คำถามถึง“ทอ.”ทำไมต้องซื้อF35

 “เซอร์ไพร์ส” ไม่น้อยหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการกรอบวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการจัดหา เครื่องบินขับไล่โจมตี F35 ของกองทัพอากาศ ตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติเตรียมเข้าสู่ ครม.ก่อนเสนอไปยังรัฐสภาพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ตามลำดับ

ตามข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นการจัดหาเครื่องบินขับไล่ระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง วงเงิน 13,800 ล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-5 ที่กำลังจะปลดประจำการ ประกอบกับการเปิดเผยของ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก่อนหน้านี้ประมาณการได้ว่ากรอบงบประมาณดังกล่าวจะประกอบด้วย ตัวเครื่องบิน อุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น การฝึกนักบินและช่าง ผูกพันงบประมาณรวม 4 ปี

นับเป็นการเดินหน้าโครงการเครื่องบินรบที่รุกเร็วและแรง สวนทางกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ของกองทัพเรือที่แผ่วต้องถอยไปตั้งหลักใหม่ หลังถูกเฉือนงบไปช่วยในสถานการณ์โควิดร่วม 8,000 ล้านบาท ในช่วงการพิจารณาของสภาฯ 2 ปีที่ผ่านมา

อาจเป็นเพราะ “ความมั่นใจ” ของ พล.อ.อ.นภาเดช ที่มองว่าไม่มีห้วงเวลาใดที่จ่ายเงินไปแล้วจะคุ้มค่าไปมากกว่านี้ เมื่อแลกกับดีลราคาที่ลดต่ำลง ความทันสมัย เทคโนโลยี ของเครื่องบินในเจนเนอเรชั่นที่ 5 สามารถใช้งานได้ในระยะยาวไปได้อีก 30 ปี เหมือน F16 เป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ 

นอกจากเหตุผลเรื่องผู้ผลิตต้องการขายของแล้ว ปัจจัยที่สำคัญคือนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐเองที่ต้องการปักหมุด ดึงพันธมิตรเก่าในแผนที่โลกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน จึงคาดการณ์ว่าเมื่อไทยยังอยู่ในบัญชี FMS สหรัฐ และเป็นพันธมิตรนอกนาโต น่าจะมี “ออปชั่น” ที่มากกว่านั้น รวมไปถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพิ่มเติมที่นอกจากเรื่องทางการทหารด้วย

แน่นอนว่า ในช่วงนี้โลกประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลายอย่างที่ซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยก็มีสภาพไม่ต่างกัน การซื้ออาวุธและเครื่องบินจึงไม่สามารถตอบได้แค่ปัญหาเชิงเทคนิค ยุทธการ และดุลอำนาจของโลก ที่เป็นเรื่องเฉพาะทางในแวดวงอาวุธ หรือคนที่สนใจเรื่องเครื่องบินเท่านั้น

 “คำถาม” ที่ดูเหมือนเป็นคนไร้เหตุผล แต่สามารถจุดกระแสเรียกร้อง-ต่อต้านได้ง่าย เช่น

จะซื้อเครื่องบินไปรบกับใคร? เอาเงินหมื่นล้านไปช่วยเหลือคนไม่มีกินไม่ดีกว่าหรือ? ไม่ควรใช้ภาษีสิ้นเปลืองไปในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด?

แต่เป็นโจทย์ของ ทอ.ที่ต้องตอบ  แม้ไม่ได้ง่ายในการอธิบาย เหมือนตอนช่วงที่จัดหาเครื่องบิน Gripen ที่เริ่มโครงการในช่วงของการรัฐประหาร ปี 2549 ที่ทหารคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ

เริ่มตั้งแต่เรื่องปัญหางบประมาณที่ไม่เอื้อให้ซื้ออาวุธในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีปัญหาในแต่ละปีอยู่แล้ว ทำให้กองทัพไม่ได้งบประมาณเพิ่มตามที่ตั้งเป้าไว้ และยังต้องวางแผนบริหารจัดการงบประมาณที่ต้องแบกรับงบประจำจำนวนมาก แม้จะเดินหน้าปฏิรูปงานด้านงบ กำลังพล การควบรวมหน่วย แต่ก็ยังไม่ช่วยอะไรได้มาก 

