“โผทหาร”ทบ.ร้อนระอุ ทิ้งไพ่ชิงขุมกำลังปฏิวัติ

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เหล่าทัพได้ส่ง “โผทหาร” ไปที่สำนักงานปลัดกกระทรวงกลาโหมเกือบครบหมดแล้ว เพราะเวลาที่บีบรัดเข้ามา จากกรอบเวลาที่ควรจะทำโผให้เสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทาง รมว.กลาโหม รักษาการ ในฐานะของประธานคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล จึงเรียกประชุมบอร์ดโยกย้ายในวัน 3 ก.ย.นี้

เหล่าทัพที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ “กองทัพบก” เพราะผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารคนใหม่ มีผลต่อทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งโครงสร้างปัจจุบันที่ผู้บัญชาการทหารบกต้องดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมด้วยแล้ว

เช่นเดียวกับ “กองทัพเรือ” ที่เข้าสู่ยุคการสะสางปัญหาที่หมักหมมมาในอดีต ชื่อ ผบ.ทร.คนใหม่จึงมีทั้งจริง และลวง เพื่อขวางเกมชิงเก้าอี้เมื่อโผถึงมือถึงรัฐบาล ทำให้ ผบ.ทร.คนปัจจุบันต้องงัดกลยุทธ์ลับ ลวง พราง เพื่อรักษาชื่อตัวจริงไว้ให้ตลอดรอดฝั่ง ท่ามกลางการทิ้งไพ่สู้ของแคนดิเดตที่ต้องสู้จนหยดสุดท้าย

“การเมือง” หาข่าวใครคือตัวจริง?

แม้ “โผทหาร” จะอยู่ไกลจากศูนย์กลางการฟอร์ม ครม. และถูกมองว่าเป็นการเลื่อน ลด ปลด ย้ายของกระทรวงกระทรวงหนึ่งเท่านั้น แต่ในยุคที่ “ทักษิณคัมแบ็ก” ขับเคลื่อนการเมืองผ่าน “อุ๊งอิ๊ง” ย่อมไม่อาจละสายตา และปล่อยให้ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหมเคาะโผร่วมกับเหล่าทัพเพียงลำพัง

ในตอนนี้จึงมีทั้ง “ทหารแก่-เก่า” รวมถึงทหารในราชการที่ต้องการได้ตำแหน่ง ต่างก็วิ่งหาช่อง หรือเสนอตัวให้ “ทักษิณ” ได้เห็นถึงข้อเสนอและความสำคัญ เพื่อหวังให้เข้าช่วยล้วงโผเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ ถึงขนาดมีการวนเวียนให้ไปดูตัวกันที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

แต่ “ทักษิณ” ก็คงต้องระวังตัว เพราะมีบทเรียนในอดีตจากทหารใกล้ชิด-ทหารแตงโม ที่ให้ “ข้อมูลที่ไม่เคลียร์” จนเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ครั้งนี้การเข้าถึงข้อมูลที่ไม่มี “เซอร์เคิล” เป็นอุปสรรค น่าจะได้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น

แต่ในภาวการณ์ที่กองทัพมีวงซ้อนกันสองวง และมีการ “กลั่นกรองอย่างเข้มข้น” ในการเลือก ผบ.คอแดง จากกลุ่มที่ต้องการคุมสภาพ “ขุมกำลังปฏิวัติ” เอาไว้ และต้องการ ผบ.ทบ.ที่คุมได้ และสั่งได้ ซึ่งมีแนวทางในการเลือกคนต่างกับ ผบ.ทบ.ในปัจจุบัน ทำให้ทักษิณคงต้องเฟ้นหาข้อมูลให้ลึกขึ้นไปอีกว่าใครคือ “ตัวจริง” และไม่เข้าไปล้วงลูกในสถานการณ์ภายในที่ยังไม่ลงตัว

หรือในตำแหน่ง “แม่ทัพภาค” ที่ยังไม่ต้องเร่งรีบส่งคนของรัฐบาลมาลงโผ ก็เชื่อได้ว่า “ตั๋ว” อาจจะไม่ผ่าน

ตามที่มีข่าวว่าเป็นตั๋วเสนาบดีที่ส่ง เพื่อนก๊วนกอล์ฟทหารม้าผู้กว้างขวางในขอนแก่น ชิงกับแม่ทัพน้อยตามโผที่ ทบ.ส่งขึ้นไป

ส่วนตั๋วในตำแหน่งอื่นๆ ที่รัฐบาลจะส่งให้กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการบังคับบัญชา ก็เชื่อว่าสามารถเติมให้ได้อย่างไม่ติดขัด

ขึงรุ่น-ยากประนีประนอม

คาดการณ์กันว่าโผของ ทบ.ที่ส่งไปที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เสนอชื่อ “ปู”-พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) เสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น ผบ.ทบ., พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร (ตท.24) ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เป็นรอง ผบ.ทบ., พล.อ.วสุ เจียมสุข (ตท.25) รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก ซึ่งเป็นลูกน้องสายตรง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ., “แม่ทัพรุ่ง” พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ (ตท.26) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผช.ผบ.ทบ.

