ยังต้องลุ้น ทูลเกล้าโผครม. พวกมีชนักติดหลัง ผวาหลุด

ยังต้องลุ้นต่อไป สำหรับการประกาศรายชื่อ”คณะรัฐมนตรี”รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร หรือ”ครม.อุ๊งอิ๊งค์1”

เพราะถึงตอนนี้ ผ่านมาร่วมสองสัปดาห์เศษแล้ว นับแต่หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา โหวตเห็นชอบ ให้ แพทองธาร ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ถึงตอนนี้ ผ่านมาถึงวันที่ 2 ก.ย. นายกฯแพทองธาร ก็ยังไม่สามารถเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเป็นทางการได้ ต้องรอให้มีการนำโผครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ -รอการโปรดเกล้ารายชื่อครม.-นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ และการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา

เบื้องต้น แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย”ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกฯ”ที่มีข่าวว่าจะไปเป็น”รองนายกฯควบรมว.กลาโหม”ในรัฐบาลแพทองธาร บอกว่าต้องการให้ทุกอย่างเสร็จภายใน 15 ก.ย. บวกลบ ไม่เกิน3 วัน

และมีข่าวบางกระแสอ้างว่า แพทองธาร จะนำรายชื่อครม.ขึ้นทูลเกล้าฯวันพุธที่ 4 ก.ย.นี้ เลยด้วยซ้ำ เพราะกระบวนการตรวจสอบ”คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี”ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 โดยเฉพาะ(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข่าวว่า มีการส่งรายชื่อรมต.ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประสานหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ-องค์กรอิสระ เช่น สำนักงานป.ป.ช. -องค์กรศาล ทั้งศาลยุติธรรม ศาลปกครองในการตรวจสอบไปเกือบครบหมดและมีการตอบกลับมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์การนำชื่อครม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ที่ก่อนหน้านี้ ลือกันว่าจะดำเนินการช้าสุดภายในไม่เกิน 7 ก.ย. ถึงตอนนี้ ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นไปได้หรือไม่?

หลังล่าสุด “สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา -อดีตแกนนำกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลรธน.จนสอย เศรษฐา ทวีสิน ร่วงตกจากเก้าอี้นายกฯ” โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อช่วงสายวันอาทิตย์ที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า

“ข่าวดี!ครม.อิ๊ง1 ตรวจละเอียดยิบ รมต.ต้องสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ข่าวลืออื้ออึงว่า ติดปมตั้ง11 ทั้งคดีใน ปปช อัยการ ศาล ฯลฯ จะกล้าลุยตั้งก่อน ไปตายเอาดาบหน้า? #นักการเมืองดีหายากนักหรือไง”

ก็ไม่รู้ว่า อดีตสว.สมชาย ซึ่งอยู่ในวงการสภาสูง-อดีตสนช.มาร่วม 17 ปี ติดต่อกัน และเป็นที่รู้กันว่ามีเครือข่าย-คอนเน็กชั่นหลายวงการโดยเฉพาะในหน่วยงานรัฐ-องค์กรอิสระ ไปได้ข้อมูลดังกล่าวมาจากแหล่งใด และที่บอกว่ามี 11 รายชื่อส่ออาจมีปัญหา มีชื่อใดบ้าง แต่เรื่องแบบนี้ หากอดีตสว.สมชาย ไม่มั่นใจใจข้อมูลที่ได้มาจริง ก็คงไม่กล้าให้ข้อมูลออกมาสู่สาธารณชน

ดังนั้น เป็นเรื่องน่าติดตามไม่น้อยเพราะหากเป็นไปตามนี้ อาจทำให้ ไทม์ไลน์การนำโผครม.ขึ้นทูลเกล้าฯและการตั้งรัฐบาล ล่าช้าออกไปอีกหลายวันเลยก็เป็นได้

 เว้นเสียแต่ “อุ๊งอิ๊ง-ทักษิณ”จะยอมเสี่ยง ลุยไฟ เพื่อหวังตั้งรัฐบาล-ปิดดีลเร็ว แล้วไปวัดดวงเอาภายหน้า หากมีการยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีคนไหน ก็ให้ไปแก้ปัญหา-สู้คดีกันภายหลัง

กระนั้นประเมินแล้ว “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย”คงไม่ยอมเสี่ยงรีบเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จโดยเร็วบนความเสี่ยงที่ต้องไปลุ้นในภายภาคหน้า เพราะหากพบว่า ชื่อไหนมีปัญหา หรือไม่ชัวร์จริงๆ ถ้าจำเป็นต้องรอเคลียร์ให้ชัดเจน หมดทุกข้อสงสัย จะได้ไม่เปิดช่องให้มีการร้องเอาผิดในภายหลังได้ ฝ่ายทักษิณ คงให้ เพื่อไทย รอไปก่อน ช้าไปบ้างก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไปตกม้าตายในภายหน้า เพราะหากมีอะไรพลาดขึ้นมา อุ๊งอิ๊ง อาจไม่ใช่แค่ต้องหลุดจากนายกฯ แต่อาจหลุดจากการเมืองไปอีกหลายปีหรือตลอดชีวิตก็ได้ ถ้าโดนศาลรธน.ตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งโทษฐานฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐมนตรีที่มีปัญหาจริยธรรมฯ