ที่คนภายนอกรู้แค่ว่า ภาษีที่จ่ายไปต้องไปใช้ในเรื่องที่สำคัญกว่านี้ หรือควรจะโยกงบไปแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศที่เกิดขึ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น

ขณะที่ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานที่ปรึกษานายกฯ ด้านความมั่นคง ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ ทอ.ต้องอธิบายเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณว่าได้ปรับแผนของตนเองอย่างไรถ้าจะซื้อ F35 และได้จัดทำแผนในการลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นตรงไหนได้บ้าง เช่น งบกำลังพล การลดชนิดของเครื่องบิน ซึ่งต้องยอมรับว่าในส่วนของ ทอ.ขยับยาก เพราะกำลังพลน้อยอยู่แล้ว ใช้เทคโนโลยีสูง 

นอกจากนั้น ทอ.ต้องจัดลำดับความสำคัญให้เห็นความชัดเจนในความต้องการ เครื่องบินรบ เครื่องบินลำเลียง เช่น C130 แจกแจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นระบบ 

"น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของ ทอ.ในการทำแผนบริหารจัดการงบอย่างเป็นระบบ ว่าจะลดค่าใช้จ่ายตรงไหนได้บ้าง ถ้าทำได้ดีจริงๆ ก็จะเป็นมาตรฐาน ไม่เกิดปัญหาเหมือนอดีตเช่นที่กองทัพเรือคิดไปไกล ในการซื้อเรือจักรีนฤเบศร์ ได้เครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแฮริเออร์ แต่ในที่สุดก็เกิดปัญหางบประมาณหลายปีที่ต้องแบกรับ ปัจจุบันในของ ทอ.กำลังเข้าสู่บริบทใหม่และเคยล้มเหลวจาก F18 มาแล้ว ถ้าเขาจัดการได้ดีไม่ซ้ำรอย F18 หรือ ซ้ำรอยโครงการเรือจักรีนฤเบศร์ของ ทร.ก็ไปได้ แต่ผมมองว่าคุณนภาเดชเตรียมตัวมาดี แต่ไม่รู้จะเจอคลื่นใต้น้ำ หรือฝ่าด่านต่างๆ ไปได้หรือไม่" ดร.ปณิธานกล่าว

ที่ปรึกษานายกฯ ผู้นี้ระบุว่า เมื่อหันไปมองสถานการณ์ในภูมิภาค ปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐในทะเลจีนใต้ยังตึงเครียด ลำดับความสำคัญยังอยู่ที่ ทร.ในเรื่องกำลังทางทะเล รองลงมาคือ ทบ. เพราะจีนมีชายแดนติดลาวและคุนหมิง ในอนาคตอาจต้องมียานรบที่ทันสมัยและใหญ่ขึ้น ส่วน ทอ.เป็นอันดับ 3 แต่ก็ใช่ว่า ทอ.จะอยู่ห่างไกลจากการสร้างศักยภาพใหม่ เพราะช่วง 20-30 ปี เราต้องเข้าสู่จุดที่ตัดสินใจเลือก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออยู่กับฝ่ายใดเราต้องรบแล้วชนะ ศักยภาพด้านการรบจึงไม่ใช่แค่มีแล้วไว้แค่ข่มขวัญ แต่เมื่อต้องมีการเข้าร่วมกับใครแล้วเขาได้เปรียบ

 “ทอ.ต้องอธิบายฉากทัศน์ให้เห็นว่า จะป้องกันประเทศอย่างไร ในรูปแบบไหน ถ้าเป็นเครื่องมือในการป้องปราม ก็เป็นเรื่องค้างคาใจว่า กองทัพสมัยใหม่มีขนาดเล็กลงและมีศักยภาพมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีอย่างไร และจะบริหารจัดการงบ ตัดค่าใช้จ่ายตรงไหน เพื่อมาพัฒนาส่วนนี้เพื่อรับมือมหาสงครามที่อาจเกิดขึ้นใน 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อต้องรบก็ต้องเตรียมตัว แต่จะอธิบายทางเทคนิค หรือทางทหารไม่พอ เพราะพวกนี้เป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่ๆ จ่ายภาษีต้องการรู้ เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบที่กองทัพต้องอธิบายกับภาคประชาสังคมด้วย”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่