ส่วนตำแหน่ง เสธ.ทบ. คงต้องให้คนที่คาดว่าจะเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ได้ร่วมตัดสินใจด้วย เพราะแม้จะเสนอ พล.อ.ธงชัย รอดย้อย (ตท.25) รอง เสธ.ทบ. ด้วยหลักการอาวุโสและเติบโตมาตามลำดับขั้นในสายงานยุทธการ แต่ ตท.26 ต่างก็หนุน “ปู ด้วง” พล.ท.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เจ้ากรมยุทธการทหารบก เพื่อให้ทำงานคู่กับ ผบ.ทบ.ที่เป็นรุ่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะลื่นไหลมากกว่า อีกทั้งธรรมเนียมการดันเจ้ากรมฯ ขึ้น 5 เสือ ทบ.ถูกปลดล็อกมาแล้วในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์

จากเดิมที่จะส่งชื่อกันในที่ประชุมบอร์ดเพื่อป้องกันปฏิบัติการ “เปลี่ยนโผ” แต่ปรากฏว่าสถานการณ์พลิกผัน เมื่อมีการเปิดปฏิบัติการ “เขย่าประตูบ้านและครอบครัว” ชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่จึงส่งไปในทันที

จากเดือนที่ผ่านมา ชื่อของ “ปู พนา” ตีคู่มากับ “ผช.หนุ่ย” พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ (ตท.24) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. “สายบูรพาพยัคฆ์” แต่ได้เปรียบเรื่องอาวุโส และถูกมองว่าถูกกระทำ เมื่อตอนที่ “บิ๊กแดง-บิ๊กบี้” เอา “ปู พนา” ขึ้นจากรองแม่ทัพมาเป็นแม่ทัพ แต่ฝ่ายหนุนก็ต่อรองส่งไปติดยศพลเอกในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษไว้ก่อน ปรับย้ายครั้งนี้จึงควรคืนความชอบธรรมในการขึ้นเป็น ผบ.ทบ.

แต่หากย้อนกลับไป “ผช.หนุ่ย” ก็นับเป็นทหารก๊วนๆ เดียวกับ พล.อ.เจริญชัย เมื่อตอนที่ พล.อ.วลิต โรจนภักดี เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. และ พล.อ.เทพพงษ์ ทิพยจันทร์ ทหารเสือราชินี เป็นรอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน

แต่เมื่อศูนย์กลางอำนาจเปลี่ยน “บิ๊กแดง” ต้องถูกโลว์โปรไฟล์ ขุมอำนาจคู่ขนานกำลังกู้สถานการณ์คืน “ผช.หนุ่ย” จึงเป็นตัวเลือก เพราะสั่งได้ง่ายกว่า เคลียร์ทางก่อนเข้าสู่ยุคของ ตท.28 ในปี 2569-2571 ที่จะขึ้นมาสู่เก้าอี้ ทบ.1 ต่อไป

ส่วน ปู พนา ก็มีโชคชะตาไม่ต่างจาก “ผช.หนุ่ย” เท่าไหร่นัก ย้อนกลับไปช่วงเป็นผู้พันอาร์ดีเอฟ ถูกบล็อกไม่ได้ขึ้นผู้การกรมฯ ถูกเตะไปเป็น เสธ.พล.1 รอ. แต่ก็ไม่ได้ขยับขึ้นตำแหน่งสูงขึ้นไป ถูกส่งออกไปเป็น เสธ.มทบ.11 ยุคที่ ตท.27 กำลังเป็นดาวจรัสแสง แต่กลับมาได้ดีในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่ขอให้ พล.อ.ณรงค์ชัย จิตต์แก้วแท้ ไปหามือดีในการเข้ามาช่วยดูการจัดหน่วยเพื่อรับรถเกราะ stryker จากสหรัฐ ซึ่ง พล.อ.ณรงค์ชัยก็ได้ไปดึง “ปู พนา” จากรอง ผบ.มทบ.11 มาเป็นรอง ผบ.พล.ร.11 และฟาสต์แทร็กขึ้นมาบางช่วง เพราะเสียจังหวะก้าวในตอนต้นๆ

อ่านเกมต่างทฤษฎีป้องสถาบัน

แม้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การรัฐประหารจะถูกประเมินค่าติดลบ โอกาสที่จะเกิดขึ้นแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่ามันจะ “สูญพันธุ์” ไปแล้ว เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังมีปัญหาสลับซับซ้อน อาจมีการกลับมาใช้สถาบันหลักเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง ส่อเค้าความขัดแย้งเผชิญหน้าได้ทุกเมื่อ หากมีการสร้างสภาวะแวดล้อมให้การเมืองไปสู่ทางตันก็ใช่ว่าการปฏิวัติรัฐประหารจะไม่เกิด

แม้ “สุทิน” จะเดินเครื่องร่างกฎหมายสกัดปฏิวัติให้อำนาจ ครม.ปลด ผบ.หน่วยที่จะกระทำการได้ แต่ในที่สุดก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ และเจตนารมณ์ทางการเมืองเท่านั้น เพราะการป้องกันการปฏิวัติได้ดีที่สุดคือ การไม่ทำให้เกิดเงื่อนไข และปัจจัยที่จะไปสู่ตรงนั้น

แต่เมื่อมาวิเคราะห์ขุมอำนาจที่ซ้อนทับในกองทัพบกที่ค้ำอยู่เหนือ ผบ.ทบ. ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการปฏิวัติจะเป็นศูนย์...

