14 ส.ค. ชี้ชะตาเก้าอี้นายกฯ เศรษฐามั่นใจอยู่ต่อมีตุนแล้ว3!

หลังจากวันที่ 23 พ.ค.2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้องคดีที่กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฯ แต่ก็มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้เศรษฐาหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่ารอดแบบฉิวเฉียด

ในที่สุดก็มาถึงวันชี้ชะตา เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ที่จะได้รู้กันว่า เศรษฐายังได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ต่อไป หรือประเทศไทยจะต้องมีการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อไปเป็นนายกฯ คนที่ 31 ที่จะรู้ผลกันวันพุธนี้ 14 ส.ค. หลังศาล รธน.ใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องคดีนี้ 84 วัน นับแต่วันรับคำร้องจนถึงวันตัดสิน

ผลการวินิจฉัยของ 9 ตุลาการศาล รธน.จะออกมาได้สองทางเท่านั้น คือ ศาล รธน.ยกคำร้อง ที่หมายถึงเศรษฐารอด ไม่หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ที่จะทำให้เศรษฐาเดินหน้าทำงานต่อไป จากนั้นคาดว่าอีกไม่นานอาจจะมีการปรับ ครม.แบบเล็กๆ เกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีเก้าอี้ รมต.ว่างอยู่ 2 ตำแหน่ง

คือโควตาเพื่อไทย หลังพิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่ง รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กับโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออกจาก รมช.คลัง

ที่ล่าสุด รวมไทยสร้างชาติเคาะแล้วให้ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคฯ เป็นรัฐมนตรีในโควตาพรรค แต่จะใช่ รมช.คลังในตำแหน่งเดิมของกฤษฎาหรือไม่ต้องรอผลการเจรจาความทางการเมืองต่อไป

โดยหากจับกระแสการเมือง ช่วงหลังจะพบว่ามีการมองกันว่า เศรษฐาน่าจะรอด หลังเห็นสัญญาณการเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะ ภาพที่เศรษฐาได้พบเจอผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน ผนวกกับมีการออกโปรแกรมเดินสายต่างจังหวัดของเศรษฐาตั้งแต่ 15-31 ส.ค. ไล่ตั้งแต่ 15-16 ส.ค. ไปประชุมแม่โขง-ล้านช้างที่เชียงใหม่, 17-20 ส.ค. วางคิวไปจังหวัดนครนายก-สระบุรี-ชัยนาท-สิงห์บุรี และประชุม ครม.สัญจรที่อยุธยา และ 21-23 ส.ค. ไปตาก-เชียงใหม่-เชียงราย ตบท้ายวันที่ 31 ส.ค. ไปนครพนม-บึงกาฬ

ซึ่งวันที่ 15 ส.ค.ก็คือวันรุ่งขึ้นหลังศาล รธน.นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีของตนเอง

จนลือกันในแวดวงการเมืองว่า หรือไม่แน่ เศรษฐาและแกนนำเพื่อไทยจะรู้ข่าวอินไซด์บางอย่าง จนมั่นใจว่ารอดแน่ ถึงได้วางโปรแกรมเดินสายออกต่างจังหวัดวันรุ่งขึ้นหลังศาล รธน.ตัดสินคดีทันที

ส่วนคำตัดสินอีกทางของศาล รธน.ก็คือ เศรษฐาไม่รอด-ต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) เพราะศาล รธน.เห็นว่า การที่เศรษฐานำชื่อ พิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ตั้งเป็นรัฐมนตรี โดยที่ตัว พิชิตเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาฯ คุมขังเป็นเวลาหกเดือน ในคดีถุงขนมสองล้านบาท ตัวพิชิตจึงยังมีปัญหาคลุมเครือเรื่องขาดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบฯ นายกฯ ต้องรับผิดชอบ จึงวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งหาก ศาล รธน.มีมติเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนเดียว แต่ คณะรัฐมนตรี ต้องสิ้นสภาพพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับเศรษฐาด้วยเช่นกัน และทำให้พรรคร่วมรัฐบาล โดยการนำของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ต้องตัดสินใจเรื่องการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป

กระนั้นพบว่า กระแสการเมืองเรื่อง เปลี่ยนตัวนายกฯ ที่เคยแรงก่อนหน้านี้ พอถึงช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันที่ 14 ส.ค. กลับค่อยๆ เบาลงจนแทบไม่มีข่าว การเตรียมตั้งรับการเมืองใดๆ ของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ หากเศรษฐาไม่รอด ปรากฏให้เห็นท่ามกลางกระแสข่าว เศรษฐายังได้เป็นนายกฯ ยังแรงอยู่

