เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เปิดตัวเป็นผู้นำพรรคส้ม ลงสู้ศึกเลือกตั้งไม่สวยเท่าใดนัก หลังไม่สามารถนำทัพพรรคประชาชนปักธงเอาชนะใน ศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เป็นตำแหน่งใหญ่สุดของการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัดได้สำเร็จ เพราะพรรคประชาชนเป็นผู้พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรีเมื่อ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
เพราะชัยชนะยังเป็นของ บ้านใหญ่ราชบุรี คือวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือกำนันตุ้ย อดีตนายกอบจ.ราชบุรี ที่ยังคงรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ หลังได้คะแนนมา 242,297 คะแนน เอาชนะ ชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ จากพรรคประชาชนไปได้แบบขาดลอย เพราะชัยรัตน์ได้มา 175,353 คะแนน
ความพ่ายแพ้ดังกล่าวแบบลุ้นไม่ขึ้น ทำให้ แกนนำพรรคประชาชนต้องกลับไปทำการบ้าน-ตีโจทย์ให้แตกเพื่อปรับแท็กติกการหาเสียง-เลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ ก่อนจะถึงศึกใหญ่เลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศต้นปีหน้า ที่คาดว่าพรรคประชาชนจะส่งคนลงหลายสิบจังหวัด เพราะหากไม่ชนะเลยสักคน พรรคประชาชนเสียหายย่อยยับแน่
มีการให้ข้อมูลและความเห็นเชิงวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่ราชบุรี รวมถึงข้อมูลจากนักการเมืองในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่เป็น สส.เขตของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในเวลานี้อย่างน้อยสองคนให้ข้อมูลไว้ว่า ช่วงแรกคะแนนของพรรคประชาชน โดยเฉพาะหลังมีการยุบพรรคก้าวไกลเมื่อ 7 ส.ค. พบว่าคะแนนดีมาก กระแสในพื้นที่มาแรง ถึงขั้นทำให้บ้านใหญ่ตระกูล "นิติกาญจนา” ของกำนันตุ้ย หวั่นไหวพอสมควร
เพราะเห็นชัดว่า พรรคประชาชนไม่ได้มาเล่นๆ มีการขนแกนนำพรรคและ สส.พรรคประชาชนหลายสิบคน ลงพื้นที่พบประชาชนและเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ต่อเนื่องหลายจุดในราชบุรี โดยมีทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชัยธวัช ตุลาธน สามอดีตหัวหน้าพรรคส้ม รวมถึง ณัฐพงษ์ หัวหน้าพรรคประชาชน ต่างแท็กทีมลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนักทุกสัปดาห์ ทำให้คะแนนของพรรคประชาชนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมมาแรง
อย่างไรก็ตาม ต่อมาพอถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คะแนนเริ่มลดลงในช่วงหลังเนื่องจากพรรคประชาชน และนายชัยรัตน์ ถูกโจมตีทางการเมืองกรณีปราศรัยหาเสียงพาดพิงระบบการเรียน-การศึกษาของโรงเรียนในจังหวัดราชบุรี รวมถึงระบบสาธารณสุขของจังหวัดโดยเฉพาะ รพ.สต. โดยมีการทำคลิปสั้นๆ การปราศรัยของนายชัยรัตน์ดังกล่าว เผยแพร่กระจายไปยังชาวจังหวัดราชบุรีอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้พรรคประชาชนและนายชัยรัตน์จะพยายามแก้เกมด้วยการเปิดคลิปปราศรัยขนาดยาวว่านายชัยรัตน์ไม่ได้มีเจตนาด้อยค่าระบบการเรียนการสอนและระบบสาธารณสุขในจังหวัดราชบุรีอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ก็ไม่ทันการณ์ ยังเป็นกระแสที่ทำให้ถูกโจมตีอยู่
ที่สำคัญ พบว่าศึกที่ผ่านมาบ้านใหญ่กำนันตุ้ย ได้แรงหนุนจาก สส.เขต ราชบุรี เกือบทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 3 สส.เขต พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดยนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา หรือเจ๊บุญยิ่ง สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ภรรยานายวิวัฒน์เท่านั้น แต่มีรายงานว่า สอง สส.เขต ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ คือ กุลวลี นพอมรบดี กับ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ที่เป็น สส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ลงมาช่วยสนับสนุนกำนันตุ้ยเต็มที่
รวมถึง นภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์จากพรรคภูมิใจไทย อดีต สว.ราชบุรี เจ้าของตลาดศรีเมือง ที่เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ของภาคกลาง ก็เข้ามาเช่นกัน เพื่อสกัดไม่ให้พรรคประชาชนแจ้งเกิดการเมืองท้องถิ่นในราชบุรี