โดยเบื้องต้น ดักทางการเมืองไว้ว่า “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย”ก็ต้องหาหน่วยงานรัฐ มาช่วยรองรับความปลอดภัยทางการเมือง และการันตีการตรวจสอบคุณสมบัติให้รัดกุมกว่าเคสของ”เศรษฐา-พิชิต ชื่นบาน”เช่นหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการว่า รัฐบาล-สำนักเลขาธิการครม.ได้ขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นรมต.โดยละเอียดแล้ว และมีผลการตรวจสอบแจ้งกลับมาอย่างไร  ไม่ใช่แค่อิงเฉพาะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่านั้น

 เพราะเคสของ เศรษฐา ก็อ้างอิง กระบวนการตรวจสอบของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่นกัน ก็ยังไม่รอด เพราะทั้งสองหน่วยงาน ก็มี”ข้อจำกัดทางกฎหมาย”ในการตรวจสอบคุณสมบัติฯเช่นกัน

 โดยเฉพาะ”คณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่ก็เชื่อว่า แม้จะให้ความเห็นใดๆ ไปกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีความเห็นแนบท้ายว่า เป็นเพียงความเห็นของกฤษฎีกาฯที่ตอบข้อหารือ แต่สุดท้าย การพิจารณาว่า เคสไหน-กรณีใดที่ส่งมา  จะมีปัญหาเรื่องเข้าข่าย”ฝ่าฝืนจริยธรรมฯ และอาจมีปัญหาเรื่อง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”หรือไม่ กฤษฎีกา ก็อาจตอบว่า”ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย” 

เช่น เป็นไปได้ที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อาจสอบถามความเห็น-มีบันทึกข้อหารือว่า รายชื่อรัฐมนตรี ที่มีชื่ออยู่ในแฟ้มคดีของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ -สำนักงานตำรวจแห่งชาติ -อัยการ หรือศาลยุติธรรม รวมถึงองค์กรอิสระเช่น สำนักงานป.ป.ช. แต่”คดียังไม่ถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา”หรือยังไม่ถูกชี้มูลความผิดหรือมีความเห็นให้ดำเนินคดีโดยองค์กรอิสระหรือถูกสั่งฟ้องในคดีอาญา-คดีทุจริต  โดยตำรวจ-ดีเอสไอ-อัยการ หรือตกเป็นจำเลยในชั้นศาล แต่คดียังไม่จบในชั้นศาลฎีกาฯ ยังมีสถานะเป็นจำเลยอยู่ ลักษณะดังกล่าว ถือว่าอาจเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรมต.ตามรธน.มาตรา 160 (4) และ(5) หรือไม่ เป็นต้น

โดยหาก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถามความเห็นไป คาดว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ”ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม ร่วมคณะอยู่ด้วย แม้จะให้ความเห็นใดๆ ไปแต่ก็อาจทำความเห็นเป็นบันทึกไว้ตอนท้ายว่า “ความเห็นดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ผู้ชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ” เหมือนที่เคยทำแบบนี้มาแล้วกับกรณี พิชิต ชื่นบาน ที่หากเป็นแบบนี้ ก็ต้องวัดใจ “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย”แล้วว่า จะเอาอย่างไร

ทั้งนี้ ข่าวในทางลับ กระบวนการตรวจสอบของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะเริ่มจาก เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้รับแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นรมต.มายังสำนักงาน ฯ ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็จะเรียกบุคคลดังกล่าวมารับ”เอกสารแบบแสดงประวัติและแบบแสดงคุณสมบัติ เพื่อให้ไปกรอกและให้เซ็นชื่อรับรองข้อมูล จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำชื่อ-เอกสารไปตรวจสอบ

เช่นตรวจสอบการเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ โดยตรวจจากเว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา ,ข้อมูลคดีแพ่งและอาญา โดยขอความร่วมมือตรวจสอบตรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , รวมถึง สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานป.ป.ช.ว่ารายชื่อว่าที่รมต.มีเรื่องร้องเรียนที่ป.ป.ช.หรือไม่ และคดีสิ้นสุดหรือยัง ,ข้อมูลการถือหุ้น โดยประสานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ซึ่งหากชื่อบุคคลใดมีปัญหา-ข้อสงสัย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเรียกบุคคลดังกล่าว มาสอบถามเบื้องต้นก่อน พร้อมกับแจ้งให้นายกฯ-เลขาธิการนายกฯ  ทราบ และหากสำนักเลขาธิการครม.ไม่แน่ใจ ก็จะทำหนังสือขอหารือไปยัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ ต่อไป รวมถึงรอบนี้ ข่าวว่าอาจจะมีการสอบถามบางหน่วยงานเพิ่มเติมด้วย เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด -ศาลปกครอง-กรมบังคับคดี เป็นต้น

 ดังนั้น สัปดาห์นี้รอดูว่า โผครม.จะนิ่งและเคลียร์หมดทุกชื่อ จนนายกฯนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯได้หรือไม่ หรือว่าต้องขยับออกไปอีก จนทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย