป็นพ่อ
และวันนี้ศัตรูของ "ทักษิณ" ก็เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแล้ว นั่นคือ "บิ๊กป้อม" ที่ถูกเขี่ยพ้นรัฐบาลแบบหยามเหยียดและช้ำใจ
เหล่านี้คือภัยแทรกซ้อนที่มองข้ามไม่ได้ เพราะความพยายามในการล้มผู้นำยังมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อผลัก "บิ๊กป้อม" ออกมา เริ่มได้เห็นขบวนการนักร้องที่ถาโถมใส่ตัว "อุ๊งอิ๊ง" จนต้องขอร้องกันผ่านสื่อ
กับระเบิดมากมายถูกวาง เสมือนหนึ่งรอสถานการณ์ สุกงอม
เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้ มีทั้งกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ร้อง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ "อุ๊งอิ๊ง" หลายเรื่อง ได้แก่ เรื่องวัน-เวลาในการลาออกจากการกรรมการบริษัทเพื่อมาเป็นนายกฯ, ร้องให้ตรวจสอบกรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่โรงแรมดัง เขาใหญ่ รวมไปถึงร้อง กกต.ให้ตรวจสอบว่า "อุ๊งอิ๊ง" ยังเป็นกรรมการในบริษัท 3 แห่งอยู่หรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีบุคคลนิรนามไปร้องให้ กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณครอบงำพรรค เสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี, ร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยกรณีนายทักษิณครอบงำ, ร้องให้ถอดถอน "อุ๊งอิ๊ง" เนื่องจากยอมให้มีการเสนอชื่อนายพิชิต, ร้องให้ยุบพรรคร่วมรัฐบาลกรณีประชุมจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า, ร้องให้ถอดถอน "อุ๊งอิ๊ง" กรณีทุจริตสอบเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และร้องให้ถอดถอน "อุ๊งอิ๊ง" กรณีถือหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์
มองตอนนี้ยังข้อหาเบาบาง แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งถ้าสถานการณ์มันเปลี่ยน รัฐบาลไม่ได้อยู่ในจุดที่ดี มันอาจจะกลายมาเป็น ตัวแปร สำคัญได้
อย่าลืมว่า กรณีนายเศรษฐาตอนแรกไม่มีใครคิดว่าจะโดนสอยเหมือนกัน
หรือแม้แต่เรื่องการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ที่วันนี้มีความพยายามในการเก็บข้อมูลเพื่อออกมาแฉว่าเป็นการป่วยทิพย์ และรักษาตัวทิพย์
กสม.ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องนี้ หรือหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเอาข้อมูลการเข้าเยี่ยมมาแฉ พร้อมๆ กับมีกระแสข่าวว่า ขณะนี้มีการเก็บข้อมูลกล้องวงจรปิดเพื่อจับผิดนายทักษิณ
วันหนึ่งถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ออกมา และพิสูจน์ได้ว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง จะกลายเป็นแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ของการเมืองไทย
นี่คือเส้นทางที่ "รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง" ต้องเจอ
จะไม่มีวันไหนที่บริหารได้โดยไม่หวาดระแวง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เพ็ญแข' ซูฮก 'ทักษิณ' ฝึกทักษะตัวเองจนไร้เทียมทาน
จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โพสต์ข้อความว่า “คุณทักษิณฝึกทักษะตัวเองมาจากการวิเคราะห์ concept
'นายกฯอิ๊งค์' ยกไอแพดคุย 'ทรัมป์' แสดงความยินดีชนะเลือกตั้ง ยันไทยพร้อมทำงานกับสหรัฐฯ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ นายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิ
ตามคาด! อสส.ไม่รับดำเนินการคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการคดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้วพร้อมผลการสอบถ้อ
'จตุพร' ให้จับตา '22พ.ย.' จุดเปลี่ยนการเมืองไทย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า วันที่ 22 พ.ย.นี้จะเป็นปฐมบทของคนรักชาติได้ห
'อดีตบิ๊กศรภ.' ชี้ 'ทักษิณ' ยังมีโอกาสอยู่เกินปีใหม่แน่ แต่ไม่น่าจะเกินต้นปีหน้า
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ทักษิณ
หึ่ง!ตร.วิ่งโชว์ตัวกินมาม่า เตือนแต่งตั้งมั่วส่อติดคุก
นายกฯ ถึงไทย ผบ.ตร.เข้าพบรายงานจัดทัพโผแต่งตั้งรอง ผบ.ตร-ผบช. 20 พ.ย.นี้