เช่นช่วงต้นสัปดาห์กระแสข่าวมติ 7 ต่อ 2 เศรษฐายังได้ไปต่อ ไม่ต้องเก็บของออกจากตึกไทยคู่ฟ้าฯ เริ่มลือกันมากขึ้น อย่าง ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์-นักวิชาการหัวแถวของฝั่งอนุรักษนิยม ที่เคยออกมาพูดเรื่องดีลฮ่องกง-ถุงขนมภาคสอง ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 12 ส.ค. ว่า 4 ต่อ 5 ต่อมา 5 ต่อ 4 ต่อมา 6 ต่อ 3 ต่อมา 7 ต่อ 2 ถุงขนมฮ่องกงคงชนะอีกแล้ว ได้ยินมาเช่นนี้ รอฟังครับ

ที่ก็ดูจะสอดรับกับการวิเคราะห์ของคนในฝั่งเพื่อไทยว่า คดีนี้เศรษฐาน่าจะรอด โดยอิงหลักวิเคราะห์ที่ว่า หากดูจากมติของ 9 ตุลาการศาล รธน. เมื่อ 23 พ.ค.2567 ที่ลงมติรับคำร้องคดีเศรษฐาไว้วินิจฉัย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองมติ

มติแรก ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัยคือ 6 ต่อ 3 โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าไม่ควรรับ ประกอบด้วย นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาล รธน., อุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่าง รธน.ปี 2560 และสุเมธ รอยกุลเจริญ

จากนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งนายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย เห็นว่านายกฯ ควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ปัญญา อุดชาชน, อุดม สิทธิวิรัชธรรม, วิรุฬห์ แสงเทียน และจิรนิติ หะวานนท์

ซึ่งในสองมติดังกล่าวจะพบว่า นครินทร์ ประธานศาล รธน.-อุดม อดีต กรธ.ปี 2560-สุเมธ รอยกุลเจริญ ลงมติไปในทางที่ เป็นคุณ กับเศรษฐา คือลงมติไม่รับคำร้อง-ไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

คนในเพื่อไทยจึงวิเคราะห์กันไปว่า เศรษฐามีตุนแล้ว 3 เสียง ดังนั้นขอเพียงแค่หากตุลาการศาล รธน.อีก 2 เสียงมาลงมติในฝั่งที่เป็นคุณกับเศรษฐา ตัวนายกฯ ก็รอดแล้ว ได้เป็นนายกฯ ต่อไปที่คนเพื่อไทยเชื่อว่ามีโอกาสสูง เพราะประเด็นข้อต่อสู้ของเศรษฐาที่ปรากฏใน

คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา-คำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษร

ที่เศรษฐายื่นให้ศาล รธน.โดยได้ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายมหาชนชั้นอ๋อง-ที่ปรึกษาของนายกฯ ด้านกฎหมาย มาช่วยกำหนดประเด็น-ตรวจทานให้ทุกบรรทัดก่อนส่งศาล รธน. น่าจะหักล้างข้อกล่าวหาของกลุ่ม 40 อดีต สว.ได้ แม้อาจไม่ทุกประเด็น แต่ก็น่าจะโน้มน้าวให้ตุลาการศาล รธน.ตัดสินคดีมาในทางที่เป็นคุณกับเศรษฐาจนรอดได้

กระนั้น สุดท้ายความเชื่อมั่นของฝั่งเพื่อไทยและคนในตึกไทยคู่ฟ้าที่เชื่อว่าเศรษฐารอด ได้เป็นนายกฯ ต่อไป จะจริงหรือไม่ รอฟังกันพุธนี้ 14 ส.ค. บ่ายสามโมง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ปมกล่าวหา 'กกต.' ชงยุบก้าวไกล

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องกรณีที่ กรณี นายธรณิศ มั่นศรี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2

'ทนายเชาว์' ชำแหละ 7.7 พันล้าน ไม่ใช่ 'ค่าโง่' แต่เป็น 'คนโง่' หากกรมที่ดินเอาภาษีประชาชนไปจ่าย

นายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ใครโกงที่วัด คนนั้นจ่ายค่าชดเชยคดีอัลไพน์ มีเนื้อหาระบุว่า  เป็นตลกร้ายที่กรมที่ดินแสดงความพร้อมสุดฤทธิ์ในการ จ่ายชดเชย ปม สนามกอล์ฟอัลไพน์หลังมีการยกเลิกคำสั่ง

ยกคำร้อง ปมร้องปธ.สภาฯ กราบบังคมทูลแต่งตั้งนายกฯ ไม่ตรวจคุณสมบัติ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ สั่งไม่รับคำร้อง กรณีที่นายกิตติ แสงประดิษฐ์ (ผู้ร้อง)​ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่าการที่ประ

'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงโค้งสุดท้าย จ่อลุยศรีสะเกษ ก่อนปิดท้ายเชียงราย-เชียงใหม่

นายทักษิณ ชินวัตร ช่วยหาเสียงต่อภาคอีสาน วันที่ 24 -25 ม.ค.นายทักษิณ ลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ช่วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้สมัครนายก อบจ.ศรีสะเกษ พรรคพท.ขึ้นทั้งหมด 4 เวที