ด้วยเหตุที่ว่า การเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าพรรคก้าวไกลแม้จะไม่ได้ สส.เขตราชบุรีสักคนเดียว แต่กลับได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาอันดับหนึ่งของจังหวัดคือสองแสนกว่าคะแนน ทำให้หลายกลุ่มการเมืองในราชบุรีเลยจับมือกันช่วยบ้านใหญ่นิติกาญจนา สู้กับพรรคประชาชน เพื่อไม่ให้พรรคส้มแจ้งเกิด-สร้างฐานการเมืองในราชบุรี เพราะหากพรรคประชาชนปักธงได้ ก็จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติตามมา ทำให้พรรคประชาชนแบกน้ำหนักสู้ไม่ไหว
ที่ก็เห็นได้จากหลังเสร็จสิ้นการนับคะแนนคืนวันที่ 1 ก.ย. ก็ได้เห็นภาพทั้ง นภินทร-กุลวลี-อัครเดช ไปปรากฏตัว ร่วมชูมือแสดงความยินดีกับกำนันตุ้ยที่บ้านพัก หลังสกัดพรรคส้มได้สำเร็จ
อีกทั้งยังมีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ก็ลงมาช่วยกำนันตุ้ยเช่นกัน เช่นข่าวว่าเป็นโต้โผใหญ่ในการล็อบบี้หลายกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในราชบุรีให้ช่วยนายวิวัฒน์ เช่น ขอให้อดีตนายก อบจ.ราชบุรีบางคนไม่ลงสมัครแข่งกับนายวิวัฒน์ โดยเป็นการเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส เพื่อซื้อใจกลุ่มบ้านใหญ่นิติกาญจนา หลังเจ๊บุญยิ่งพา 3 สส.เขตราชบุรี มาอยู่กับธรรมนัส หลังก่อนหน้านี้เคยอยู่กับกลุ่มบ้านป่าฯ ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมื่อเจอกับการตั้งรับที่จับมือกันแน่นของทุกขั้วการเมืองในราชบุรี ที่หนุนหลังกำนันตุ้ยสกัดพรรคส้มแบบนี้ เลยทำให้พรรคประชาชนพ่ายแพ้แบบไม่มีลุ้นอย่างที่เห็น ที่ย่อมส่งผลต่อขวัญกำลังใจของพรรคประชาชนที่ออกตัวไม่สวยในศึกนายก อบจ.แน่นอน
ขณะเดียวกัน น่าจับตาสำหรับศึกต่อไปของพรรคประชาชน นั่นคือ
การเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1
แทน ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลกเขต 1 สองสมัย ที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง สส.จากคดียุบพรรคก้าวไกล ที่จะเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 15 ก.ย.
ที่พรรคประชาชนส่ง ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค ลงรักษาพื้นที่ที่หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ เคยชนะมาสองสมัยติดต่อกัน สมัยเป็นอนาคตใหม่และก้าวไกล โดยเฉพาะเลือกตั้งล่าสุดปี 2566 ที่ได้มาถึงสี่หมื่นกว่าคะแนน ทิ้งห่างอันดับสองจากพลังประชารัฐสองหมื่นคะแนน ทำให้พรรคประชาชนมั่นใจมากว่าศึกนี้น่าจะชนะได้ไม่ยาก
แต่กระนั้นก็พบว่าฝ่ายคู่แข่ง พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ถูกมองว่าไม่น่ามีสิทธิ์ชนะ และอาจแพ้แบบยับเยิน เพราะเขต 1 พิษณุโลก เป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคส้มมาตลอด อีกทั้งยังมีกระแสคะแนนสงสารที่พรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค หมออ๋องโดนตัดสิทธิเลือกตั้งสิบปี ก็น่าจะทำให้พรรคประชาชนชนะได้ไม่ยาก และเพื่อไทยคงส่งไปงั้นๆ ไม่คิดจริงจัง
อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวว่า ลึกๆ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เป็นหัวหน้าทีมเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ คาดหวังชัยชนะสนามนี้พอสมควร เพราะหากเอาชนะได้ จะสร้างราคาทางการเมืองให้กับกลุ่มสมศักดิ์ ในสายตาของทักษิณอย่างมาก
จนมีข่าวว่า สมศักดิ์ซุ่มวางแผนหาเสียงไว้หลายอย่าง และเตรียมออกอาวุธในเร็วๆนี้
เพื่อหวังให้ จเด็ศ จันทรา-"บู้" เด็กในคาถา ของสมศักดิ์ พลิกล็อกเอาชนะได้ หรือหากสู้ไม่ได้ คะแนนก็แพ้ไม่ทิ้งห่างมาก
สำหรับจเด็ศพบว่า ตอนเลือกตั้งปี 2566 เคยลงสมัครเขต 3 พิษณุโลก เพื่อไทย แต่แพ้ให้กับ พงษ์มนู ทองหนัก จากรวมไทยสร้างชาติแบบหวุดหวิด แค่เจ็ดร้อยกว่าคะแนน มารอบนี้เพื่อไทยเลยโยกจากเขต 3 มาลงเขต 1 โดยหวังเล็กๆ ให้พลิกล็อกเอาชนะให้ได้
ซึ่งหากผลเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก ออกมา พรรคประชาชนชนะ ในทางการเมืองก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ถูกพูดถึงมาก เพราะถือว่ารักษาพื้นที่ไว้ได้ แต่หากพลิกล็อกแพ้ขึ้นมา รับรองได้ว่า พรรคประชาชนเสียขบวนหนักแน่!
และใกล้ถึงวันเลือกตั้ง สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นฝ่ายชนะ พรรคประชาชนจะชนะลอยลำหรือต้องสู้กับเพื่อไทยแบบหืดจับ จะมาอัปเดตกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
'เท้ง' เย้ย 'ทักษิณ' ไม่เห็นแววทุบค่าไฟเหลือ 3.70 บาท โวศึกซักฟอกมีหมัดน็อกรัฐบาล
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึง การติดตามเวทีการปราศรัยของพรรคเพื่อไทย อย่างนายทักษิณ ชินวัตร
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