ในฐานะของ ผบ.ทบ. คงแค่อยากดำรงกองทัพไว้เพื่อตอบโจทย์การบริหารราชการในยามปกติ เรื่องการเมืองปล่อยให้เป็นเรื่องการต่อรองและดีลของคนอื่น ขณะที่ขุมอำนาจทับซ้อนซึ่งเชื่อว่าเมื่ออำนาจการเมืองเบ็ดเสร็จเกินไป ส่อเค้าที่จะเกิดอันตราย การจัดระเบียบบ้านเมืองต้องใช้ทหาร จึงต้องจัดวางคนเป็นมือเป็นไม้ให้กับฝ่ายตัวเอง   

ภาพสะท้อนของสองวงอำนาจที่มีแนวคิดสวนทางกัน สะท้อนผ่านการจัดโผในระดับกองทัพภาคที่ 1 ซึ่ง ผบ.ทบ.คนปัจจุบันเสนอชื่อของ “ใหญ่” พล.ท.อมฤต บุญสุยา (ตท.27) แม่ทัพน้อยที่ 1 ก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพราะน่าจะปลอดภัยที่สุด

ทำให้ขุมอำนาจวงที่สองจึงต้องเดินเกมแรง เพื่อดัน “ไก่” พล.ต.วรยศ เหลืองสุวรรณ (ตท.28) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุม สั่งการได้

แต่อย่าลืมว่าในแผง ตท.28 ก็เติบโตขึ้นมาแทบจะหายใจรดต้นคอกัน คงไม่มีใครยอมเสียโอกาสในการขึ้นสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ.ในอนาคตข้างหน้า เพราะในตำแหน่งรองแม่ทัพก็ยังมี ตท.28 อีก 2 คน คือ “รองกอล์ฟ” พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ และ “รองมด” พล.ต.อาจิณ ปัทมจิตร รวมไปถึง “ผบ.คิ้ว” พล.ต.ชาคริต อุจะรัตน์ ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ด้วย จึงต้องแข่งกันเองเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งในอีก 2-3 ปีนี้

สถานการณ์ในขณะนี้จึงอึมครึมจากแรงปะทะของสองแนวคิดในการจัดวางคนภายใน ทบ. ทำให้เห็นเมฆหมอกฟ้าฝนตั้งเค้าถล่มได้ทุกวัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดป่าฯ-สลาย“ปชป.” กฐินร้อนจ่อสอย“อิ๊งค์”

เป็นไปตามคาด เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า สส.ไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพฤติกรรมแทงข้างหลังและไม่ยอมรับนายกฯ คนที่ 31 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

ทักษิณ-พท.ตั้งการ์ดรับมือ ร้องยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้ง พลิกแฟ้มคดี ถูกร้องอื้อแต่เงียบ

ทักษิณ ชินวัตร เดินจังหวะการเมืองรัดกุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. ทั้งก่อนและหลังเดินขึ้นตึกชินวัตร 3 ที่ปัจจุบันคือ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราว และยังเป็นสถานที่วางแผนจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์ม ครม. รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

‘พปชร.’งัดกม.กระตุก‘อุ๊งอิ๊ง’ หัก‘วงษ์สุวรรณ’ระวัง‘ฝังใจเจ็บ’

แถลงการณ์ของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฉบับล่าสุด ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ปฏิบัติหน้าที่แทน ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค ส่งถึง ‘อุ๊งอิ๊ง’-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

'พรรคประชาชน' พึ่งกระแสยุบพรรค หวังเจาะ อบจ.เมืองโอ่งมังกร

สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ราชบุรี ใกล้เปิดฉากขึ้นแล้วในวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายนนี้ โดยถือว่าเป็นเวทีแรก ซึ่งพรรค 'ประชาชน' อดีต 'ก้าวไกล' เปิดหน้าส่งผู้สมัครในนามพรรค ท้าชนกับ 'บ้านใหญ่'

'ทักษิณ' แถลงนโยบายรัฐบาล การเมือง-ทุนปึ้ก-ประชาชนอยู่ไหน?

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เสมือนเป็นภาพชัยชนะของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ นับตั้งแต่บินกลับมารับโทษในไทยเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 22 ส.ค. 2566

ชัยชนะยกแรก“ทักษิณ” บ้านป่าฯแตก-ผู้เฒ่ากระอัก

พลิกสถานการณ์กลับมาชนะสำหรับ “นายใหญ่เพื่อไทย”-ทักษิณ ชินวัตร หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ ถูกสอยปมตกเก้าอี้ จากการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ในเรื่องความซื่อสัตย์และจริยธรรม