ทักษิณ-พท.ตั้งการ์ดรับมือ ร้องยุบพรรค-ตัดสิทธิเลือกตั้ง พลิกแฟ้มคดี ถูกร้องอื้อแต่เงียบ

ทักษิณ ชินวัตร เดินจังหวะการเมืองรัดกุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. ทั้งก่อนและหลังเดินขึ้นตึกชินวัตร 3 ที่ปัจจุบันคือ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราว และยังเป็นสถานที่วางแผนจัดตั้งรัฐบาล-ฟอร์ม ครม. รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

กระนั้นพิจารณาจากดีเอ็นเอของทักษิณ คาดว่าอีกสักพักคงกลับมาเล่นบทบาทผู้กำกับนายกฯ-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง เพราะของมันคุ้นเคย

เพียงแต่นับจากนี้ ทักษิณต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น หลังมีคนไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอาผิด ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย ด้วยการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ยุบพรรคเพื่อไทย

ในความผิดกรณีปล่อยให้ทักษิณที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องมี คุณลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่โยงไปถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ที่บัญญัติว่า สมาชิกพรรคการเมือง ต้องไม่เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุกเพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

เพราะทักษิณเคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท อีกทั้งเคยถูกศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน ป.ป.ช. ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 100 และ 112

ชนักติดหลังดังกล่าว คือเงื่อนไขข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จึงทำให้แม้ปัจจุบัน ปัญหาคดีความของทักษิณจะหมดแล้ว เหลือแค่คดี 112 ที่ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญาฯ แต่ทักษิณก็ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้

สถานการณ์เฉพาะหน้าเวลานี้ ทักษิณ-เพื่อไทย ต้องรอลุ้นว่า กกต.จะดำเนินการกับคำร้องดังกล่าวอย่างไร จะมีการเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ กกต.เพื่อให้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณา และจะมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาหรือไม่ หรือจะใช้มติของ กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาล รธน.วินิจฉัยเลย

เส้นทางของเรื่องนี้น่าติดตามสำหรับอนาคตของพรรคเพื่อไทย ที่มี อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ควบหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งว่าที่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลแพทองธาร ก็เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในช่วงเกิดเหตุตามคำร้อง ไม่ว่าจะเป็น สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค, ชูศักดิ์ ศิรินิล, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, จิราพร สินธุไพร, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ เป็นต้น

โดยทั้งหมดต้องลุ้นไม่ให้ศาล รธน.สั่งยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นต้องหายไปจากการเมืองร่วม 10 ปี โดยเฉพาะ "อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร" ที่ถูกมองว่าเป็น ไพ่ใบสุดท้าย ของทักษิณและครอบครัวชินวัตร ที่หากหมดจากอุ๊งอิ๊งแล้ว ตระกูลชินวัตรคงสะดุดพอสมควรในการหาคนมารับไม้ต่อ

สำหรับคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยดังกล่าว พบว่ามีการใช้ คำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาล รธน.ให้พ้นจากการเป็นนายกฯ เมื่อ 14 ส.ค. เป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่องเขียนคำร้อง จากนั้น ก็มีการใส่เหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาประกอบ เพื่อร้อยเรียงเรื่องราว-เหตุการณ์ ให้ กกต.เห็นว่าเพื่อไทยและทักษิณกระทำผิดตามมาตรา 28 และ 29 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ กรณีไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่มีพฤติการณ์เข้าครอบงำ ชี้นำ พรรคเพื่อไทย จึงยื่นคำร้องให้ กกต.เอาผิดทักษิณและเพื่อไทย ว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2 มาตราสำคัญ

คือ มาตรา 28 ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ผู้ร้องจึงขอให้ กกต.ใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ยื่นศาล รธน.เพื่อยุบพรรคเพื่อไทย ตลอดจนขอให้ กกต.ดำเนินคดีกับ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่สมาชิก แต่มีพฤติการณ์ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

ท่าทีการเมืองของ ทักษิณ-เพื่อไทย ที่สื่อสารออกมาหลังมีข่าวดังกล่าว พยายามจะบอกว่า ไม่ให้ราคา-ไม่ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าลึกๆ ต้องมีบ้างที่อาจเสียวสันหลัง เพราะขนาดคดีเศรษฐา ที่ฝ่ายเพื่อไทยเชื่อมาตลอดว่า เศรษฐารอดแน่ แต่สุดท้ายก็ตกม้าตาย ดังนั้นหาก กกต.รับคำร้องไว้พิจารณา โดยเฉพาะหากสุดท้ายมีการส่งเรื่องไปให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคเพื่อไทย

รับรองได้ว่า ทักษิณ-เพื่อไทย ต้องมีอาการใจสั่นพอสมควร 

เพราะแม้ก่อนหน้านี้จะมีคนไปยื่นเอาผิดทักษิณกับเพื่อไทย ในประเด็นลักษณะเดียวกันคือ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่มีพฤติการณ์ครอบงำ ชี้นำพรรคหลายครั้ง

 เช่น การร้อง กกต.ว่า ทักษิณที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่กลับออกจดหมายลงชื่อทักษิณ ขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่และเชียงราย เลือกผู้สมัครนายกฯ อบจ.เชียงราย-เชียงใหม่ ที่ลงในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2563 หรือกรณีการร้องกรณีมีคลิปทักษิณวิดีโอลิงค์เข้าไปในงานเลี้ยงพรรคเพื่อไทย ที่มีแกนนำพรรค เช่น เกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทยเวลานี้ คอยเป็นผู้ชวนคุยกับทักษิณ ประเด็นการเมืองต่างๆ เช่น ขอให้คุณหญิงพจมานเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทย, การร้อง กกต. กรณี วิฑูรย์ นามบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2564 ว่า ได้คุยกับทักษิณในการย้ายเข้าพรรคเพื่อไทย โดยทักษิณรับปากว่า หากนายวิฑูรย์ย้ายมาเพื่อไทย จะให้เป็นผู้สมัคร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ในลำดับที่การันตีว่าได้เป็น สส.แน่นอน, การร้องกรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2565 ว่า ถูกทักษิณ ชินวัตร สั่งปลดออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นต้น

ที่จะพบว่า คำร้องที่ยื่นไป กกต.ข้างต้นดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเงียบหายไป ไม่มีอะไรคืบหน้า โดยมีข่าวว่าบางเรื่อง กกต.ก็ยกคำร้องไม่รับพิจารณา

อย่างไรก็ตาม คำร้องข้างต้น เกิดขึ้นช่วงทักษิณหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฉบับคนแดนไกล แต่คำร้องยุบพรรคเพื่อไทยล่าสุดเกิดขึ้นช่วงทักษิณกลับไทยและออกจาก รพ.ตำรวจ จนเข้าไปที่พรรคเพื่อไทยหลายต่อหลายครั้ง มีการเปิดคลิปทักษิณกลางที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยเมื่อเมษายนที่ผ่านมา ที่สั่ง สส.เพื่อไทยให้อยู่กับประชาชน และออกตัวว่าเพื่อไทยไม่ใช่พรรคอนุรักษนิยมใหม่ เป็นต้น รวมถึงปรากฏข่าวว่ามีส่วนสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลแพทองธาร และการปรับ ครม.โควตาพรรคเพื่อไทย ยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 

ดังนั้น บริบท รูปคดี ล่าสุดกับก่อนหน้านี้ที่ร้องกันไปหลายเรื่องแต่เงียบ จึงแตกต่างกันสิ้นเชิง

รอบนี้ ทักษิณ-เพื่อไทย ถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยง หาก กกต.รับเรื่องไว้พิจารณา!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม

"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